เทคนิคครูสอนคิด ฝึกครู – เด็ก ตั้งคำถาม 3 ระดับนำสู่การเรียนรู้ที่ไร้กรอบ
นักวิชาการแนะเทคนิคครูสอนคิด ชี้ผู้สอนต้องเน้นตั้งคำถามและอภิปรายร่วมกับผู้เรียน ย้ำเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าข้อมูลหรือเนื้อหา เชื่อเด็กมีศักยภาพมากกว่าท่องจำ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษาจัดประชุมวิชาการ“สานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ: คืนความสุขสู่ผู้เรียน” ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี
ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา ที่ปรึกษาศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวว่า ครูสอนคิด(Socratic Method)เป็น 1 ใน 6 โครงการ คือ 1)โครงการพัฒนา Mindset 2)โครงการครูสอนคิด (Socratic Method) 3)โครงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน(Teacher-Student Relationship) 4)โครงการพี่ช่วยน้อง ผองเพื่อนช่วยกัน (Peer Tutoring) 5) โครงการพัฒนาครูเพื่อการดูแลเด็กพิเศษเบื้องต้น(Inclusion) และ 6.โครงการการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (Parental Involvement) ภายใต้หลักจิตวิทยาเพื่อพัฒนาได้โดยมีแนวคิดว่าการคิดคงทนกว่าความรู้จึงควรสอนให้คิดมากกว่าบอกให้จำหรือย้ำให้เชื่อที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา กล่าวด้วยว่า ผู้สอนมีหน้าที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมด้วยการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเป็นมิตรใช้กระบวนการถามอย่างเป็นระบบ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ถูกถามคิดและสงสัยในคำตอบและความเชื่อที่ตนเองมี เน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดสร้างสรรค์มากกว่าคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาตามแนวพระราชกระแสฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก
ด้าน ผศ.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจะเป็นครูสอนคิดได้ต้องมีทักษะที่ดี 3 ด้าน คือ 1.การถามอย่างเป็นระบบ(systematic questioning) สามารถใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กคิดและเชื่อมโยงได้2.การสื่อสาร (communication) สามารถสื่อสารให้เด็กเข้าใจได้ง่ายมีทักษะที่ดีในการแสดงความสนใจปฏิกิริยาตอบรับของเด็กและ 3.การกระตุ้นให้มีส่วนร่วม(facilitation) สามารถกระตุ้นให้เด็กแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในชั้นเรียนได้
“ทั้งนี้ ครูจะสอนให้เด็กคิดได้อย่างไรขึ้นกับการใช้คำถามที่ดีกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์ที่ลึกซึ้ง โดยใช้รูปแบบของครูสอนคิด ซึ่งเป็นวิธีสอนการแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าข้อมูลหรือเนื้อหาที่มุ่งเน้นให้เกิดการตระหนักว่าความคิด ของตนเองเป็นเพียงความเชื่อซึ่งสามารถปรับแต่งให้คมชัดและมีเหตุผลมากขึ้น”
ผศ.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล กล่าวด้วยว่า การใช้รูปแบบครูสอนคิดนั้นต้องอาศัยความสงสัยต่อความเชื่อที่ตนเองยึดถือในเบื้องต้นและการตั้งคำ ถามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่ลึกซึ้งขึ้น โดยจะเน้นการฝึกให้ผู้เข้าร่วมคือครูได้ตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถามก่อให้เกิดการคิดหรือชวนให้ถาม การสอนให้เด็กคิดไม่สามารถเกิดจากการบอก เพราะการบอกคำตอบเท่ากับให้เด็กหยุดคิด ดังนั้นเมื่อครูผู้สอนถามแล้วต้องรอคำตอบ อย่าตอบแทนเด็ก เพราะมองว่าเสียเวลารอ ซึ่งครูผู้สอนไม่ต้องกังวลว่าจะต้องมีคำตอบที่ถูกเสมอ
ผศ.นพ.ชัยชนะ กล่าวอีกว่า ครูมีหน้าที่หลักคือตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบและร่วมกันอภิปรายหลักสำคัญไม่ใช่การสอนแต่เป็นการสร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์ค้นหาความรู้ร่วมกันและเครื่อง มือสำคัญคือการใช้คำถามที่มีคุณภาพโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
1. คำตอบหาได้จากเรื่องหรือตัวบทโดยตรง (text explicit) มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนเป็นการถามความเข้าใจเบื้องต้นมักจะเป็นคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือความจำ
2.ต้องอนุมานหรือวิเคราะห์คำตอบที่แฝงไว้ในเรื่องหรือตัวบท(text implicit) คำตอบอาจแทรกหรือกระจัดกระจายในที่ต่างๆจึงต้องตัดสินใจเลือกสรุปโดยการจัดระบบหรือเชื่อมโยงความสัมพันธ์จากเนื้อหาที่มี
3.ต้องหาคำตอบที่อยู่นอกเหนือเนื้อเรื่องหรือตัวบทจำเป็นต้องอาศัยความรู้หรือประสบการณ์ของผู้ตอบ (Experience Based) ทำให้คำตอบของแต่ละคนมีความเป็นไปได้ที่หลากหลายไม่มีคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนคำตอบเดียว เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการให้เกิดคือการทำให้เด็กมีความพึงพอใจต่อการคิดสนุกกับการถามและการหาคำตอบด้วยตัวเอง มากกว่าการเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก