กยศ.หวั่นปล่อยกู้ กรอ.ตามแนวคิด “วรวัจน์” ยอดพุ่ง 6 แสน งบบาน
ผจก.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบุแนวคิด รมว.ศธ.กู้กองทุนกู้ยืมไม่ผูกกับรายอนาคต โดยไม่คิดดอกเบี้ยอันตราย ยอดจะพุ่งจาก 3 แสนเป็น 6 แสนราย งบประมาณไม่พอจ่าย ถามหากปล่อยกู้เฉพาะสาขาที่ตลาดต้องการ จะเอาเด็กสายสังคมไปไว้ที่ไหน
นายเสริมเกียรติ ทัศนสุวรรณ รักษาการผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การปล่อยกู้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)ในปีการศึกษา 2555 ควรปล่อยกู้ใน ระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)ชั้นปีที่ 1 ไปก่อน
โดยกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะเป็นผู้ดูแลงบประมาณรองรับการปล่อยกู้เฉพาะในส่วนของผู้กู้รายใหม่ชั้นปี 1 ส่วนผู้กู้ กยศ.รายเก่าระดับชั้นปีที่ 2-4 กยศ.จะเป็นผู้ดูแลต่อไป ทั้งนี้ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ของ กยศ.ไว้ประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุน กรอ.นั้น คงต้องขึ้นอยู่กับ ศธ.ว่าจะผลักดัน พ.ร.บ.ได้รวดเร็วแค่ไหนหรือหากไม่ออกเป็นพ.ร.บ.ก็สามารถออกเป็นระเบียบ กรอ.ได้
นายเสริมเกียรติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแนวคิดของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศธ.จะให้กู้ กรอ.โดยไม่มีเงินเฟ้อและไม่มีดอกเบี้ยนั้นถือว่าอันตราย การปล่อยกู้ กรอ.ครั้งแรกเมื่อปี 2549 กำหนดให้การชำระเงินคืนปรับตามอัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีผู้บริโภคไม่เกิน 5% เทียบแล้วเท่ากับว่าผู้กู้จะเสียดอกเบี้ยในช่วงนั้นประมาณ 3-4% จึงทำให้ผู้ปกครองนักศึกษาไม่กล้าจะกู้กันมาก จากเป้าจะปล่อยกู้ปี 2549 จำนวน 5-6 แสนราย มีผู้มากู้เพียง 3.2 แสนรายเท่านั้น
“แต่หากปล่อยกู้โดยไม่มีเงินเฟ้อและไม่มีดอกเบี้ย จะทำให้มีผู้กู้จำนวนมาก อาจถึง5-6 แสนคน จะต้องใช้งบประมาณมาก แล้วจะเอางบฯที่ใดมาจ่าย ทั้งนี้หาก ศธ.จะให้กู้เฉพาะสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาของประเทศ จบแล้วมีงานทำ แล้วเด็กที่เรียนสายสังคมศาสตร์ที่เข้าเรียนแล้วจะสามารถกู้ได้หรือไม่ในปี 2555 เพราะหากกู้ไม่ได้ก็อาจเป็นปัญหาตามมากับผู้เรียน” นายเสริมเกียรติ กล่าว .