ส.ศิวรักษ์-โคทม-นักสิทธิฯ ซัด ม.44 เหล้าเก่าขวดใหม่-ปชช.ไร้หลักประกัน
"ส.ศิวรักษ์-โคทม" ซัด เลิกกฎอัยการศึกแต่คำสั่งใต้ ม. 44 เหล้าเก่าในขวดใหม่ เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ยิ่งกว่า-ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ห่วงชายแดนใต้ยังไม่ยกเลิกกฎอัยการศึก พ่วงกม.พิเศษซ้่้ำซ้อน หวั่น ปชช.สับสน
ภายหลังจากราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึก โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และมีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ โดยอาศัยอํานาจ ตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557 มีคําสั่งทั้งสิ้น 14 ข้อ
( อ่านประกอบ : เปิดคำสั่งม.44 แทนกฎอัยการศึก อำนาจล้น ปิดสื่อ-ตรวจค้น ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหาย )
วันที่ 2 เม.ย.2558 นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 คล้ายกับเป็นการให้อำนาจข้าราชการทหารเป็นหลัก เหมือนกับอำนาจที่บางส่วนก็สามารถบังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน
“กล่าวได้ว่ามันเหมือนกับเหล้าเก่าในขวดใหม่ ถามว่าในส่วนตัวกังวลไหม ผมเห็นว่าประเด็นข้อหนึ่งที่กังวลคือส่วนที่ระบุว่ามีการอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปยึด อายัดทรัพย์สิน คือการดำเนินการตาม ข้อ3 ที่มีอยู่ 4 สถาน คือในส่วนความผิดเรื่องอาวุธปืนนั้นพอเข้าใจได้ แต่ในส่วนที่ระบุว่าเป็นการขัดคำสั่ง คสช. นี่ คำสั่ง คสช.มีอยู่หลายคำสั่งนะ แล้วเมื่อเข้าไปในเคหสถาน ไปเจอทรัพย์สินแล้ว เมื่อพบว่ากระทำความผิดก็สามารถให้ยึดหรืออายัดทรัพย์ ต่างๆ นั้นได้ ประเด็นที่สองเมื่อเห็นว่าใครขัดคำสั่ง คสช. ก็สามารถบังคับไม่ให้ คนๆ นั้น ทำธุรกรรมทางการเงิน ก็เหมือนกับว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ก็สามารถปรับหรือมีคำสั่งอายัด"
นายโคทมกล่าวว่า อีกเรื่องที่ไม่ต่างจากเดิมก็คือเรื่องที่ว่าผู้ใดมั่วสุมชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป จำคุก ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ในตอนแรกอาจคิดไปว่าเขาจะผ่อนคลายให้มีการแสดงออกทางการเมือง แต่สรุปก็ไม่ได้ผ่อนคลาย ก็ยังเข้มข้นอยู่
"คล้ายๆ เดิม แม้จะอ้างว่ายกเลิกกฎอัยการศึก แต่เขาก็ยังใช้เนื้อหาของกฎอัยการศึก"
นายโคทมระบุ และกล่าวด้วยว่าประเด็นที่กังวลและอยากให้มีการผ่อนคลายไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการยกเลิกกฎอัยการศึกเท่านั้น แต่คือเรื่องของการยกเลิก ไม่ให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร เนื่องจากคดีทั่วไป อาทิ การกระทำผิดเรื่องครอบครองอาวุธปืน หรือคดี ความมั่นคง มาตรา 112 หรือ 115 ตามคำสั่งดังกล่าวนั้น ขึ้นศาลพลเรือนก็พอแล้ว เพราะผู้ถูกจับกุมคือพลเรือนไม่ใช่ทหาร "ที่ผมกังวลเป็นเรื่องในกระบวนการยุติธรรม คืออยากให้มีการถ่วงดุล ไม่ควรรวมศูนย์อยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” นายโคทมระบุ
ด้าน สุลักษณ์ ศิวรักษ์หรือ "ส.ศิวรักษ์" ปัญญาชนสยาม อดีตบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไม่ต่างจากกฎอัยการศึก
"คุณเอาขวดใหม่แต่เหล้าเก่า เจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่เป็นคนฉ้อฉล ประชาชนจะทนไหวหรือ ผมเตือนคุณประยุทธ์ ด้วยความหวังดี”
ส.ศิวรักษ์ กล่าวว่า "ขณะนี้ประชาชนไม่มีหลักประกันอะไร คุณประยุทธ์ไม่สามารถคุมลิ่วล้อต่างๆ ได้ ทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่หากินร่วมกับผู้มีอำนาจในท้องถิ่น คุณประยุทธ์อาจไม่ได้ตั้งใจแต่อาจมองไม่ทั่วถึง กฎหมายนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นรังแกราษฎรได้สบายๆ เลย"
ด้านนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าก่อนหน้านี้ภายใต้กฎอัยการศึก ทหารไม่มีอำนาจสอบสวน แต่การใช้อำนาจภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตามที่มีคำสั่งปรากฏเมื่อคืนนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจสอบสวนด้วย สิ่งที่กังวลคือใครจะสามารถไปตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว
"นอกจากนี้ การที่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมควบคุมตัวโดยอำนาจนี้ ไม่รู้ว่าถูกนำไปคุมตัวที่ไหน ญาติเยี่ยมไม่ได้ ที่ผ่านมาการเข้าถึงตัวบุคคลที่ถูกจับกุมเข้าถึงได้ยากมาก การตรวจสอบก็ไม่มี เราจะมีหลักประกันอะไร ที่จะให้เชื่อมั่นว่าการใช้อำนาจภายใต้คำสั่งใหม่นี้ เป็นไปอย่างเคารพสิทธิมนุษยชน"
นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ตนกังวลเป็นประเด็นที่หนึ่งคือ จะมีการประกาศหรือไม่ ว่าสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่ไม่ใช่เรือนจำและไม่ใช่สถานีตำรวจตามคำสั่งนี้แล้วคือที่ไหน
“เราอยากให้เขาระบุว่า สถานที่ควบคุมตัวตามคำสั่งนี้คือที่ไหน เพื่อให้องค์กรสิทธิมนุษยชน ญาติของผู้ต้องสงสัยเข้าถึงได้ เพราะไม่เช่นนั้น อาจเข้าข่ายการควบคุมตัวโดยมิชอบ โดยพลการ”
นอกจากนี้ นางสาวพรเพ็ญกล่าวถึงความกังวลของการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คำสั่งที่ 3/2558 ตามอำนาจมาตรา 44 ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้นั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 จะมีการประกาศว่าเจ้าหน้าที่คนใดทำหน้าที่ภายใต้ตามคำสั่ง กอ.รมน. ซึ่งในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า การปฏิบัติหน้าที่ภายใต้มาตรา 44 นี้ ก็อาจจะมีประกาศเช่นนั้น แต่ไม่มีการเปิดเผยคำสั่งสู่สาธารณะ ดังนั้น จะแยกแยะได้ยากมากว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ที่ใช้คำสั่ง คสช. ใครเป็นเจ้าหน้าที่ที่ใช้คำสั่งกฎหมายบ้านเมืองปกติ อาจมีความสับสนกัน
"ในฐานะประชาชน เราไม่รู้ว่าเราจะปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่แบบไหนอย่างไร เราเห็นคุณเป็นร้อยโท หากคุณมาจับเรา จับด้วยอำนาจอะไร ตามคำสั่ง คสช. หรือ ตามกฎหมายปกติ หรือกฎหมายอะไร มันมีความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน อาจมีการใช้ดุลยพินิจที่อาจมีความผิดพลาดในอำนาจสั่งการและอาจนำไปสู่การปฏิบัติต่อประชาชนอย่างน่าเป็นห่วง
นางสาวพรเพ็ญกล่าวว่า การประกาศหรือระบุให้ชัดถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ มีความสำคัญในแง่ของความรับผิดชอบ ถ้าหากมีการทำอะไรเกินเลย ทำอะไรในเชิงทุจริต เราก็จะได้สามารถรายงานต่อผู้บังคับบัญชาได้เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อไม่ได้นำคำสั่งนี้ไปทำอะไรไม่ดี ดังนั้น ต้องเปิดเผย ชัดเจนโปร่งใส เพื่อให้ฟ้องผู้บังคับบัญชาได้ในกรณีพบว่ามีการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่
นางสาวพรเพ็ญกล่าวด้วยว่า เนื่องจากการยกเลิกใช้กฎอัยการศึกไม่รวมถึงการประกาศใช้กฎอัยการศึกที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ 19 พ.ค.2557 ดังนั้น ในตอนนี้ สามจังหวัดภาคใต้จึงมีทั้งกฎอัยการศึก, พรก. ฉุกเฉิน, พ.ร.บ. ความมั่นคงในบางอำเภอ, มีกฎหมายปกติ และกฎหมายภายใต้มาตรา 44 นี้ ดังนั้น อยากเสนอให้ คสช. ออกแบบชุดเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใหม่นี้ ให้แตกต่างจากทหาร
"เพื่อให้แยกแยะว่าบุคลากรของคุณเป็นผู้ใช้อำนาจนี้ เพื่อให้รู้ว่าเราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างไร เพื่อกันประชาชนสับสน เพราะไม่รู้ว่าใครใช้อำนาจอะไร สนธิกำลังปะปนกันไปหมด เวลาสอบสวนข้อเท็จจริง หรือหากมีการร้องเรียน ดำเนินคดี ก็ทำได้ยาก เมื่อเกิดอะไรขึ้นเป็นเรื่องยากมาก จึงขอให้มีเครื่องแบบใหม่เพื่อกันความสับสน” นางสาวพรเพ็ญระบุ และกล่าวด้วยว่าขณะนี้กฎหมายในประเทศ เสมือนว่าจะไม่มีการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว เพราะ คำสั่ง คสช. ฉบับ นี้ได้ยกเว้นหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่างๆ หลายฉบับ
ภาพประกอบจาก : อินเทอร์เน็ต