'โฆษกกมธ.' ชี้ระบบประกันรายได้ผู้สูงอายุ ถูกเขียนชัดในร่างรธน.
โฆษกกมธ.ยกร่างรธน. บอกข่าวดี ระบบหลักประกันรายได้ - สวัสดิการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ถูกเขียนไว้ชัดในร่างรธน.ใหม่ร่างแรก ยันต้องการเปลี่ยนแนวคิดสงเคราะห์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ป้องกันนักการเมืองเอาไปใช้เป็นนโยบายประชานิยม
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันมีข่าวดีว่า ในร่างรัฐธรรมนูญได้เขียนถึงการต้องมีการพัฒนาระบบหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ และสวัสดิการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ ไว้ในหมวด “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” ซึ่งเขียนไว้ในร่างแรก ส่วนที่เป็นการปฏิรูป เศรษฐกิจ สังคม ก็มีการเขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องมีการพัฒนา “ระบบบำนาญแห่งชาติ” รวมถึงระบบการเงินการคลังของประเทศ ได้มีการเขียนให้มี “การเงินการคลังเพื่อสังคม”
“เรื่องนี้เป็นการต่อสู้ทางความคิดว่า เราต้องเปลี่ยนวิธีมองการให้คุณค่า เรากำลังเปลี่ยนแนวคิดจากการสงเคราะห์ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน”
หากย้อนกลับไปช่วงการขับเคลื่อนให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โฆษกกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า ก็เป็นหลักคิดเรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุม สปช.ได้พิจารณารายงานการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทย เรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส พิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุม สปช. ได้ลงมติเห็นชอบกับรายงานของ กมธ.ฯ เรื่องการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ด้วยมติเห็นชอบ 208 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง จากนั้น สปช. จะนำรายงานดังกล่าวเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีต่อไป
“เราต้องการจะบอกว่า เราไม่อยากให้นักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติเอาเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายประชานิยม ไม่อยากให้ใครนำไปหาเสียง และไม่อยากให้เห็นคนแก่ที่ไม่มีใครดูแล อยู่อย่างอยากลำบากมาออกรายการโทรทัศน์ แล้วนายกฯ อบจ. อบต. หน่วยงานราชการมาดูแล ต่อไปนี้ไม่ควรมีภาพผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างยากลำบาก รวมถึงเรากำลังแปรเปลี่ยนแนวคิดการสงเคราะห์คนยากไร้ ให้เบี้ยยังชีพ ซึ่งไม่พอยังชีพ จึงต้องช่วยกันส่งเสียง สร้างค่านิยม และใหม่ในสังคมว่า เราต้องให้ค่ากับการลงทุนเรื่องนี้ด้วยภาษีของรัฐ ส่วนการจะเก็บภาษีจากไหนเป็นอีกประเด็นหนึ่ง วันนี้เรากำลังแปรเปลี่ยน นโยบายประชานิยม มาเป็น รัฐสวัสดิการ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”
นางสาวสุภัทรา ยังกล่าวถึงความก้าวหน้าอีกขั้นด้านสุขภาพ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยว่าจากรัฐธรรมนูญแต่เดิมพูดถึงการได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเสมอหน้ากัน เท่าเทียม มีคุณภาพ มาตรฐาน ก็มีการเพิ่มไปอีกประโยค คือ สิทธิประโยชน์พื้นฐานจำเป็นต้องเท่าเทียมกันทุกระบบ และยังมีวรรคท้ายเติมเข้าไปอีกว่า พลเมืองที่ได้รับความเสียหายจากบริการด้านสาธารณสุขและผู้ให้บริการที่ให้บริการสาธารณสุขและได้รับความเสียหายจะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ
“พูดง่าย พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่ผลักดันกันมานาน ตอนนี้เข้าไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิเสรีภาพ แล้ว”