“ดร.ซุป ศุภชัย” : ผมให้กำลังใจทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
“เรื่องเศรษฐกิจไม่มียาวิเศษ ไม่มียาเพนิซิลลิน ฉีดปุ๊บหายปั๊บ ไม่มีหรอกครับ เรื่องของยาด้านเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลาทั้งนั้น แล้วทำรัฐบาลเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำต่อเนื่องกัน”
เช้าวันที่ 1 เมษายน หลังจากปาฐกถาพิเศษเรื่อง “พัฒนบริหารศาสตร์ โลกาภิวัตน์ และการพัฒนาที่สมดุลยั่งยืน” ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครบรอบ 49 ปี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) “ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เปิดวงสนทนาให้สัมภาษณ์นักข่าวกลุ่มเล็กๆ ว่าด้วยมุมมองเศรษฐกิจไทยในหลายประเด็นที่น่าสนใจ
“ผมมองว่าการลงทุนของรัฐบาลเกี่ยวกับการโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวดีและถูกต้อง แต่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำให้โครงการเชื่อมต่อกัน เช่น รถไฟเชื่อมจากหนองคายไปกรุงเทพฯ ไปมาบตาพุด รัฐบาลต้องเริ่มอยู่แล้ว และต้องทำให้เร็ว” ดร.ศุภชัย กล่าว
“แต่ที่ผมอยากเห็นเพิ่มเติมก็คือ เวลานี้เป็นช่วงจังหวะเงินถูก ควรจะทำโครงการใหญ่ๆ และสำคัญยกตัวอย่างเช่น โครงการปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งเคยเป็นโครงการที่บอกว่าล้มเหลว แต่ที่ล้มเหลวก็เพราะไปตั้งกรรมการปุ๋ยแห่งชาติขึ้นมาในลักษณะเหมือนกับการผูกขาดปุ๋ย แล้วปล่อยให้เอกชนไปผูกขาดปุ๋ย”
“ผมคิดว่า ปุ๋ยแห่งชาติเป็นความคิดที่ดีมากและควรจะนำกลับมาทำใหม่ หากจะช่วยการเกษตรต่อไป หนึ่งในเรื่องที่ต้องช่วยคือ ทำให้ปุ๋ยถูกให้ได้ เวลานี้เราอุดหนุนปุ๋ยทุกปี แต่ดีที่สุดคือ เราผลิตปุ๋ยเอง แล้วนำเงินที่อุดหนุนเกษตรกรมาอุดหนุนโรงงานปุ๋ย จะทำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยดีขึ้น เพราะเป็นปุ๋ยจากรัฐบาลไม่ใช่ปุยที่พ่อค้ามาขายให้”
อีกโครงการหนึ่งและสำคัญมากที่อยากเห็นรัฐบาลทำคือ “โครงการทวาย” เพราะทวายจะเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2 เราโตมา 30 ปีหลัง เพราะอีสเทิร์นซีบอร์ด มีการลงทุนมโหฬารเป็นแสนแสนล้าน ทั้งปิโตรเคมี ทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ ฯลฯ
“เรากำลังต้องการโครงการแบบนี้ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะโครงการทวายไม่ใช่แค่การสร้างถนนอย่างเดียว แต่เราต้องทำต่อเนื่องให้เศรษฐกิจด้านตะวันตกของไทยไปลงทุนที่ทวายได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจทวายที่จะเกี่ยวข้องกับท่าเรือน้ำลึก มันจะใหญ่กว่าอีสเทิร์นซีบอร์ดอีกเท่าตัว”
“ที่สำคัญคือจะโยงกับความต้องการด้านพัฒนาอุตสาหกรรมของพม่า กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง(CLMV) และไทยด้วย คือทั้งกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง อย่างนี้จะเป็นการกระตุ้นการลงทุนที่จะเห็นหน้าเห็นหลังจริงๆ แล้วจะช่วยสร้างระยะยาวให้เราอยู่ด้วยกันไปตลอด รวมทั้งช่วยเสริมสร้างให้เกิดการค้าในภูมิภาคด้วย” “ดร.ศุภชัย กล่าว
นักข่าวถามเรื่องทิศทางการส่งออกของไทย? “ดร.ศุภชัย” ให้มุมมองว่า ...ผมเชื่อว่ารัฐบาลทำเต็มที่แล้ว แต่ตลาดเก่าๆของเราเป็นตลาดที่กำลังซื้อไม่ไหวแล้ว เวลานี้ยุโรปดีใจมากว่าค่าเงินเขากำลังตกต่ำ เขาอยากจะขายของอย่างเดียว อเมริกาก็อยากจะขายของ ญี่ปุ่นก็อยากจะขายของอย่างเดียว
ฉะนั้น เวลานี้เกิดปัญหาเป็นสงครามของอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Currency war ญี่ปุ่นก็ลดเงินเยนมาก เงินยูโรก็ต่ำมาก มีเพียงดอลล่าร์ที่ขึ้น เพราะยูโรมันตกลง นี่เป็นสงครามที่อาจจะลำบาก
ผมจึงคิดว่า การส่งเสริมการส่งออก เราควรใช้เงินบาทซื้อ Value Chain ของเราให้ดี เพราะวันนี้เรามีหลาย Value Chain ที่เก่งๆ เช่น อาหาร เมดิเคิล ทัวริซึ่ม เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ควรลงทุนให้คนไทยมีโอกาสซื้อ Value Chain
“วันนี้ตลาดโลจิสติกส์ ตลาดห้างสรรสินค้า เขาก็ไปซื้อในยุโรป เป็นสิ่งที่ต้องกระตุ้นช่วยกันทำ เพราะฉะนั้น นโยบายของบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) มีแล้ว แต่ว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราแยกออกมา เพราะบีโอไอเป็นการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาในประเทศ ขณะที่ผมคิดว่าเราจะต้องไปลงทุนข้างนอกเพื่อไปยึดตลาด ไปสร้าง Value Chain ของเราขึ้นมา”
เช่น ผมทำสิ่งพิมพ์ ผมก็อยากจะมีโรงพิมพ์ผมอยู่ที่ฝรั่งเศส เยอรมัน ต้องเป็นการลงทุนแบบนี้ แล้วขณะนี้โลก60-70 %ของการค้าโลก เป็นการค้าผ่าน Global Value Chain ซึ่ง Value Chain เกิดขึ้นจากสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ออโตโมบิล ซึ่งไทยมีอยู่หลายอย่างในสิ่งที่ว่ามานี้
แต่วันนี้ Chain ของเรายังต่ำ ฉะนั้นเราต้องลงทุน ถ้าบอกว่าบาทแข็ง ก็เอาบาทไปซื้อ Chain เชนพวกนี้เข้ามา เพราะมีบางแห่งเขาทำไว้ เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา ในอาเซียนกลัวเรามาก
ถาม “ดร.ศุภชัย” ว่า มองเศรษฐกิจไทยวันนี้อย่างไร?
เขาตอบว่า “...ผมค่อนข้างผิดหวังว่าทำไมเอกชนไม่ลงทุน เวลานี้เอกชนไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มากมาย ซื้อที่กันเยอะ ซื้อหุ้นกันเยอะ ผมมีความผิดหวังมาก เพราะวันนี้เงินถูกมาก วันก่อนแบงก์ชาติก็ยังลดดอกเบี้ยให้อีก”
ผมจึงสงสัยอยู่ว่า การให้เงินถูกมากๆนำไปสู่การลงทุนทางด้านการผลิตที่แท้จริงหรือเปล่า เพราะขณะนี้มันไม่เกิดขึ้น ถามว่าธุรกิจเอกชนมีหนี้มากเกินไปหรือไม่ ก็ไม่มากเหมือนในอเมริกาหรือในยุโรป ในอเมริกาในยุโรป เดินไม่ออกเพราะหนี้มาก เขาต้องล้างหนี้
หรือเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ คำตอบก็อาจจะมีบ้าง แต่เอกชนต้องบอกให้ชัดเจนว่าอะไร ในอินฟราสตรัคเจอร์ที่ยังขาดอยู่ เป็นไปได้ว่าท่าเรือเวลานี้มีปัญหาในการขนส่ง หรือมีปัญหาเรื่องรถไฟขนส่ง ก็ต้องบอกให้ทางรัฐบาลเขารู้ว่า จะเสริมกันอย่างไร
และประการสุดท้าย ผมมองว่า อาจเป็นเรื่องกฎระเบียบหรือไม่ เพราะวันนี้เรื่องนี้มีปัญหาเยอะมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ภาคส่งออกการเกษตรตกส่วนหนึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องกฏระเบียบ
ภาคการเกษตรตอนนี้ คนที่ซื้อของเราก็จะซื้อของคุณภาพมากขึ้น จะSensitive ต่อทุกเรื่องที่เป็นสิ่งปลอมปน วิธีการเลี้ยง มาตรฐาน การขนส่ง นี่คือเรื่องกฎระเบียบของเราที่เราจะต้องมาเล่นให้ใหญ่ เพื่อตอบโต้ออกไปให้ชัดเจนว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น
แต่ปัญหาหนึ่งคือ กฏหมาย กฎระเบียบของเรามีหลายกระทรวงรับผิดชอบ ผมเคยพยายามอย่างยิ่งให้มาอยู่ที่เดียวกัน แต่ก็ทำไม่ได้ บ้านเราเลยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคุณภาพของสินค้าที่กระจัดกระจายมาก
“นี่เป็นเพียงส่วนเดียวของปัญหาการปฏิรูปโครงสร้างราชการไทย ก็อาจจะเป็นเศรษฐกิจที่ลำบาก เพราะวันนี้เห็นชัดเลยว่า เอกชนไม่ได้ไปกับรัฐบาลเท่าที่ควร” “ดร.ซุป ศุภชัย” วิเคราะห์
กับคำถามสุดท้าย ...ช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล ทีมเศรษฐกิจควรจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่?
“ดร.ศุภชัย” ตอบทันทีว่า “... ผมบอกตรงๆว่าผมเห็นใจทีมเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าทีมเศรษฐกิจเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งที่เรามี แต่ที่น่าเห็นใจคือ เขาทำในสิ่งที่พยายามปรับโครงสร้างจริงๆ เช่น การปฏิรูประบบพลังงาน การปฏิรูปไอที หรือเรื่องเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ที่ผมชอบมาก”
แต่ทั้งนี้ประชาชนต้องเข้าใจหน่อยว่า เรื่องเศรษฐกิจไม่มียาวิเศษ ไม่มียาเพนิซิลลิน ฉีดปุ๊บหายปั๊บ ไม่มีหรอกครับ เรื่องของยาด้านเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลาทั้งนั้น แล้วทำรัฐบาลเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำต่อเนื่องกัน
ปัญหาของประเทศไทยวันนี้ก็คือ เวลาการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เราไม่ทำต่อเนื่อง ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้เริ่มทำไว้ต้องทำต่อ แล้วโครงการที่ผมเสนอไว้เช่น โครงการทวาย อยากให้เขาจับเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ หรือ ปุ๋ยแห่งชาติที่จะช่วยเกษตรกร ส่วนทวายก็จะช่วยทั้งเศรษฐกิจ ทั้งภูมิภาค
“แต่ด้วยเงื่อนไขว่า ใครเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องทำต่อ อย่าไปหยุด ฉะนั้น ผมจึงอยากให้กำลังใจทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดนี้”