บอร์ด สปสช.เร่งจัดสรรงบฯ บัตรทองถึงมือหน่วยบริการ 80% เเก้ รพ.ขาดทุน
หมอรัชตะ เผยที่ประชุมบอร์ดสปสช.หารือปม รพ.ขาดทุน เห็นชอบให้ สป.สธ.และ สปสช.จับมือแก้ปัญหา มอบ สปสช.เร่งจัดสรรเงินกองทุนบัตรทองปี 58 ถึงมือหน่วยบริการ 80% ใน เม.ย.นี้ เน้นกลุ่ม รพ.พื้นที่เสี่ยง ทุรกันดาร
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สปสช.ว่า จากกรณีมีกระแสข่าวว่า รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาปัญหาสถานะทางการเงินและปรับปรุงระบบการเงินและบัญชีของหน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. ที่มี นางสาวนวพร เรืองสกุล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)เป็นประธาน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมบอร์ดสปสช.ได้รหารือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ สป.สธ.และสปสช.ร่วมมือกันแก้ไข รพ.ขาดทุน โดยให้ สป.สธ.และ สปสช.ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับคณะกรรมการชุดนี้ เเละให้ สปสช.เร่งรัดการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 เข้าสู่หน่วยบริการภายในเมษายน 2558 นี้ ให้ได้ร้อยละ 80 ของงบเหมาจ่ายทั้งหมด
โดยเน้นกลุ่มรพ.ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงทางการเงิน เช่น ในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง รพ.ตามชายแดน และพื้นที่ทุรกันดาร เป็นต้น ขณะเดียวกันให้เตรียมจัดสรรเงินงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2559 ที่จะได้รับเพิ่มเติม 10,000 ล้านบาท ให้ถึงมือหน่วยบริการอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว
ประธานบอร์ด สปสช. กล่าวอีกว่า สป.สธ.จะเน้นการพัฒนาระบบบริการ และการบริหารจัดการของ รพ.แต่ละจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จัดระบบการส่งต่อผู้ป่วย และให้มีการช่วยเหลือกันแบบพี่ช่วยน้องและน้องช่วยพี่ทั้งในระดับจังหวัดและเขต ซึ่งเป็นแนวทางที่ สป.สธ.ยึดถือดำเนินการมาอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้พัฒนาขึ้นอีก
“การทำงานระหว่าง สป.สธ. และ สปสช.มีทิศทางไปในทางเดียวกันดีมากขึ้น ในส่วนของปัญหา รพ.ขาดทุนนั้น เชื่อว่า หลังจากที่คณะกรรมการฯ ชุดที่มี นส.นวพร เรืองสกุล เป็นประธานได้ดำเนินการ จะสามารถหาปัญหาข้อเท็จจริง และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ตามหลักการวิชาการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ"
ศ.นพ.รัชตะ ระบุเคยย้ำหลายครั้งว่า ความจำเป็นของการตั้งคณะกรรมการนี้ก็เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงกับสาเหตุที่เกิดขึ้นจริง มีการแก้ไขจริง และเห็นผลจริง ที่สำคัญคือเป็นการแก้ไขที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและเห็นพ้องร่วมกัน หากไม่ตั้งคณะกรรมการเป็นคนกลางมาดำเนินการท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างกัน ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ไม่ผ่อนคลาย ซึ่งผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้น่าจะได้เร็ว ๆ นี้
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม บอร์ด สปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาระหว่าง สป.สธ. และ สปสช.นั้น แม้จะเห็นต่างกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นความเห็นต่างที่ต้องการพัฒนาระบบให้ดีขึ้น ซึ่งในกรณีแบบนี้ สิ่งสำคัญคือต้องร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่บอยคอตกันอย่างที่ผ่านมา หากทำแบบนั้น ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ ที่สำคัญทั้ง 2 หน่วยงานต้องมองการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มาก อย่ามองแค่ประชาชนเป็นผู้ป่วย เป็นผู้รับบริการอย่างเดียว แต่มองประชาชนในฐานะพลเมืองที่สามารถเสนอแนวทางได้ว่าต้องการอะไรจากระบบนี้ด้วย
“สป.สธ. ไม่ใช่ของปลัด สธ. หรือของรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน สปสช.ก็ไม่ใช่ของ เลขาธิการหรือของบอร์ด สปสช.เท่านั้น แต่พวกท่านกำลังทำหน้าที่แทนประชาชน ดังนั้น 2 หน่วยงานต้องจับมือกันทำงาน และ รพ.ต้องมีการปฏิรูปการบริหารจัดการและเปิดโอกาสคนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการดูแลงานและเลือกผู้บริหารของ รพ.มากขึ้นด้วย” บอร์ด สปสช. กล่าว .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์สปริงนิวส์