สปช.หนุนท้องถิ่นเก็บภาษีเอง ชี้แค่ที่ดินตัวเดียวงบฯเพิ่มจริงถึง 2 เท่า
ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ยันระบบภาษีที่พึงเก็บในประเทศไทย ควรแยกเป็น 2 ระดับ คือ ภาษีระดับชาติ-ภาษีท้องถิ่น หนุนให้ท้องถิ่นเก็บเอง ใช้เอง ส่วนท้องถิ่นไหนพึ่งตนเองไม่ได้ คลังต้องยื่นมือเข้าไปช่วย
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์ส่งเสริมและประสานงานการวิจัยเพื่อการปกครองตนเองของท้องถิ่น (สปวท.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 (Annual Year Conference) หัวข้อ “อนาคตของการกระจายอำนาจ?” ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลลูม ชั้น3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ โดยในช่วงบ่ายมีการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตการกระจายอำนาจของประเทศไทย”
ศ.(พิเศษ)ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า จากการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงการเติบโตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงแรกอาจจะมีกระแสโต้กลับเพราะมีความสับสน แต่ในระยะหลังมั่นใจว่ามีอนาคตสดใส ยิ่งหากมองสถานการณ์โลกก็ยิ่งเห็นว่ายุคนี้เป็นยุคของการกระจายอำนาจที่มุ่งหวังจะลดขนาดและบทบาทของภาครัฐเพื่อเป็นการคืนอำนาจสู่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการลดระดับการใช้อำนาจให้ต่ำกว่าระดับชาติ
ดร.สมชัย กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่ยุคของการปกครองอย่างเข้มงวดแบบรวมศูนย์อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องเป็นการคลายอำนาจและลดระดับการใช้อำนาจรัฐอย่างที่ใช้ในระดับชาติ หันมาใช้ท้องถิ่นให้มากขึ้น และแม้จะมีการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเขียนอยู่ ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะเรื่องการกระจายอำนาจนั้นเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือฉบับปี 2540 และ 2550 แต่ก็มิได้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก ซึ่งหากไม่มีรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เรื่องการกระจายอำนาจคงมาไม่ได้ไกลขนาดนี้
“ยุคนี้เป็นยุคของการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากอำนาจรัฐส่วนกลางสั่นคลอน เพราะกระแสการปฏิรูปต่างๆ กระทรวงการคลังวันนี้เปลี่ยนในทางความคิด คือ มีความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น ผมได้ผลักดันให้มีการเขียนในรัฐธรรมนูญว่า ระบบภาษีที่พึงเก็บในประเทศไทย ควรแยกเป็นภาษี 2 ระดับ คือ ภาษีระดับชาติ และภาษีท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นเก็บเอง ใช้เอง ส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองไม่ได้ กระทรวงการคลังต้องเข้าไปช่วย”
ดร.สมชัย กล่าวด้วยว่า อนาคตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะอยู่หรือไป ตัวชี้ขาด คือ เรื่องความโปร่งใส ความดีงาม และสุจริตไม่คอร์รัปชัน ฉะนั้น อปท.ต้องพิสูจน์ตัวเอง ตื่นตัว และทำงานแนวใหม่ ทำงานแบบเครือข่ายดึงภาคประชาชนมาเป็นกำลังสนับสนุน อย่ามองภาคประชาชนเป็นคู่แข่ง หรือขัดขวางการทำงาน ซึ่งจะบั่นทอนความสำเร็จของอปท.
ด้านดร.สีลาภรณ์ บัวสาย สมาชิกสปช. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงความท้าทายของท้องถิ่น คือการพิสูจน์ตัวเองว่า มีธรรมาภิบาลจริงหรือไม่ เพราะวันนี้ท้องถิ่นมีการจ้างเจ้าหน้าที่พนักงานต่างๆ สารพัดวิธี ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีเพดานในเรื่องของกรอบวงเงินงบบุคลากร 40% แต่ท้องถิ่นใช้งบแตะเพดานกันทั้งสิ้น และพนักงานอัตราจ้างมักเป็นลูกหัวคะแนน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานในการคัดเลือกบุคคลากรควบคู่กับการกระจายอำนาจไปด้วย โดยอาจจะใช้มาตรฐานเดียวกันกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
กรรมาธิการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กล่าวถึงการคลังท้องถิ่น จะเน้นการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่นผ่านการให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเอง คือ
1.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมาแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีที่ดินนี้จะทำให้งบประมาณท้องถิ่นเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือเพิ่มไปเป็น 2 แสนล้านบาท
2.ภาษีนิติบุคคลที่มีการประกอบธุรกิจในพื้นที่
และ 3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม 30% จะต้องเป็น 40%
"มีการนำตัวเลขมาดู สรุปภาษี 3 ตัวนี้ ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้มากสุด และทำให้ท้องถิ่นมีความรับผิดชอบ (accountability) กับคนในพื้นที่ กับสาธารณะมากขึ้น"
ดร.สีลาภรณ์ กล่าวถึงกระแสการปฎิรูปด้วยว่า เป็นการตั้งโจทย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเคลื่อนไปข้างหน้าโดยการเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาชนมากขึ้น เรื่องการกระจายอำนาจคราวนี้ มุ่งกระจายอำนาจไปสู่่ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นทางผ่าน องค์กรปลายสุดตามกฎหมายรองรับให้รับงบประมาณได้