วิษณุ เครืองาม:สังคมไทยวิจิกิจฉามากเกินไป โอกาสหันเหไปในทางไม่ดีสูง
“การที่สังคมตกอยู่ในภาวะที่คนดีมีน้อย บางคนโทษกระทรวงศึกษาธิการ บางคนโทษพระ หรือหย่อนในเรื่องการสอนคุณงามความดี ค่านิยม แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไรบางทีเราต้องโทษตัวเองก่อน”
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตง.) จัดงานเปิดตัวภาพยนตร์สั้นและสารคดีสั้นของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 7 เรื่อง โดยมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ”ความดีเริ่มต้นที่ คุณ...น่ะทำ” โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ณ โรงภาพยนตร์พารากอนซีนีเพล็กซ์ 10 ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
นายวิษณุ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า สังคมวันนี้ยกย่องคนที่มีความสามารถ คนที่แสดงแปลกประหลาดเท่าไหร่ ยิ่งถูกมองว่าเก่งมากเท่านั้น มีความสามารถมากก็ได้เงินเดือนเป็นหลักล้านบาท แต่คนดีๆ เรื่องของคนดีๆ ที่ได้เห็น ไม่มีนำมาเผยแพร่ให้คนได้รู้ บางทีที่สังคมไทยเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้อาจเป็นเพราะเรายกย่องคนที่ความสามารถ ความรู้ มากกว่าที่จะยกย่องความดี
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้ยกบทกลอนในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่า ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง ความรู้อาจเรียนทันกันหมด เว้นแต่ชั่วดีกระด้างห่อนแก้ฤาไว
โคลงบทนี้สะท้อนให้เห็นว่าความรู้ความสามารถเรียนทันกันได้ แต่เรื่องความดีความชั่ว ความอยากได้อยากมี เรียนกันไม่ได้ ต้องอาศัยการฝึกเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตสำนึกและค่านิยม
“ผมยังเชื่อว่า ตัวอย่างที่ดีในสังคมไทยยังมีคนดีอยู่เพียงแต่ว่า วันนี้คนดีอาจจะน้อยกว่าในอดีต สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าค่านิยม ทัศนคติ หรือความรู้สึกนึกคิด ความแยกถูกแยกผิดของสังคมวันนี้มีการตักเตือนน้อยไป”
การที่สังคมตกอยู่ในภาวะที่คนดีมีน้อยนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า บางคนโทษกระทรวงศึกษาธิการเลิกสอนหน้าที่ศีลธรรม บางคนโทษพระ ที่ทำหน้าที่บกพร่อง หรือหย่อนในเรื่องการสอนคุณงามความดี ค่านิยม แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไรบางทีเราต้องโทษตัวเองก่อน ความนิยมของคนในวันนี้เปลี่ยนไป อะไรที่เคยรู้ว่าเป็นสิ่งดีในอดีตแต่ตอนนี้เริ่มมีความลังเล สงสัย หรือคิดตรงกันข้ามกับอดีต ความลังเลสงสัยนั้น พระท่านใช้คำว่า“วิจิกิจฉา” คนในอดีตจะไม่มี วิจิตรกิจฉา คือความลังเลสงสัย รู้ว่า อะไรดีและควรทำ รู้ว่าอะไรไม่ดีและไม่ควรทำ
“วันนี้อาจจะอยู่ในยุคที่มีวิจิกิจฉามากเกินไป คือ ไม่แน่ใจว่า ดีหรือไม่ดี มีโอกาสที่จะหันเหไปในทางที่ไม่ดีไม่ควรสูง เห็นกงจักรเป็นดอกบัว”
รองนายกรัฐมนตรี ยกตัวอย่างอีกว่า เวลาพูดถึงความซื่อตรง ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ดี แต่วิจิตรกิจฉาทำให้คนไม่น้อยคิดว่าซื่อตรงไปทำไม ดีแน่หรือ จึงได้เกิดชื่อภาพยนตร์ “ดีหรือโง่” คนที่ซื่อตรงถูกมองว่าโง่ คำที่บอกว่า “ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน” กินไม่หมดแล้วเมื่อไหร่จะได้กิน ส่วนคดกินไม่นาน ไม่นานก็ไม่นานได้สักมื้อก็ยังดี
เมื่อคิดได้อย่างนี้คนก็พร้อมที่จะคด หรือแม้แต่ความมีวินัย วิจิกิจฉา เข้ามาเยือนทำให้คนคิดว่า จะมีระเบียบวินัยไปทำไม เพราะสิ่งที่มีคู่กับวินัยคือความรู้สึกที่ว่าความเป็นคนเจ้าระเบียบ จู้จี้ จุกจิก เพราะฉะนั้น เข้าแถวทำไม ตรงเวลาทำไม มีระเบียบวินัยไปทำไม แต่งเครื่องแบบไปทำไม คือสิ่งที่เป็นมุมตรงกันข้าม และเพราะเหตุของสภาวะสังคม ชวนให้นึกแต่เรื่องตรงกันข้าม ซึ่งทำได้ง่าย
แม้แต่ระหว่างความพอเพียงกับความกระจอก คนไม่น้อยที่ไม่ชอบความพอเพียงหรือทางสายกลาง เพราะกลัวคนหาว่า กระจอก ดังนั้นอวดมั่งอวดมีเข้าไว้ คำที่บอกว่า “มีสลึงพึ่งบรรจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์ มีน้อยใช้น้อยต้องบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน” ซึ่งความพอเพียงวันนี้เป็น “มีสลึงพึงกู้ให้ครบบาท” เพราะคนจะคิดว่ากระจอก แล้วจะโดนดูถูกเหยียดหยาม
“ทุกคนรู้จักความดีและอยากเห็นคนทำดี อันที่คนอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกที เขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย ไม่ใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” หากคุณไม่ทำความดี แล้วให้คนอื่นทำ ให้คนอื่นดัง คนที่คิดแบบนี้ไม่ได้ชั่ว บาป ร้าย แต่สังคมหยุดอยู่กับที่ หรือถอยหลัง เพราะทุกคน ผลัดวันประกันพรุ่ง ทุกคนไม่อยากทำความดีก่อน แต่เพราะทุกคนคิดเหมือนกันหมดเลยไม่มีใครทำความดีก่อน คนที่ 2 ก็รออยู่จึงไม่ได้เดินหน้าสักที ที่ 1 ก็ไม่เกิด ที่ 2 ก็ไม่มี ที่ 3 ก็ไม่มา เลยไม่มีใครทำความดี”
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า เพราะฉะนั้นใครที่ตั้งหัวข้อไว้ว่า “ความดีต้องเริ่มต้น คุณธรรม” คุณธรรมเป็นสมาส ระหว่างคำว่า คุณ กับ ธรรม แปลว่า ธรรมะที่มีคุณประโยชน์ เวลาอ่านว่า คุณธรรม อย่าย่ำตรงกลาง ต้องอ่านว่าคุณธรรม แต่สังคมวันนี้ชอบย้ำตรงกลางหรือย้ำที่ตัวแรกว่า คุณ...น่ะทำ แปลว่า มึงน่ะทำก่อน เองน่ะทำ ข้านี่ย้ำ กูนี่ย้ำ เมื่อทุกคนคิดอย่างนี้ก็ไม่มีใครทำ ทั้งๆทีรู้ว่าการทำความดีเป็นเรื่องดี แต่เป็นค่านิยมในสังคมว่าปล่อยให้เขาทำไปเถอะ เศรษฐีบางคนไม่บริจาคเงินเพราะกลัวคนหาว่าอยากดัง ความดีวันนี้จึงเป็นเรื่องที่ เดี๋ยวค่อยทำ
ท้ายสุดนายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ตรวจพบคุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อตรง ความมีวินัย ความพอเพียง ความเสียสละเพื่อส่วนรวม และการรักสิ่งแวดล้อม
จำง่ายๆ คือ ใช่ตัวย่อเป็นภาษาอังกฤษ ตัวแรก S ตัวสุดท้าย E ตรงกลางเป็นตัว S เป็น SSSSE ใช้ตัวนี้เป็นแนวทางรณรงค์ต่อไป และรณรงค์ให้ทำก่อน ใครมีโอกาสให้ทำก่อน อย่าไปรอคนอื่น เรื่องคุณงามความดีไม่ต้องรอ ไม่ต้องอาย บริจาคได้บริจาค เสียสละได้เสียสละ ปลูกต้นไม้ก่อนได้ปลูกไม่ต้องรอให้คนอื่นปลูกแล้วเราเป็นต้นที่ 2 ซื่อตรงได้ซื่อตรง มีวินัยได้มีวินัยไปเลย