จักรกฤษณ์ เพิ่มพูน : อุดมการณ์ของสื่อ ภายใต้การใช้อำนาจตามมาตรา 44
“ผมว่าโดยหน้าที่ของสื่อแล้ว ไม่ว่าบริบทสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้มีอำนาจจะมาจากวิธีใด จะมาจากการยึดอำนาจ หรือจากการเลือกตั้งก็สุดแล้วแต่ การทำหน้าที่ของสื่ออย่างสุจริต ตรงไปตรงมา โดยไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดก็ต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำต่อไปตามปกติ…แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถ้ามันมีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ความจริงกัน หมายถึงว่าถ้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาแล้วก็ถูกอำนาจพิเศษเหล่านี้มาสั่งให้ปิดหรือมาเรียกไปสอบสวน ปรับทัศนคติ ก็ต้องมีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงแล้วก็ยืนหยัด…”
ภายหลังการยกเลิกกฎอัยการศึกและแทนที่ด้วยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 รวมคําสั่งทั้งสิ้น 14 ข้อ นำมาซึ่งการออกแถลงการณ์หลายฉบับของเครือข่ายภาคประชาชนรวมถึงข้อห่วงใยจากนักวิชาการ นักสันติวิธีที่เห็นว่าคำสั่งภายใต้มาตรา 44 มิได้แตกต่างหรือผ่อนคลายลงจากกฎอัยการศึกทั้งอาจมีประเด็นเรื่องความซับซ้อนของการใช้อำนาจที่อาจทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึกและกฎหมายพิเศษอื่นๆ เกิดความสับสน
ขณะที่ 4 องค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็ร่วมออกแถลงการณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง เนื่องจากในข้อ 5 ของคำสั่งดังกล่าวระบุว่า “ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจออกคำสั่งห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด และได้กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น”
ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุว่าคำสั่งนี้มีเนื้อหาที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นกว่ากฎอัยการศึก เป็นการให้ดุลพินิจกับเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยอย่างกว้างขวาง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรามีโอกาสสัมภาษณ์ "จักรกฤษณ์ เพิ่มพูน" อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติถึงบทบาท อุดมการณ์ และการยืนหยัดต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อฯ แม้ในท่ามกลางขอบเขตของการใช้อำนาจพิเศษภายใต้มาตรา 44 ซึ่งคำตอบสำคัญว่าด้วย “ความกล้าที่จะยืนหยัดและเผชิญหน้าต่อความจริง” เป็นสิ่งที่อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ผู้นี้ เน้นย้ำอย่างยิ่ง
@ : คุณมีความเห็นอย่างไร ต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของสื่อในส่วนที่ปรากฏอยู่ในข้อ 5 ของ คำสั่งภายใต้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ?
จักรกฤษณ์ : ผมว่าถ้าดูเนื้อหาของข้อนี้แล้ว เทียบกับอำนาจตามกฎอัยการศึกในส่วนที่เคยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจห้ามในเรื่องดังนี้ เช่น ห้ามมั่วสุมชุมนุมกัน ห้ามจำหน่ายจ่ายหรือแจกสิ่งพิมพ์ บทกวี บทประพันธ์ อะไรประมาณนี้ มันก็เป็นอำนาจประเภทเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ 5 ของคำสั่งใหม่นี้
เพียงแต่ผู้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกกำหนดให้เป็นอำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร แต่ฉบับใหม่เป็นการให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดังนั้น เท่าที่ผมดูก็เปลี่ยนเฉพาะผู้ใช้อำนาจ ไม่ได้เปลี่ยนตัวเนื้อหา
ถ้าจะบอกว่ามีผลกระทบต่อการทำงานของสื่อหรือไม่ ผมคิดว่าสื่อก็คงต้องมีการระมัดระวัง ในการทำหน้าที่ที่อาจจะต้องถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
@ : การใช้อำนาจภายใต้มาตรา 44 เป็นความท้าทายสำหรับสื่อหรือไม่ ระหว่างสื่อที่ต้องเสนอข้อเท็จจริงกับการตีความที่อาจแตกต่างกันกับผู้ใช้อำนาจ สื่อควรจะยืนหยัดอย่างไร ?
จักรกฤษณ์ : ผมว่าการทำงานตามวิชาชีพคงไม่มีผลกระทบอะไร ก็เสนอข่าวไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รายงานปรากฏการณ์ในสังคมตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นประเด็นก็คือภายใต้สถานการณ์พิเศษและภายใต้คณะบุคคลที่เข้ามามีอำนาจทางการเมือง ณ ขณะนี้ การใช้ดุลยพินิจวินิจฉัยว่าการกระทำเช่นนี้ มีผลกระทบต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ มันเป็นมาตรฐานที่มีความต่างกัน
เมื่อมีความต่างกัน มันก็ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ ก็อาจจำเป็นที่จะต้องมาดูกันว่ามาตรฐานในการวินิจฉัยความผิด ความมั่นคง มันคนละมาตรฐานกัน เพราะฉะนั้น มันก็มีความท้าทาย มีความเสี่ยงอยู่พอสมควรที่สื่ออาจถูกอำนาจพิเศษในการจัดการที่จะทำให้สื่อไม่กล้าที่จะนำเสนข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา หรือไม่กล้าวิพากษวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา อาจลดโทนลง
มันอาจเป็นเหมือนเหตุการณ์ในอดีต ที่เมื่ออำนาจรัฐมีความเข้มข้นหรือมีการใช้อำนาจที่ไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ สื่ออาจหันไปเสนอข่าวที่ไม่มีสาระ ซึ่งมันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
@ : การใช้อำนาจภายใต้มาตรา 44 อาจส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อในการตรวจสอบรัฐ อย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ เช่น สื่ออาจไม่กล้าตรวจสอบอำนาจรัฐมากพอ?
จักรกฤษณ์ : ผมว่าความคิดของสื่อคงอยากทำหน้าที่ตามปกติ แต่ความไม่ชัดเจนในอำนาจตาม มาตรา 44 ก็อาจจะทำให้เขาหลีกเลี่ยงที่จะไปเผชิญกับสิ่งที่อาจจะต้องถูกปิด ถูกสั่ง ถูกเตือน อะไรต่างๆ ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ ก็คงระมัดระวังอะไรมากขึ้น และคงหลีกเลี่ยงการเสนอ การวิพากษ์วิจารณ์ อย่างตรงไปตรงมา
@ : ในท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ อุดมการณ์หรือบทบาทวิชาชีพที่สื่อควรต้องตระหนักเป็นพิเศษคืออะไร?
จักรกฤษณ์ : ผมว่าโดยหน้าที่ของสื่อแล้วไม่ว่าบริบทสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไร ผู้มีอำนาจจะมาจากวิธีใด จะมาจากการยึดอำนาจหรือจากการเลือกตั้งก็สุดแล้วแต่ การทำหน้าที่ของสื่ออย่างสุจริตตรงไปตรงมา โดยไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดก็ต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำต่อไปตามปกติ
เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะจำเป็นต้องระมัดระวังคือภายใต้สถานการณ์พิเศษขณะนี้ซึ่งเราอาจจะไม่มีมาตรฐานที่มีความชัดเจนว่าไอ้แบบนี้ทำได้หรือทำไม่ได้ ก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ไปกล่าวหาใครอย่างไม่เป็นธรรม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรู้สึกหรืออารมณ์ แต่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถ้ามันมีความจำเป็นที่จะต้องพิจสูน์ความจริงกัน หมายถึงว่าถ้าวิพากษ์วิจารณ์ อย่างตรงไปตรงมา แล้วก็ถูกอำนาจพิเศษเหล่านี้มาสั่งให้ปิดหรือมาเรียกไปสอบสวน ปรับทัศนคติ ก็ต้องมีความกล้าที่จะเผชิญกับความจริง แล้วก็ยืนหยัดที่จะอธิบายในสิ่งที่เราทำงานวิชาชีพด้วยความสุจริต ตรงไปตรงมา
@ : มีอะไรอยากฝากถึงสภาวิชาชีพสื่อ ในสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ ?
จักรกฤษณ์ : ผมคงพูดแทนสภาวิชาชีพไม่ได้นะครับ เพราะผมไม่ได้อยู่ในบทบาทนั้นแล้ว แต่ในส่วนของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องก็ควรต้องมีคำเตือนให้สมาชิกเคร่งครัดในหลักจริยธรรม แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปหวาดกลัวอะไรมาก ถ้าเราทำไปตามหน้าที่
…
คือจุดยืนของอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ในวันที่สื่อต้องเผชิญกับบททดสอบอันท้าทายอีกครั้งหนึ่ง!
อ่านประกอบ :
4 องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ห่วงการใช้อำนาจ ม.44
ส.ศิวรักษ์-โคทม-นักสิทธิฯ ซัด ม.44 เหล้าเก่าขวดใหม่-ปชช.ไร้หลักประกัน
ภาพประกอบจาก : https://conflictreporter.files.wordpress.com/2012/03/mics.jpg ,อินเทอร์เน็ต