สื่ออาวุโส ชี้ปัญหานักข่าวรุ่นใหม่หวงเวลาส่วนตัว ไม่กล้าตั้งคำถาม
‘ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์’ เปรียบนักข่าวมีมากเหมือนเม็ดทราย เเต่หาเพชรเเท้ยาก ชี้ปัญหานักข่าวรุ่นใหม่หวงเวลาส่วนตัว ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่เคร่งครัดจรรยาบรรณ แนะสร้างจิตสำนึกวิชาชีพ ด้านนักวิชาการชี้ศักยภาพอาจารย์สื่อฯ ด้อย เป็น ดร.ใบอ่อน แนะทิศทางพัฒนาบุคลากรสื่อ ส่งเสริมเรียนต่อปริญญาโท
วันที่ 3 เมษายน 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม, สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 9 เรื่อง การปฏิวัติคนข่าว:ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ ณ อาคารอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผอ.สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการพัฒนาบุคลากรสื่อว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนมักไม่เคร่งครัดเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพเท่าที่ควร ดังนั้นจะต้องสร้างให้มีจิตสำนึกในวิชาชีพอย่างแท้จริง ซึ่งสถาบันอิศราฯ มีหลักสูตรอบรมระยะสั้นที่มุ่งเน้นเนื้อหาเป็นหลัก ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หลายสำนักกลับไม่อนุญาตให้บุคลากรเข้ารับการอบรม โดยอ้างเหตุผลบุคลากรไม่เพียงพอ หรือมองเป็นเรื่องไร้สาระ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มมีหลายแห่งประสงค์ขอเข้าอบรมมากขึ้นแล้ว
“นักข่าวรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไป หวงแหนเวลาส่วนตัว ไม่อยากทำงานวันเสาร์ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทุ่มเท ผิดกับสมัยก่อนที่เฝ้าข่าวดึกดื่นไม่เคยบ่น ส่วนจะแก้ไขอย่างไรให้ยั่งยืน ตอบไม่ได้” ผอ.สถาบันอิศราฯ กล่าว และว่า นักข่าวมีจำนวนมาก แต่ไม่กล้าถาม ปล่อยให้ถามอยู่คนเดียว เม็ดทรายเต็มไปหมด แต่หาเพชรยาก ดังนั้นเจ้านายต้องรู้จักมอบหมายประเด็น แนะนำวิธีตั้งคำถาม เชื่อว่าทุกคนจะมีผลงาน แต่หากอยู่ทำเนียบ 10 ปี ไม่เคยได้ยินเสียงตั้งคำถาม คิดว่าเป็นปัญหาแล้ว
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า เราถูกการจัดวางระหว่างข่าว โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี เป็นไปได้อย่างไร เมื่อผู้นำประเทศยืนแถลงข่าว แล้วนักข่าวนั่งกับพื้น แค่ยืนเป็นเจ้าขุนมูลนาย แล้วถูกโยนกระดาษใส่หัว ยอมได้อย่างไร ซึ่งหลายคนบอกมีกล้องตั้งเยอะ ไม่รู้จะอยู่ตรงไหน เลยต้องนั่งกับพื้น ทั้งที่ยืนอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาในแง่การนำเสนอวิชาชีพอย่างภาคภูมิใจ แต่ก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย ไม่ใช่ภาคภูมิใจบนพื้นฐานความกลัว
ด้านดร.สุรศักดิ์ จิระวัสต์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาพสื่อในตลาดขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก บุคลากรในสื่อหนังสือพิมพ์ถูกดึงตัวไป โดยขาดความรู้ความสามารถโดยตรง ถึงขนาดองค์กรบางแห่งรับสมัครนักศึกษาจบใหม่มีนโยบายไม่รับผู้ไม่เล่นสื่อออนไลน์เลย เพราะถือว่าไม่รู้จักเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
“ในอดีตมีอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งให้อาจารย์ไม่มีทักษะด้านนิเทศศาสตร์โดยตรงมาสอน จึงไม่แปลกใจที่นักศึกษาจบใหม่เขียนไม่ได้” อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวฯ กล่าว และว่า ปัจจุบันวงการสื่อต้องการผู้มีความรู้ความสามารถด้านกราฟฟิกดีไซน์มาก และต้องมีความรู้ด้านกฎหมายด้วย
ดร.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อาจารย์ในสถาบันการศึกษาต้องสอนให้นักศึกษามีความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น ทำอย่างไรให้มีโอกาสพัฒนา เพราะส่วนใหญ่เมื่อจบการศึกษา มักจะมีความสามารถด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ความรู้กลับไม่รับการปูพื้นฐานหรือไม่ทำการบ้านมากก่อน แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ การคิดว่าตัวเองเรียนจบนิเทศศาสตร์มาเป็นคนเก่ง ทั้งที่อาจแพ้สาขาเศรษฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ก็ได้
ขณะที่ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงศักยภาพอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ไม่มีประสบการณ์ ยกเว้นบางคนที่เคยทำงานในวิชาชีพสื่อมวลชน แต่ส่วนใหญ่เป็น ดร.ใบอ่อน ใบเขียว เรียนจบมาได้เพียงวุฒิการศึกษา แต่สอนอะไรไม่ได้ ประกอบกับผู้เรียนไม่ค่อยอยากเรียน แรงจูงใจ ผลสัมฤทธิ์ต่ำ
โดยทางออกต้องส่งเสริมด้านทักษะทางสังคมและเรียนรู้จากประสบการณ์ให้มากขึ้น พร้อมร่วมกันออกแบบหลักสูตรในเรื่องจำเป็น ไม่ใช่ออกแบบตามใจชอบ แต่ใช้ไม่ได้จริงหรือไม่มีบทบาททางสังคม ภายใต้การรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร นิด้า กล่าวว่า ถ้าสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก เป็นไปได้หรือไม่ให้ทุนการศึกษาปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนแก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเหมือนแพทย์ พร้อมเปิดหลักสูตรปริญญาโทมากขึ้น และให้นักข่าวเรียนเพื่อพัฒนาศักยภาพ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญให้รู้สึกว่า มีความเป็นวิชาชีพ ไม่ใช่แค่บทบาทนายทุนหรือธุรกิจ