ทดลอง 1 ปี รัฐบาลทุ่ม 600 ล้าน อุดหนุนเงินเด็กแรกเกิด
รัฐไฟเขียว เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เดือนละ 400 บาท/คน เพื่อเป็นการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับครอบครัวที่ยากจน ทดลองประเมินผล 1 ปี โดยต้องมีสัญชาติไทย เริ่ม 1 ต.ค. 58
31 มีนาคาม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแผนพัฒนาเด็กประถมวัย ว่าด้วยโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เดือนละ 400 บาทต่อคน เพื่อเป็นการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้กับครอบครัวที่ยากจน ทดลองประเมินผล 1 ปี โดยต้องมีสัญชาติไทย เริ่มวันที่ 1 ต.ค. 58 ถึงวันที่ 30 ก.ย.59 วงเงินงบประมาณ 600 กว่าล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอเนื่องจากปัจจุบันการเกิดลดน้อยลง เพื่อให้พ่อแม่ได้มีเงินสวัสดิการดูแลเด็กให้มีคุณภาพในอนาคต ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ระบุว่า ไม่ควรจ่ายเกินครอบครัวละ 2 คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิสุทธิ์ ตันตินันท์ เจ้าหน้าที่แผนกนโยบายสังคม องค์กรยูนิเซฟกล่าวว่า รากฐานพัฒนาการของมนุษย์นั้นอยู่ในช่วงตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 6 ปี และเป็นช่วงที่มีการพัฒนาได้รวดเร็วที่สุด ถ้าหากพลาดช่วงนี้ไปแล้ว จะไม่สามารถเรียกกลับมาได้ และจะส่งผลกระทบไปตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ
“ผลจากการศึกษาจาก ศ.ดร. เจมส์ เจ เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพบว่า การลงทุนสำหรับช่วงอายุ 0-6 ปีนั้น จะได้รับผลตอบแทนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น อีกทั้งยังจะได้ผลตอบแทนคืนกลับมาอีก 7 เท่า จากทักษะที่ดีขึ้น ผลการเรียนที่ดีขึ้น รายได้ที่สูงขึ้น การเจ็บป่วยที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านสังคมสงเคราะห์ และอาชญากรรมที่ลดลง”
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางที่กำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เด็กจำนวนมากกลับตกอยู่ในสภาวะที่ลำบาก ตัวอย่างเช่น มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 16 ที่มีร่างกายเตี้ย แคระแกร็น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักพบในกลุ่มเด็กที่ผู้ปกครองมีการศึกษาน้อย นอกจากนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนร้อยละ 18 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีเด็กอายุ 3-6 ปี เพียงร้อยละ 63 ที่มีพัฒนาการด้านการอ่านเหมาะสม และมีเด็กอายุ 3-4 ปี เพียงร้อยละ 75 ที่เข้าเรียนในหลักสูตรประถมวัย
"แม้ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาระบบสวัสดิการ จนกลายเป็นต้นแบบให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น มีการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับเด็กวัยเรียน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า เบี้ยยังชีพผู้พิการถ้วนหน้า แต่สวัสดิการที่ยังเป็นช่องว่างสำหรับเด็กเล็กยังคงมีอยู่"
เจ้าหน้าที่แผนกนโยบายสังคม ยูนิเซฟ กล่าวถึงสวัสดิการที่เป็นช่องว่างว่า มีเด็กเล็กในช่วงอายุ 0 - 6 ปี เพียง 1.2 ล้านคน ที่ได้รับการคุ้มครองด้วยเงินจากการสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม ขณะที่อีกกว่า 4 ล้านคน ไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐเลย ซึ่งบุตรของแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และไม่มีความมั่นคงทางรายได้ โดยทางรัฐมีนโยบายสนับสนุนประชาชนทุกช่วงวัย แต่กลับไม่มีใครมองเห็นช่วงวัย 0 - 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญที่สุด
"จากการหารือของหลายภาคส่วนเห็นว่า อัตราเงินอุดหนุนควรเท่าเทียมกับอัตราล่าสุดที่มีการปรับใช้กับกลุ่มอื่น นั่นคือ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ตามอัตราขั้นต่ำของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้แม่ของเด็กเป็นผู้รับเงินในแต่ละเดือนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าหากเด็กไม่ได้อยู่กับแม่ เงินจะจัดสรรให้แก่ผู้ที่ดูแลเด็ก"นายวิสุทธิ์ กล่าว และว่า โดยงบประมาณโดยรวม จะใช้งบประมาณราวร้อยละ 45 ของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในปี พ.ศ.2558 หรือประมาณ 38,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่จำนวนเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการอื่นๆในไทย อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าเป็นงบที่ไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราเด็กเล็กมีน้อยลง ต่างกับผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในแต่ละปี
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่า การลงทุนสำหรับเด็กช่วงอายุ 0 - 6 ปี จะได้รับผลตอบแทนคืนกลับมา 7 เท่า ถือเป็นการลงทุนระยะยาวที่ได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า เงินถึงมือประชาชนอย่างรวดเร็วและแท้จริง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสในการได้รับทุนช่วยเหลือของเด็ก
ด้านนางปรียานุช ป้องภัย เจ้าหน้าที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวถึงนโยบายเงินอุดหนุนเลี้ยงเด็กเล็กว่า เมื่อรัฐรับข้อเสนอดังกล่าวไปแล้ว กลับปรับจำนวนเงินจาก 600 บาท ให้เหลือเพียง เดือนละ 400 บาทและลดอายุเด็กลงมาเหลือเพียง 0 - 1 ปี ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอที่ยื่นไป
ขณะที่ดร.สมชัย จิตสุชน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าใ การจ่ายเงินอุดหนุนเด็กเล็กนั้น มีผลวิจัยที่ชัดเจนว่าจะส่งผลดีกับประเทศอย่างไร และก็อาจจะมีการป้องกันเพื่อไม่ให้พ่อแม่นำเงินนั้นไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น มีข้อกำหนดว่า เด็กจะต้องฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้เงิน โดยให้พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับรายจ่ายต่างๆ