คปก.ยัน รธน.ต้องรับรองสิทธิเสรีภาพสื่อ-ห้ามการเมืองครอบงำ
คปก.ยัน รธน.ต้องรับรองสิทธิเสรีภาพสื่อ-ห้ามการเมืองครอบงำ ปฏิรูปสื่อต้องโปร่งใส-ตรวจสอบได้ แนะออกกฎหมายรองรับองค์กรวิชาชีพสื่อฯ
วันที่ 31 มีนาคม 2558 นาย คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
โดย คปก.มีความเห็นว่า เรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเป็นประเด็นสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จึงกล่าวได้ว่าเสรีภาพของสื่อมวลชนคือเสรีภาพของประชาชน
คปก.จึงเสนอแนะให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะต้องคงไว้ซึ่งหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน เพื่อเป็นการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถือเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและฝ่ายการเมืองผ่านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากการนำเสนอของสื่อมวลชน
นอกจากนี้ คปก.ยืนยันให้คงหลักเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติภารกิจในการนำเสนอข่าวตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพได้โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำหรือแทรกแซงภาครัฐ รวมถึงฝ่ายการเมืองหรือเจ้าของกิจการ
อีกทั้ง รัฐธรรมนูญจะต้องคงไว้ซึ่งหลักการข้อห้ามนักการเมืองเข้าครอบงำกิจการสื่อสารมวลชนโดยการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนตามที่ปรากฏในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
“เสนอให้มีกฎหมายรองรับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อเป็นการปกป้องเสรีภาพและความเป็นอิสระของสื่อมวลชน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพสื่อ”
สำหรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อห้ามมิให้กระทำการที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติหรือศาสนา หรือยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ หรือใช้ความรุนแรงระหว่างกันนั้น จะต้องเป็นการบัญญัติให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง คปก.เสนอแนะให้มีการทบทวนกฎหมายที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน และเห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน และต้องสร้างกลไลการตรวจสอบองค์กรกำกับดูแลคลื่นความถี่ให้มีความโปร่งใส-ตรวจสอบได้ โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาทำหน้าที่ดูแลองค์กรดังกล่าวเป็นการเฉพาะ และจะต้องเปิดเผยรายงานการตรวจสอบดังกล่าวต่อสาธารณะเป็นรายไตรมาส