สปช.สื่อชี้กม.ดิจิทัลฯละเมิดเสรีภาพ ทำปชช.หวาดกลัว-บั่นทอนการลงทุน
สปช.เห็นชอบรายงาน กม.ดิจิทัล หลัง กมธ.สื่อฯ ซัดให้อำนาจ จนท.รัฐล้นฟ้า สื่อ-ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แทรกแซง กสทช. ขาดกรอบการทำงานที่ชัดเจน ไร้มาตรการเยียวยา ทำให้เกิดความหวาดกลัว บั่นทอนบรรยากาศการลงทุนของเอกชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้สรุปผลการศึกษากฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 10 ฉบับ เสร็จสิ้นแล้ว
มีสาระสำคัญในส่วนของการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน สรุปได้ว่า ร่างกฎหมายดิจิทัลฯทั้ง 10 ฉบับ มีบทบัญญัติที่เพิ่มอำนาจหน้าที่เสมือนตำรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขตและไม่มีมาตรการหรือกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งขัดแย้งต่อหลักการรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
นอกจากนี้กรอบแนวคิดของร่างกฎหมายดิจิทัลฯ มีลักษณะบั่นทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และบั่นทอนบรรยากาศการลงทุนของเอกชนและต่างชาติ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวและไม่แน่ใจ ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และประชาชน เนื่องจาก พ.ร.บ.พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์) ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร้ขอบเขต และเน้นเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลบุคคลที่เป็นเป้าหมาย (Targeted Surveillance) โดยปราศจากการกลั่นกรองจากศาลหรือตุลาการฯ และปราศจากการโต้แย้งคำสั่งที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งขัดกับหลักการตามกฎหมายวิธีพิจารณาทางปกครอง ไม่มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะอย่างน้อยตามหลักการความรับผิดชอบเด็ดขาด (Strict Liability) เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษได้ตามกฎหมายโดยไม่เป็นภาระมากเกินไป และไม่มีมาตรการเยียวยาความเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนสามารถได้รับการเยียวยาความเสียหายได้ตามกฎหมายโดยไม่เป็นภาระมากเกินไป
ในด้านการดำเนินกิจกรรมหรือการดำเนินกิจการใด ๆ ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่กำหนดให้ต้องสอดคล้องกับนโยบายของคณะรัฐมนตรีและนโยบายของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว หลักการความเป็นอิสระของ กสทช. ย่อมถูกลดทอนลง และส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชาชน รวมทั้งสื่อมวลชน และจัดเป็นการกำหนดแนวทางการบัญญัติกฎหมายที่สวนทางกับแนวทางการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
จากการศึกษาสรุปได้ว่า ภาพรวมของกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 10 ฉบับ ไม่มีมาตรการรองรับหรือกลไกการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ โดยส่งผลกระทบเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับ ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่อย่างไร้ขอบเขตโดยปราศจากการกลั่นกรองจากศาลหรือตุลาการ ขาดมาตรการหรือกลไกในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขาดกรอบการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีมาตรการป้องกันและมาตรการเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีการยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายของหน่วยงานบางประการ ซึ่งอาจส่งผลเป็นการบั่นทอนมากกว่าส่งเสริมบรรยากาศในการลงทุน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบกับรายงานของ กมธ.ปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนฯ ด้วยคะแนน 163 ต่อ 4 งดออกเสียง 13 พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป