ภาคปชช.จี้ออกกม.รายงานสารพิษ อุดช่องโหว่การเข้าถึงข้อมูล
มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเล็งผลักดันร่างกฎหมายให้สิทธิประชาชนเข้าถึงข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ ยันที่มีอยู่มีช่องโหว่คนไทยไม่เคยรู้ โรงงานใกล้บ้านใช้สารเคมีปล่อยมลพิษอะไรบ้าง
วันที่ 30 มีนาคม มูลนิธิบูรณะนิเวศ และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนา เรื่อง“มลพิษอุตสาหกรรม กฎหมาย และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของชุภมชน” ณ ห้องเพอริดอท ชั้น 3โรงแรมริชมอนด์ ถ. รัตนาธิเบศร์ จ. นนทบุรี
รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งถึงจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยปัจจุบันมีกว่า 1 แสนแห่ง ในจำนวนนี้กว่า 7 หมื่นแห่งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมประเภทที่ 3 ซึ่งมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และในจำนวนกว่า 7 หมื่นแห่ง ก็มี 1.6 หมื่นแห่งปล่อยของเสียและมีสารเคมีอันตรายไว้ในครอบครอง
"ปี 2555 มีข้อมูลของเสียอันตรายจากกากอุตสาหกรรมในประเทศ 45 ล้านตัน ถูกจัดการไม่ถูกต้องถึง 40% โดย ในจำนวนนี้ 39 ล้านตันเป็นของเสียอันตรายที่ปะปนอยู่กับขยะชุมชน ถูกลอบทิ้งตามสถานที่ต่างๆ ปนเปื้อนอยู่ในดิน สิ่งแวดล้อม กระทบสุขภาพประชาชน"
รศ.ดร.กอบกุล กล่าวถึงนโยบายรัฐบาลที่เร่งส่งเสริมอุตสาหกรรม ขณะที่ปัญหาการจัดการกับกากมลพิษอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับการแก้ไขนั้น เกรงว่า อนาคตปัญหามลพิษจะยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความอ่อนแอของกฎหมายผังเมือง กฎหมายโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำกับดูแลของหน่วยงานในประเทศไทยยังไม่ดีพอ
"การอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เหล่านี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย การที่รัฐบาลอำนวยความสะดวกอนุญาตตั้งโรงงานย่นระยะเวลาจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน จะทำให้ปัญหามลพิษมากขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรมก็ยังไม่คุ้มครองประชาชนเต็มที่ มีบทลงโทษต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงประชาชน และหน่วยงานราชการยังไม่มีข้อมูลโรงงานแห่งนั้นๆมีสารเคมีชนิดใดไว้ในครอบครองบ้าง"
ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงข้อจำกัดกฎหมายโรงงานและกฎหมายสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ยังเป็นการจัดการมลพิษที่ปลายท่อ (end of pipe control) ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะขาดเอกภาพในการจัดการฐานข้อมูล ไม่ครอบคลุมการรายงานแหล่งกำเนิดที่ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม และแม้จะมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารฯ ก็ไม่ครอบคลุมไปถึงข้อมูลสารพิษ
"กฎหมายข้อมูลข่าวสาร แก้ไขไว้ในมาตรา 8 (9) บรรจุเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลสารพิษไปแล้วเมื่อ 3-4 ปีก่อน แต่ปรากฎว่า ถึงวันนี้ก็ยังเป็นแค่ลายลักษณ์อักษร ไม่ถูกนำไปปฎิบัติจริง"นางสาวเพ็ญโฉม กล่าว และว่า ดังนั้น การตรากฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ( Pollutant Release and Transfer Register:PRTR) จึงไม่สามารถไปแทรกได้ในกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งได้
นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานรัฐแห่งใดเลยที่มีข้อมูลการครอบครองสารพิษ การปล่อยมลพิษของภาคอุตสาหกรรม ฉะนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมาย PRTR ขึ้นมาบังคับ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เข้าถึงข้อมูลสารมลพิษได้โดยง่าย
"จากการไปสำรวจความเห็นผู้ประกอบการโรงงานจำพวกที่ 3 ในจังหวัดระยอง ปี 2556 จำนวน 300 บริษัท ส่วนใหญ่เห็นด้วย หากประเทศจะมีการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลตามระบบ PRTR เป็นประจำทุกปี และยินดีปฎิบัติตามกฎหมาย PRTR รวมทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม"
จากนั้นในเวทีมีการระดมความคิดเห็นร่างกฎหมาย PRTR ทั้งการตั้งเกณฑ์บทลงโทษ การตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาเพื่อรวบรวมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ไม่มีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม