ภาคปชช. จี้รัฐปรับ "เบี้ยยังชีพ" เป็น "บำนาญพื้นฐาน" สร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ
เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ เรียกร้องรัฐปรับ "เบี้ยยังชีพ" เป็น "บำนาญพื้นฐาน" สร้าหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุ อ้างอิงเส้นความยากจน ปี 2558 ชี้อยู่ที่ 2,400 บาท/เดือน
วันที่ 8 เมษายน เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชน 5 เครือข่ายทั่วประเทศคือ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “สังคมไทยสูงวัยไปด้วยกัน ด้วยระบบบำนาญแห่งชาติ” เพื่อยกระดับการจัดสวัสดิการของรัฐในด้านหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงวัยที่เหมาะสมในสังคมไทย พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้คนทุกวัยสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพในสังคมสูงวัยด้วยกัน ณ บริเวณลานสาธารณะ สำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯ
ภายในงาน เครือข่ายประชาชนเพื่อขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ แถลงข่าว เรียกร้องให้รัฐบาลมอบของขวัญให้คนไทยด้วยการปรับ "เบี้ยยังชีพ" ให้เป็น "บำนาญพื้นฐาน" เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ให้กับผู้สูงอายุ พร้อมสนับสนุนให้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... โดยสาระสำคัญ ให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าให้ผู้สูงวัย แบบรายเดือนในอัตราที่อ้างอิงเส้นความยากจน ในปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 2,400 บาทต่อเดือน รวมถึงให้มีคณะกรรมการกลางที่มีส่วนร่วมของประชาชน
ส่วนข้อเสนอทางด้านการเงินการคลัง เพื่อใช้ในการจัดทำบำนาญพื้นฐานแห่งชาตินั้น รัฐต้องจัดเก็บภาษีที่่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ เช่นการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ภาษีมรดก และภาษีทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า ยกเลิกการลดหย่อนภาษีภาคธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมถึงภาษีจากการลงทุนในตลาดทุน ซึ่งรัฐต้องทำให้เป็นจริงให้ได้
สุดท้าย รัฐต้องเร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นหน่วยรับออมเงินในระดับพื้นที่
พร้อมกันนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เริ่มต้นระดมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย ร่างพ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ พ.ศ.... คาดจะเสนอกฎหมายเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทันที
ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุ กล่าวถึงการขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ โดยเห็นว่าสังคมไทยดูแลผู้สูงอายุน้อยไป บำนาญแห่งชาติจะเป็นสวัสดิการระดับต้นๆ ที่รัฐควรดูแล แม้การดูแลด้วยการให้เงินเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งก็ตาม เนื่องจากยังมีสวัสดิการอื่นๆ อีกที่ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย