นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์ สังคมไทยป่วยไข้ เพราะให้ยารักษาผิดมาตลอด!
“ปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยเป็นอย่างนี้เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหมอในยุคไหนจากโรงพยาบาลไหนให้ยาผิดมาโดยตลอด ไม่ได้ให้ยารักษาโรค แต่กลับให้ยากระตุ้นในทุกยุคทุกสมัย”
30 มีนาคม ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เชิญ 3 นักเศรษฐศาสตร์และ 1 นักการเมือง มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่รุมเร้ารัฐบาลคสช.อยู่ในเวลานี้ได้อย่างน่าขบคิด
“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด กล่าวว่า วันนี้ทุกประเทศในเอเชียโตเกิน 5% ขณะที่เมืองไทยโต 3% ถือว่ายากแล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยป่วยคือ ปัญหาด้านปริมาณและคุณภาพแรงงาน และความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย
ดังนั้นโรคแรกที่เจอในประเทศไทยคือ “โรคแก่ก่อนรวย” มีประชากรหรือแรงงานในวัยทำงานน้อยลงเรื่อยๆ จนทำให้เกิดปัญหากการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ทรัพยากรคนวัยทำงานที่จะต้องใส่เข้าไปเพื่อดูแลคนแก่และเด็กมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ทรัพยากรด้านนี้มีประสิทธิภาพน้อยลง
“วันนี้การเจริญเติบโตของคนวัยทำงาน คนไทยอยู่ในระดับต่ำของเอเชียไปแล้ว แม้ประชากรเราจะไม่ลดเหมือนในญี่ปุ่น แต่ถ้ามองไปอีก 5 ปีจะเริ่มลดลง แม้กระทั่งสิงคโปร์ที่เราคิดว่าเขาเริ่มแก่แล้ว ประชากรวัยทำงานเขายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คำถามคือนักลงทุนต่างประเทศย้ายฐานการผลิต เขาจะเลือกประเทศไหน หากแนวโน้มประชากรแรงงานของเรายังมีความเสี่ยง นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่จะเจอในอนาคต”
นอกจากนี้ยังเจอโรคที่ 2 คือ “โรคหย่อนสมรรถภาพ” คุณภาพแรงงานที่ใส่ลงไปในเครื่องจักรเศรษฐกิจไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น และส่งผลให้รายได้ของแรงงานแต่ละคนเริ่มโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง
“ประเทศไทยไม่ได้กำลังเจอวิกฤตขนาดประเทศแตกหรือมีวิกฤตเศรษฐกิจแบบรุนแรง แต่กำลังเข้าไปสู่ภาวะที่โตช้าๆ แทนที่เป็นต้นไม้ที่โตเร็ว เรากำลังจะกลายเป็นบอนไซหรือเปล่า”
“ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา ชี้ว่า ประเทศไทยป่วยมานานมากแล้ว และป่วยสับสน 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตแค่กว่า 30 % ขณะที่มาเลเซียโต 50% อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์โต 60 % เวียดนาม 70%
หรือถอยไป 20 ปี สัดส่วนการส่งออกก็ลดลง สัดส่วนความสามารถในการดูดการลงทุนโดยตรงก็ลดลง เป็นอาการที่เริ่มวิ่งแข่งกับเพื่อนบ้านเขาไม่ได้ 10 ปีที่แล้ว เวียดนามแทบไม่อยู่ในจอเรด้าของนักลงทุนต่างชาติ ห่างจากไทย 14 เท่า แต่ล่าลุดเราห่างจากเขา 1.5 เท่า ทั้งที่เศรษฐกิจเวียดนามเล็กกว่าไทย
นักเศรษฐศาสตร์ ยังวิเคราะห์ว่า นอกจากอาการป่วยทางเศรษฐกิจแล้ว ไทยยังมีอาการป่วยอีกหลายด้าน ที่อาจร้ายแรงกว่า อาทิ ปัญหาสังคม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเยาวชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญหาธรรมาภิบาล
“นี่คือสิ่งสะท้อนว่าโรคที่เรากำลังพูดถึง เราป่วยมานานแล้ว ป่วยหลายโรค ด้วยอาการที่หลากหลาย ไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีต้นตอของโรคเพียงโรคเดียว มีทั้งโรคดั้งเดิมและมีโรคแทรกซ้อนเข้ามา จนต้องรักษาหลายทาง ให้ยาหลายด้าน”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยเป็นอย่างนี้เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหมอในยุคไหนจากโรงพยาบาลไหนให้ยาผิดมาโดยตลอด ไม่ได้ให้ยารักษาโรค แต่กลับให้ยากระตุ้นในทุกยุคทุกสมัย
“นโยบายที่ออกมาจริงๆ ที่เป็นเชิงการรักษาสุขภาพเศรษฐกิจจริงๆมีน้อยมาก แต่เป็นเรื่องของประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาใช้งบฯประชานิยมไปเกือบ 2 ล้านล้าน ลดแลกแจกแถมทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเช็คช่วยชาติ รถยนต์คันแรก จำนำข้าว สิ่งที่เราเห็นตอนนี้เป็นแค่จุดสะท้อนเรื่องที่สะสมแล้วปล่อยคาราคาซังมานาน จนเป็นโรคเรื้อรัง” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว
“ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ” รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไม่ใช่คนป่วย แต่เป็น “คนแก่ที่อ่อนแอ” โดนสาเหตุของความแก่เกิดขึ้นเพราะระบบเศรษฐกิจไทยหมดแรงจะผลิตหรือทำงานต่อเนื่องเนื่องจากใส่การผลิตไปจำนวนมากแล้วจนเกิดความอิ่มตัว อีกประการหนึ่งคือ ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้
ส่วนความอ่อนแอ เกิดจากสาเหตุระยะสั้น มีภูมิคุ้มกันเราค่อนข้างต่ำ เครื่องยนต์ด้านเศรษฐกิจดับไปหลายส่วน ดังนั้นจึงต้องมีทั้งปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นแก้ด้วยการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยทำได้จากนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง โดยเฉพาะนโยบายการคลังที่ยังไม่ได้มีการกระตุ้นพิเศษออกมา
“วันนี้เราเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว เป็นเจตนาดี แต่ปัญหาปัจจุบันมีระยะสั้นด้วย จึงต้องมีเครื่องมือระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เช่น กระตุ้นการบริโภค กระตุ้นความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ส่วนระยะยาว ต้องใช้ R&D และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
ด้าน “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสริมว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเติบโตได้อย่างเก่งแค่ 3%ต่อปี เรียกว่าเป็น New Normal หรือความธรรมดาใหม่ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปประเทศไทยอาจไม่ป่วยก็ได้ แต่เป็นอาการผิดปกติที่เป็นไปตามวัย หรือว่าผิดปกติกันแน่
“คำถามของผมคือ ด้วยทรัพยากรที่เรามีอยู่ทั้งหมด เราควรจะโตมากกว่านี้หรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ แต่ที่ผมมั่นใจคือ วันนี้คุณภาพแรงงานเราด้อยลงไปเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นจากมาตรฐานการศึกษา หรือประเด็นการใช้ที่ดิน มีประสิทธิภาพน้อยมาก หากวัดจากผลผลิตทางเกษตรต่อพื้นที่ต่อไร่ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง รวมทั้งการเข้าถึงทุนก็ยังเป็นปัญหาอยู่”
ทั้งนี้ “กรณ์” ยอมรับว่า นโยบายหลายรัฐบาลที่ผ่านมาล้วนเข้าเกณฑ์ประชานิยมทั้งสิ้น แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาเกิดจากโจทย์ที่สังคมตั้งขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้มีบาทบาทสำคัญในการกำหนดโจทย์ของสังคมคือสื่อมวลชน
“โจทย์ที่สังคมกำหนดภาคการเมืองคืออะไร แล้วใครเป็นคนกำหนดโจทย์ คำตอบส่วนหนึ่งคือ สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญ ถามว่า เวลามีงานสัมมนาแบบนี้ ที่ผมถือว่าเป็นการพยายามที่ตั้งโจทย์สำคัญจริงๆให้กับสังคม มีพื้นที่ข่าวหรือมีระดับความสนใจมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับการตั้งโจทย์หลายเรื่องที่เป็นข่าวดังอยู่ทุกวัน ที่ผมไม่ได้มีความสำคัญเมื่อเทียบกับประเด็นที่พูดคุยในวันนี้ นั่นคือหนึ่งในปัญหา”
“กรณ์” บอกว่า เรื่องการเมือง รัฐธรรมนูญ อาจไม่ใช่ปัญหาสำคัญมากที่สุด แต่ปัญหาสำคัญกว่าคือ คุณรู้หรือไม่ว่าอายุเฉลี่ยเกษตรกรไทย 25 ปีที่แล้ว 31 ปี วันนี้ 50 ปี อีก 10 ปี อายุเฉลี่ยเกษตรกรทั้งประเทศจะอยู่ในวัยเกษียณ ถามว่าใครจะทำนา ไม่มีใครมีคำตอบ แม้แต่มีใครตั้งคำถาม
“ถ้าเป็นไปได้ผมเองก็อยากจะฝ่าด่านในฐานะนักการเมืองในการที่จะพูดถึงเรื่องที่เรามองว่ามีความสำคัญเท่านั้น ซึ่งรับประกันได้ว่าถ้าทำแค่นั้นสอบตก ไม่มีวันที่จะชนะเลือกตั้งแน่นอน นั่นคือ อีกหนึ่งปัญหา แต่ก็ต้องบริหารภายในกรอบของปัญหาและข้อจำกัดที่มี”
“ต้องผสมผสานการตอบโจทย์ระยะสั้น แต่ในขณะเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ เพียงแต่เราต้องหยิบยกประเด็นขึ้นมาว่าประเด็นที่ท้าทายประเทศไทยในระยะยาวมากที่สุดคืออะไร”
“เช่น การปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการทำการเกษตร หากเรามีวิธีที่จะนำเสนอนโยบายที่ตอบทั้งความต้องการระยะสั้นของประชาชนในหลายเรื่องได้ เช่น ดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ดูแลประชาชนอย่างไร แก้ปัญหาเยาวชนอย่างไร ขณะเดียวกันนี่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว” ่
ขอบคุณภาพจาก http://www.posttoday.com/