'วุฒิสาร' ชี้อนาคตจำเป็นควบรวมท้องถิ่นเล็กๆ เพื่อประสิทธิภาพ-คุ้มค่า
'วุฒิสาร ตันไชย' ยันแนวคิดการกระจายอำนาจ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีมุมที่กว้างขึ้น ไม่ได้อยู่เฉพาะขอบเขตเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น แต่เพิ่มพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้นในการบริหารจัดการ
วันที่ 3 เมษายน 2558 ศูนย์ส่งเสริมและประสานงานการวิจัยเพื่อการปกครองตนเองของท้องถิ่น (สปวท.) ภายใต้การสนับสนุนจาก ฝ่ายชุมชนและสังคม (ฝ่าย 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมสัมมนาวิชาการประจำปี 2558 (ANNUAL YEAR CONFERENCE) หัวข้อ “อนาคตของการกระจายอำนาจ” ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลลูม ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ
รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และโฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทยกับทิศทางการกระจายอำนาจ” ตอนหนึ่งว่า การกระจายอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างนั้น จะมีความหมายที่ไกลกว่าเดิม หลังรัฐธรรมนูญ 2550 คำว่า การกระจายอำนาจถูกอธิบายไปสู่ภาคประชาสังคม การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชน การเข้มแข็งของชุมชน ความพยายามคิดในเรื่องการจัดการให้จังหวัดจัดการตนเอง
สำหรับแนวคิดการกระจายอำนาจในมุมที่กว้างขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า ไม่ได้อยู่เฉพาะขอบเขตเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นเท่านั้น การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่แนวคือการเพิ่มพื้นที่ของการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้ประชาชนมีบทบาทมากขึ้นในการบริหารจัดการ
รศ.วุฒิสาร กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เห็นว่าก ารมีความคิดเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรท้องถิ่น และมีการกระจายอำนาจเพิ่มพื้นที่ภาคพลเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้มีคำใหม่ที่ไม่ใช้ คำว่า “ประชาชน” แต่ใช้คำว่า “พลเมือง” ซึ่งมีนัยยะแตกต่างไปจากเดิม
“ในส่วนของการกระจายอำนาจในส่วนแรก คือ การกระจายอำนาจไปสู่องค์กรท้องถิ่น ใน 6 มาตรา และ 1 มาตรา เรื่องแรก คือ การเปลี่ยนชื่อองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่น กรรมาธิการยกร่างคิดว่า การเปลี่ยนชื่อองค์กรบริหารท้องถิ่นนั้น สิ่งสำคัญคือ สะท้อนการคิดแนวระนาบ การจัดการความสำคัญของพื้นที่มากกว่าการใช้อำนาจการ รวมถึง การวางหลักการสำคัญให้ท้องถิ่นมีการปกครองอิสระในการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ และวางหลักในการเปิดโอกาสให้มีรูปแบบของการบริหารท้องถิ่นที่หลากหลายตามภูมิสังคม การปกครองท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว”
โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกว่า ในอนาคตความจำเป็นของการมีท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อการตอบสนองการจัดการเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาจจำเป็นต้องมีรูปแบบของการบริหารจัดการที่ไม่จำเป็นต้องมีสภาและฝ่ายบริหารเท่านั้น จึงเปิดกว้างขึ้นเพื่อให้องค์กรท้องถิ่นมีความหลากหลาย ประการต่อมาองค์กรท้องถิ่นมีหน้าที่หลักในการจัดการบริการสาธารณะ และขยายขอบเขตอำนาจขององค์กรบริหารท้องถิ่นนั้นให้มีอำนาจการจัดการที่กว้างขวางขึ้น
“การเปิดเรื่องความหลากหลายในอำนาจหน้าที่ ในรัฐธรรมนูญบัญญัติหลัก คือ การพูดเรื่องขนาดที่เหมาะสมในการจัดการบริหารท้องถิ่นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่า คือหลักการที่วางเรื่องท้องถิ่นให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ท้องถิ่นจำนวนมากมีพื้นที่น้อยมาก 0.4 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 1,200 คน รายได้รวม 70 ล้านบาท และมีท้องถิ่นขนาด 300-400 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 5 หมื่นคน แต่รายได้ 25 ล้านบาท เป็นท้องถิ่นที่มีต้นทุนการให้บริการแพง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกออกแบบเดิม”
ส่วนการควบรวมในอนาคตนั้น รศ.วุฒิสาร กล่าวว่า จำเป็นต้องเกิดขึ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นในอนาคตที่จะต้องพัฒนา มีเป้าหมายชัดเจนว่าอย่างได้อะไร เรื่องการควบรวมจำเป็นต้องคิดหลักเกณฑ์ จะต้องคิดถึงประชากรและรายได้
นอกจากนี้ โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวถึงหลักการทำงานขององค์กรท้องถิ่น 2 เรื่อง คือ 1.องค์กรบริหารท้องถิ่นสามารถมอบงานให้กับเอกชนหรือชุมชนทำแทนได้ ท้องถิ่นต้องมีความสามารถในการแข่งขัน ในการจัดบริการสาธารณะ เพราะฉะนั้นท้องถิ่นในอนาคตอาจจะมอบงานบางอย่างที่คิดว่าชุมชนจัดการแล้วเกิดประโยชน์สูงกว่า
2.ท้องถิ่นสามารถถ่ายโอนงานหรือสนับสนุน ให้ชุมชนหรือบุคคลอื่นสามารถจัดบริการสาธารณะแทนท้องถิ่นได้โดยมีมาตรฐาน คุณภาพ และประสิทธิภาพ คือ หลักการสร้างความร่วมมือ รัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าในรูปแบบการจัดการสาธารณะอาจจะมีมากขึ้น เปิดโอกาสให้องค์บริหารท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องทำเอง จึงมีคำว่า “สหการ” ซึ่งคนยังไม่รู้จักคำว่าสหการ เพราะกฎหมายเขียนว่าเทศบาลตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปมีความจำเป็นให้รวมกันจึงเรียกว่าสหการ องค์กรบริหารท้องมีความหลากหลายในด้านการจัดการ การทำงานร่วมกันของท้องถิ่น
“ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะทุกประเภทตามหลักความสามารถทั่วไป ให้องค์กรบริหารท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ขั้นต่ำ ในการจัดบริการ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐาน การศึกษาอบรม การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ประชาชนหรือชุมชนย่อยมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรบริหารท้องถิ่น ได้แก่ การกำหนดรูปแบบขององค์กรบริหารท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองท้องถิ่น การบริหารงานท้องถิ่น การออกเสียงประชามติระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการดำเนินงาน การถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น การเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยวางหลักเกณฑ์ขั้นต่ำให้องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร รายงานผลการดำเนินงาน รายงานงบการเงินและสถานการณ์การคลังท้องถิ่น"