"ปฏิรูปแต่ละเรื่องหินหมด แตะตรงไหนก็มีปัญหา" ปธ.สปช.เปิดใจหลังรับหน้าเสื่อทำงาน
“ที่ผมอาสามายืนอยู่ตรงนี้ เพราะวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 ก่อนที่จะมีรัฐประหาร ผมเห็นแต่คนพูดเท็จ ไม่เห็นมีใครสักคนที่พูดจริง การนำเสนอข่าวของสื่อหลายสำนักไม่ตรงกันเลยไม่รู้จะเชื่อใคร พอเป็นแบบนี้ก็รู้แล้วว่าสังคมไทยอยู่ต่อไปไม่ได้มีวิกฤติหนักคนโกหกไม่ใช่แค่โกหก แต่ยังอำพรางความจริง ปกปิดบางส่วน ส่วนคนรู้ข้อมูลทั้งหมดก็นิ่งเงียบ”
เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งในงาน 106 ปี ศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน รำลึก เรื่อง “มหาวิทยาลัยกับโอกาสแห่งการสร้างสรรค์เพื่อการปฏิรูปประเทศ ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ว่า
ประธานสปช. กล่าวถึงความขัดแย้งว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทย แต่ความขัดแย้งมีอยู่ทั่วทุกย่อมหญ้า และมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง ครอบครัวก็ทะเลาะกัน ภายในมหาวิทยาลัยก็มีความขัดแย้งกัน หากไม่มีซึ่งความขัดแย้งทางความคิดแล้วสังคมจะเป็นเช่นไร มีความสงบเกินไปหรือไม่ พร้อมกับตั้งคำถาม เป็นไปได้หรือที่คนหมู่มากอยู่ด้วยกันโดยไม่มีความขัดแย้ง
ดร.เทียนฉาย กล่าวว่า ขณะที่เกิดความขัดแย้งคำว่า "ปฏิรูป" จึงเป็นคำพูดที่ติดตลาด ปฏิรูปคืออะไร มีประเด็นอะไรที่เป็นเรื่องปฏิรูปก็ยังไม่มีคำตอบ แต่เมื่อรับหน้าเสื่อไปแล้ว การจะปฏิรูปมีหลายเหตุผลมากและจะให้ทำทุกอย่างคงไม่ได้ เพราะไม่มีเวลา
"ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาก็เป็นไปอย่างยากลำบากมีปัญหาเต็มไปหมด แตะตรงไหนก็มีแต่ปัญหา ไม่ได้อยากจะทำให้คนไทยต้องตื่นตระหนกหรือเซ็งในชีวิต แต่ในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมามีหลายเรื่องโผล่มาเป็นปัญหา บ้างคือปัญหาที่สะสมมานานแรมปี สะสมมานานแรมสิบปีก็มี"
ยกตัวอย่างกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน เชื่อมโยงไปยังวัดใหญ่ไปสู่นิกาย ความเชื่อการเผยแพร่
ต่อมาต้องมาตกใจเรื่องของการบินพลเรือนที่ห้ามบินเข้าประเทศญี่ปุ่น เพราะศักยภาพในการได้รับใบอนุญาตในการบินตรวจแล้วตรวจอีก ตรวจมา 10 ปี ยิ่งตรวจคะแนนก็ยิ่งต่ำ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น มีปัญหาตรงไหน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ แต่เป็นปัญหาที่สะสมมานาน ตั้งแต่อธิบดีกี่คนผ่านมาแต่ไม่คิดจะทำอะไรเลย หรือเพราะจุดอ่อนของระบบราชการไทยที่อธิบดีมีวาระในการบริหารสั้นเกินไป สั้นจนแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อเนื่องไม่ได้
ดร.เทียนฉาย กล่าวอีกว่า เมื่อมองปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ เรารู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ก่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 รู้ว่ามีปัญหาการกระจายรายได้ การถือครองที่ดิน หลังจากนั้น 15 ปี ปัญหาเหล่านี้ก็ขยายตัวสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น มีความต่างระดับชนบทกับเมือง และเมืองกับกรุงเทพมหานคร คนรวยในกรุงเทพ 20 คนถือครองที่ดินเกิน 50% ช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยห่างขึ้น แม้ปัญหาเหล่านี้จะเกิดมาชั่วนานตาปี แต่ก็แก้ไม่เคยสุด และกลายเป็นปัญหาสะสมจนเป็นรากฐานของความขัดแย้งทางสังคม บานปลายมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขมขื่น และทำให้ย่ำรุ่งของวันที่ 22 พ.ค. 2557 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้น
"เมื่อเริ่มต้นการจัดการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. 2557 คนที่ทำรัฐประหารก็เก้ๆกังๆว่าจะทำอะไรต่อ เพราะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นพลเรือนชั่วคราว หลายคนคงจำได้ว่าก่อนวันที่ 22 พ.ค.นั้น ทุกคนพูดแต่เรื่องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ปฏิรูปในวันนั้นหมายถึงอะไร หลายกลุ่มคิดสูตรสำเร็จมาว่าต้องทำ 1 2 3 4 5 ทหารเองก็ทำคู่มือเป็นเล่ม สุดท้ายก็มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นมา และตามมาด้วยสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ผมย้ำตรงนี้ว่า เขาไม่ได้ให้สปช.มีหน้าที่ปฏิรูป เพียงแต่ให้หน้าที่มาคิดและเสนอแนะเท่านั้น คนที่มีหน้าที่จริงๆคือนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจ รัฐมนตรีต่างๆที่อยู่ในกระทรวงทบวงกรม
ที่ผมอาสามายืนอยู่ตรงนี้ เพราะวันที่ 21 พ.ค.2557 ก่อนที่จะมีรัฐประหาร ผมเห็นแต่คนพูดเท็จ ไม่เห็นมีใครสักคนที่พูดจริง การนำเสนอข่าวของสื่อหลายสำนักไม่ตรงกันเลยไม่รู้จะเชื่อใคร พอเป็นแบบนี้ก็รู้แล้วว่าสังคมไทยอยู่ต่อไปไม่ได้มีวิกฤติหนักคนโกหกไม่ใช่แค่โกหก แต่ยังอำพรางความจริง ปกปิดบางส่วน ส่วนคนรู้ข้อมูลทั้งหมดก็นิ่งเงียบ"
ประธาน สปช. กล่าวด้วยว่า วันนี้ต้องหากรอบความคิดของการปฏิรูปให้ได้ ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ทำคือพยายามถามความเห็นกับผู้คนต่างๆ ในส่วนที่เหลือก็ต้องมีการเจาะประเด็น ต้องปรับพฤติกรรมระบบ โครงสร้าง เช่น เรื่องการศึกษาของชาติ และต้องไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาที่ผ่านมาของวันนี้ ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะของวันนี้ แต่การแก้ปัญหาเชิงปฏิรูปต้องมองอนาคตด้วย ดังนั้นจึงได้ขอให้มีกรรมาธิการที่มองภาพอนาคต พอมองแบบนั้นประเทศไทยจะเกิดความสว่างทันที เป้าของการปฏิรูปต้องปรับเพื่อรองรับประเทศไทยข้างหน้า การศึกษาฟรี 12 ปี จะพอหรือไม่ในอนาคต เราต้องการแค่ให้คนจบม.6 แค่นั้นหรือ ต้องการความรู้3ภาษา หรือ 2ภาษาเช่นเดิม นี่คือเรื่องที่ต้องคิด
“ส่วนการแข่งวันนี้ลำบากเพราะเศรษฐกิจเราแย่ และแย่กันทั้งโลก ดังนั้นต้องกัดฟันหน่อยอย่าเพิ่งตัดพ้อต่อว่าใคร ต้องดึงคนให้มีคุณภาพ แต่การศึกษาของไทยก็ไม่ได้ช่วยดึงคนให้มีคุณภาพเท่าไหร่หนักและที่สำคัญสังคมผู้สูงวัยเราเดินมาเร็วมาก ซึ่งการพัฒนาของเราเองทำให้เราอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง”
สุดท้ายการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ดร.เทียนฉาย กล่าวด้วยว่า การจัดการเรื่องที่ดินวันนี้ต้องซีเรียส เพราะขึ้นไปเนินไหนก็ผิดกฎหมายหมด เมื่อวานก็เจอสนามแข่งรถ โครงสร้างทางภาษีนี่ก็ต้องทำ แต่ละเรื่องหินหมด และมหาวิทยาลัยเองต้องทำในที่ในการช่วยเหลือประเทศและไม่สร้างความขัดแย้ง เปลี่ยนความขัดแย้งให้เข้าสู่ระบบวิชาการอย่าทำให้สถาบันการศึกษามีข้าง ใครมีข้างให้ออกไปทำข้างนอกแสดงข้างนอกอย่าใช้มหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือ