“นิพิฏฐ์” วิพากษ์รัฐธรรมนูญ อาจนำไปสู่เดทล็อกทางการเมือง
“ถ้ากติกาออกมาแล้วคนไม่ยอมรับ ก็ยากที่จะอยู่กันอย่างสงบ ปัญหาว่ากติกาที่จะออกมานี้ ยอมรับกันมั๊ย ถ้าไม่รับ ทุกอย่างจบเลย”
สุดสัปดาห์นี้ สำนักข่าวอิศรา สนทนากับ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างเผ็ดร้อนมากที่สุดคนหนึ่งในเวลานี้
นอกจากนี้ “นิพิฏฐ์” ยังวิเคราะห์การเมือง พูดถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง
...................
@ ช่วงนี้คุณออกมาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญถี่เหลือเกิน
ผมกังวลความมีอคติของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีต่อนักการเมืองและพรรคการเมือง สองคือ ผมกังวล การเสพติดอำนาจ ไม่ใช้คำว่าสืบทอดอำนาจนะ การเสพติดอำนาจของผมหมายถึงผู้ร่างรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)สวนหนึ่ง และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ส่วนหนึ่ง
ดังนั้น คนที่ไม่มีประสบการณ์ในทางการเมือง แยกเป็นคนไม่เคยสัมผัสการเมืองเลย เช่น นักวิชาการ ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือคนที่เคยลงเลือกตั้งหรือเคยตั้งพรรคการเมือง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองที่เขาตั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ลึกๆแล้วคนกลุ่มนี้ผมคิดว่า เขาค่อนข้างมีอคติกับการเมือง เห็นการเมืองเป็นสิ่งเลวร้าย
ที่ผมกังวลเพราะต้องยอมรับความจริงว่า คนที่เป็นสปช.ก็ดี สนช.ก็ดี เบอร์ใหญ่ๆ หลายเบอร์ เราเคยชวนเขามาลงเลือกตั้ง เขารังเกียจการเมือง ไม่เอา แต่พอมีการยึดอำนาจ ทหารไปเชิญเขา เขาวิ่งมาประกบทหาร ภาษาผมคือ สวมรองเท้าผิดข้างเลยล่ะ คือมาเร็วมาก พอใจอยู่ตรงนั้น
ฉะนั้น การไม่มีประสบการณ์และมีอคติกับการเมือง รวมทั้งการเสพติดอำนาจ จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้น่ากังวล แต่ในแง่บวกคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) คงไม่เอาอย่างนั้น คสช.อาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือทบทวน แต่จะเกิดขึ้นได้ เราก็ต้องแสดงให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า มันไปไม่ได้นะ แต่ถ้าเราไม่แสดงอะไรเลย เขาก็จะเดินไปแนวนั้น
@ แนวโน้มที่จะปรับร่างรัฐธรรมนูญมีมากน้อยแค่ไหน
ที่ผมออกมาค้านแรกๆเลยคือ เรื่องที่มานายกฯ ส่วนประเด็นอื่นเราไม่ได้ค้านมากมายนะ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเดินอย่างนี้มันจะมีปัญหา เช่น ระบบเยอรมันก็ดี หรือการไม่สังกัดพรรคก็ดี จะมีปัญหา แต่ถ้าจะเดิน ก็เดินไป แต่เราบอกว่าจะมีปัญหา เช่น ระบบโอเพ่นลิสต์
@ แล้วระบบที่ควรจะเป็นในความเห็นคุณ คืออะไร
โอเพ่นลิสต์ที่ฝ่ายการเมืองค้านกันเยอะก็เพราะควรจะให้พรรคการเมืองได้จัดสรรบุคลากรการเมืองของพรรคเอง โอเพ่นลิสต์เขาบอกว่านำระบบเลือกตั้งมาจากเยอรมัน แต่ในระบบเยอรมันนั้นเอง ไม่มีโอเพ่นลิสต์
แต่เยอรมันเขาปล่อยให้พรรคการเมืองดูคนไหนมีความสามารถ ส.ส.เขตใครได้คะแนนมาก ก็ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อเปิดโอกาสให้มีปาร์ตี้ลิสต์ควรให้พรรคการเมืองเขาได้จัดสรร ทำให้สามารถนำเลือดใหม่ คนที่มีความรู้ มาอยู่ในระบบบัญชีได้ แต่โอเพ่นลิสต์ขณะนี้ เลือดใหม่ทางการเมือง เข้าไม่ได้เลย
@ เพราะอะไร
เพราะเมื่อเห็นโอเพ่นลิสต์ พรรคการเมืองก็เริ่มปรับตัว คือ การเลือกตั้งครั้งหน้าส.ส.เขตลดลง 100 กว่าที่นั่ง พอลดลงคำถามคือจะไปไหน ก็ใช้ขึ้นระบบบัญชี พรรคการเมืองก็จะมีส.ส.เขต ที่ออกจากเขต เนื่องจากจำนวนลดลง ต้องอยู่บัญชีรายชื่อเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดที่มีส.ส.คนเดียว
จากเขตมาขึ้นบัญชีรายชื่อในจังหวัดนั้น จะกลายเป็นระบบที่ผมใช้คำว่า “จังหวันิยม” ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหามานานเรื่องภาคนิยม เป็นอีสาน เป็นใต้ เป็นภาคนิยมประเทศก็แตกกันเยอะแล้ว พอเป็นจังหวัดนิยมเกรงว่าจะยิ่งแตกหนักเข้าไปอีก
ยกตัวอย่าง จ.พัทลุง ผมขึ้นบัญชีรายชื่อ แน่นอนคนพัทลุงต้องเลือกผม พอมีจังหวัดนิยม ปัญหาที่ตามมาก็คือ คนดี คนเก่งไม่มีพื้นที่ ถามว่าคนดี คนเก่ง เวลามีโอเพ่นลิสต์ คุณจะเอาคะแนนจากไหน เพราะแต่ละจังหวัดมีส.ส.เขาอยู่หมดแล้ว ไม่มีทางเข้าไปได้เลย
ฉะนั้น คุณปฏิรูปการเมืองเที่ยวนี้ จะได้คนเก่าคนแก่ทางการเมืองทั้งนั้น ไม่มีคนใหม่เกิดขึ้นเลย อันนี้ผมกังวลมาก ลองคุณเอาคนใหม่มาลงสิ คนเก่าที่ถูกออกจากเขตมันสู้ตาย แล้วคนใหม่ไม่มีทางสู้ได้หรอก ฉะนั้นคนใหม่เกิดไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
@ คุณมีข้อเสนอที่ดีกว่านี้ไหม
อย่าไปลดส.ส.เขตเยอะ แต่ถ้าลดเยอะ อย่างที่บอกคือ หลุดจากเขตไม่รู้จะไปไหน ก็ต้องหาที่ลงให้เขา คือบัญชีรายชื่อ แต่ถ้าเราคงระบบเขตไว้พอสมควร อาจจะลดลงบ้าง 20 -30 แต้มทั่วประเทศ เราสามารถเอาคนใหม่ลงในระบบบัญชีรายชื่อได้ เลือดใหม่ทางการเมืองก็เกิดขึ้นได้ แต่ปัจจุบันลดลง 100 กว่าที่นั่ง ยากมาก ลดบัญชีรายชื่อลงได้อีก ผมยังรับได้ แต่เขตอย่าลดเยอะ คนใหม่จะได้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ายืนตามเดิม การสร้างคนใหม่ทางการเมืองจะยากมาก
@ มีประเด็นไหนอีกบ้างที่คุณไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญ
ผมยังไม่ได้ดูรายละเอียดในรายมาตรา แต่เห็นว่าภาพรวมมีหลายเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถ้ายังยืนแบบเดิม สิ่งที่ผมกังวลก็คือ ถ้าพรรคการเมืองที่ยึดหลักระบอบประชาธิปไตยจริงๆแล้วเขาเห็นว่า รัฐธรรมนูญนี้มันไปไม่ได้ เป็นปัญหา ถ้าเขาไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ลงเลือกตั้ง ก็ยุ่ง การปรองดอง การปฏิรูปจบเลย
สมมุติพรรคเพื่อไทยประกาศว่ารัฐธรรมนูญนี้มันไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งพรรคจะเว้นวรรคเลย ไม่ลง ถ้าเขาไม่ลงจริงๆ ผมว่ายุ่งนะ เดินไม่ได้เลย อันนี้น่ากลัว
@ แล้วท่าทีประชาธิปัตย์ล่ะ จะยังไงกันดี
เราดูก่อน ยังไม่มีการตัดสิน เราต้องดูความเป็นประชาธิปไตย ความเป็นไปได้ของรัฐธรรมนูญ ที่จะพาประเทศไปได้ มันเหมือนเขาร่างกติกาให้เรา แต่สมมุติกติกานี้ผมเล่นไม่ได้ ผมอาจจะไม่ลงก็ได้ ถ้าพรรคการเมืองจับมือกันอย่างนั้นจริง พรรคใหญ่จับมือกันอย่างนั้นจริง ยุ่งแน่
@ อะไรคือความยุ่งวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น
ผมวิเคราะห์บนสมมุติฐานที่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญไหม ถ้าปรับเปลี่ยนร่างฯจนรับกันได้ ก็โอเค แต่ถ้าเขาไม่ยอมปรับเปลี่ยน เดินตามร่างที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ ผมอาจจะคิดลึกไปหรือเปล่า ไม่รู้นะว่ามันอาจจะเกิดเดทล็อกทางการเมืองหลังจากเลือกตั้งเสร็จ การเมืองเดินไม่ได้
เหตุที่การเมืองถึงเดินไม่ได้ ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีภูมิคุ้มกันตัวเอง คือ ห้ามแก้ไขภายใน 5 ปี เมื่อห้ามแก้ไขใน 5 ปี แต่เกิดปัญหาจากการใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อแก้ไม่ได้ มันก็ต้องฉีก
ถ้ารัฐธรรมนูญยังอยู่อย่างนี้ การฉีกรัฐธรรมนูญง่ายกว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆ การฉีกควรจะยากว่าการแก้ แต่นี่เราออกแบบรัฐธรรมนูญให้การแก้ยากกว่าการฉีก
ฉะนั้น เพราะถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหา เวลาเลือกตั้งแล้ว ก็เกิดความวุ่นวายภายในประเทศ ประชาชนส่วนหนึ่งเขาก็จะรู้สึกว่านักการเมืองเมืองนี่มันวุ่นวายจริงๆ เปิดให้มีการเลือกตั้งแล้วยังมาทะเลาะกันอีก ประเทศชาติวุ่นวายอีก ทหารก็จะเข้ามาอีก ประเทศก็จะถอยหลังไปอีก ถามว่ามีโอกาสไหม ผมคิดว่ามีโอกาสนะ
@ คุณหมายถึงการสืบทอดอำนาจ
รัฐทุกรัฐเขาเปิดโอกาสให้ขัดจังหวะ ให้ล้มอำนาจผู้บริหารได้ เปิดโอกาสให้ขัดจังหวัดระบอบประชาธิปไตยในรัฐนั้นได้ หลักความมั่นคงแห่งรัฐใช้คำว่าทำให้กฎหมายเงียบเสียง โดยใช้ระบบใหม่ขึ้นมาแทน เพื่อรักษาความมั่นคง
แต่กฎข้อที่สองในหลักความมั่นคงแห่งรัฐก็คือ พอคุณได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์มา คุณต้องคืนอำนาจนั้นโดยเร็วที่สุด คุณต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด คุณอยู่นานไม่ได้ ขัดจังหวะได้ แต่ต้องไปให้เร็ว
แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น เกิดเดทล็อกทางการเมืองขึ้นมา มีการเลือกตั้งแล้ววุ่นวาย และไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็ต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญ พอฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว ...ก็อาจอยู่ยาว นี่คือสิ่งที่ผมกลัว ร่างรัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่เดทล็อกทางการเมือง
@ มีข้อเสนอหรือทางออกที่ควรจะเป็นไหม
ผมไม่ได้หวังคนร่างนะ ผมหวังคสช. โดยมีข้อแนะนำ 2 เรื่อง 1.คือท่านต้องฟังให้เยอะ 2.ท่านต้องฟังคนที่ควรฟัง ในมุมมองผมวันนี้ผมว่าคสช.ฟังเยอะ เพราะนายกฯบอกว่านอนไม่ค่อยหลับ คงฟังเยอะแต่ที่ผมยังสงสัยอยู่คือ นายกฯฟังคนที่ควรฟังหรือเปล่า
@ การปฏิรูปที่กำลังดำเนินการกันอยู่ล่ะ ไม่เป็นทางออกเลยหรือ
สังคมไทยขัดแย้งกันแบ่งฝ่ายกันมานาน เปิดร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว รู้ว่าเป็นเสื้อแดง คนเสื้อเหลืองก็ไม่เข้าแล้ว หรือบางร้านเสื้อแดงก็ไม่เข้าไปกินเพราะเป็นเสื้อเหลือง บ้านเมืองอยู่อย่างนี้ไม่ได้
วันนี้สิ่งที่คสช.ไม่ทำ ก็คือการเปลี่ยนความเชื่อของคน แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำยากมาก ผมว่าสิ่งที่คสช.ต้องทำคือ ปรับวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทย เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของเรายังไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย
แต่เราพูดอย่างนี้โดนด่าตายเลย โอ้ย! คุณดูถูกประชาชน แต่การที่คนหนึ่งบ้านเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วคนส่วนหนึ่งไม่ไปเข้าไปกิน อันนั้นผมว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเราแยกไม่ออก คนต้องแยกระหว่างการเมืองกับเรื่องส่วนตัวออกให้ได้ แต่วันนี้แยกไม่ออก นี่คือปัญหาหนักของคนไทย ต้องเปลี่ยนทัศนคติเหล่านี้
อีกเรื่องคือการมองการเมือง หลายคนบอกว่าการเมืองไทยซื้อเสียงเยอะ ที่ไปไม่ได้เพราะการซื้อเสียง ผมว่าคนที่พูดอย่างนี้ไม่เข้าใจระบบการเมือง นั่นเพราะการเมืองเมืองไทยเลยการซื้อเสียงไปแล้ว
@ ยกตัวอย่างได้ไหม
มีคนบอกว่า ภาค ก. มีคนซื้อเสียงเยอะ ผมถามว่าจริงเหรอ สมมุติที่จังหวัดหนึ่ง เรามัดมือผู้สมัครพรรคเพื่อไทยให้หมดเลย จับออกนอกพื้นที่เลย แล้วให้หาเสียงเฉพาะประชาธิปัตย์พรรคเดียว คุณว่าประชาธิปัตย์ชนะมั๊ย ไม่ชนะหรอก
หรือสมมุติที่อีสาน ประชาธิปัตย์ใช้เงิน 10 ล้าน เพื่อไทยใช้ 3 ล้าน ประชาธิปัตย์ก็ไม่ชนะ เพราะความเชื่อ ศรัทธาไง มันเลยการซื้อเสียงไปแล้วครับ อยู่ที่ความเชื่อของคน วันนี้ความเชื่อของคนในภาคอีสาน ภาคใต้ เลยเรื่องการซื้อเสียงไปแล้ว
ฉะนั้น ประเด็นสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่จะชนะผมในปักษ์ใต้ได้ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเขา ทำอย่างไรให้ประชาธิปัตย์จะชนะในภาคอีสานได้ ก็ต้องเปลี่ยนความเชื่อของคนอีสาน ไม่ใช่เอาเงินไปให้คนอีสาน
แต่วันนี้การเมืองนิ่งยาก เพราะยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดของคนไง ขนาดเข้าร้านก๋วยเตี๋ยวยังไม่ได้ ไม่ต้องพูดเรื่องอื่นแล้ว ดูคอนเสิร์ตร่วมกันไม่ได้ นี่แค่เรื่องเล็กๆ ไม่นบรวมความบาดหมาง ความขัดแย้งที่ลึกกว่านั้นก็ยังมีอยู่
@ ฟังดูเหมือนไม่มีทางออกเลยสังคมไทย
จริงๆ รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่ง เป็นกติกา ฉะนั้นต้องให้คนยอมรับในกติกา เพราะกติกาใช้กับคนทั้งประเทศ ถ้ากติกาออกมาแล้วคนไม่ยอมรับ ก็ยากที่จะอยู่กันอย่างสงบ ปัญหาว่ากติกาที่จะออกมานี้ ยอมรับกันมั๊ย ถ้าไม่รับทุกอย่างจบเลย
ผมวิเคราะห์เลยไปว่ารัฐธรรมนูญ 2550 กับ 2558 ต่างกันตรงไหน ต่างกันตรงที่50 ชัดเจนว่าฝ่ายหนึ่งรับ ฝ่ายหนึ่งไม่รับ ประชาธิปัตย์รับ เพื่อไทยไม่รับ แสดงความเห็นดีเบตกัน ท้ายที่สุดคนก็รับ
แต่จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญนี้ คือ ผมยังไม่เห็นว่าใครชูธงรับ มีแต่คนบอกไม่รับ อย่างเพื่อไทยเขาไม่รับแน่ ถามว่าประชาธิปัตย์เหมือน 50 มั๊ย ประชาธิปัตย์ยังอยู่ในที่ตั้ง ถ้ารัฐธรรมนูญนี้
ประชาธิปัตย์อยู่ในที่ตั้งโดยไม่แสดงความเห็นเลย แล้วเพื่อไทยบอกไม่รับ มันเห็นอยู่แล้วว่าคว่ำ
หรือถ้าประชาธิปัตย์บอกว่าไม่เอาด้วย ความเห็นตรงกับเพื่อไทย ก็คว่ำ 100% อยู่แล้ว คนร่างรัฐธรรมนูญต้องตัดสินใจ ผมเลยบอกตอนที่เชิญผมไปคุยว่า ความเป็นประชาธิปไตย
ในประชาธิปัตย์ที่คุณเห็นชัดก็คือ ผมกับหัวหน้าพรรคผม มองไม่เหมือนกัน หัวหน้าพรรคผมบอกว่า ต้องลงประชามติเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีภูมิคุ้มกัน ต้องให้คนยอมรับด้วยการลงมติ แต่ผมบอกว่าไม่ต้อง เพราะถ้าคุณคิดว่าดีแล้วคุณเดินเลย ถ้าคุณต้องการรักษาหลักการอย่างนั้นไว้ตามที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องการ ตามที่คสช.ต้องการ คุณต้องการให้ประเทศไปแนวนี้ คุณใช้เลย
เพราะถ้าคุณต้องการอย่างนั้นโดยไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แล้วมาประชามติ มันคว่ำ ฉะนั้น คุณต้องคิดดูให้ดีว่าคุณต้องการให้รัฐธรรมนูญนี้มีภูมิคุ้มกันมั๊ย ถ้าต้องการก็ต้องทำตามที่หัวหน้าพรรคผมว่า คือทำประชามติ
แต่เมื่อทำประชามติคุณต้องลดเพดานบินคุณลงมาคุย มาปรับเปลี่ยน แต่ถ้าไม่ลงมาคุยตามที่พรรคการเมืองเขาเสนอหรือแสดงความความเห็นไป คุณไม่ต้องทำประชามติหรอก เพราะทำไปก็คว่ำ คว่ำแน่
พอรัฐธรรมนูญมันถูกคว่ำ เวลาลงประชามติ เครดิตของคสช.ที่ทำมาปีกว่า จบเลย คุณคิดทำอะไรไป คนไม่เชื่อถือคุณแล้ว เพราะประชาชนเขาไม่เอาคุณ
คุณผลิตสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ คิดหลักการสูงสุด หลักกติกาการอยู่ร่วมกัน ผลิตออกมาแต่ถูกคว่ำ ไม่ต้องพูดแล้ว เสียของแถมของเสียด้วย
@ พูดถึงประชาธิปัตย์บ้าง หลายปีที่ผ่านมาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบไม่น้อย ในฐานะรองหัวหน้าพรรค คุณคิดว่าอะไรคือจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงหรือแก้ไขทั้งคน ทั้งพรรค
จุดอ่อนของพรรคคือการสร้างคนรุ่นใหม่ คนส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งมองว่าเราเป็นคอนเซอร์เวทีฟเป็นพรรคอนุรักษ์ จริงหรือเปล่าผมไม่รู้
พอเราถูกมองอย่างนั้น มันทำให้ผมกังวลคือ เราสร้างเลือดใหม่ทางการเมืองไม่ได้ คนใหม่ไม่มา คนใหม่เขามองการเมืองอีกแบบหนึ่งว่ามันต้องรวดเร็ว ทันสมัย แต่เขาไม่ได้มองประชาธิปัตย์เป็นคนทันสมัย แต่มองว่าเป็นพรรคคนรุ่นเก่า ทั้งๆที่เรามีคนรุ่นใหม่เยอะ
@ ได้ประเมินกันในพรรคไหมครับว่ามันเกิดอะไรขึ้น
เราอาจจะติดยึดคือ มีหลักการเยอะ มีเงื่อนไขเยอะ คนเลยไม่อยากเข้ามา ทำให้เราสร้างเลือดใหม่ทางการเมืองได้น้อย นี่เป็นปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์ที่เผชิญอยู่ เราก็มีการประเมินนะ แต่เป็นโจทย์ที่ยาก
ขนาดหัวหน้าไปออกแผ่นเสียง ออกซีดี เพื่อดึงวัยรุ่นคนรุ่นใหม่เข้ามา ...ก็เข้าใจยากอยู่ แต่ในความเป็นจริง ที่คนรุ่นใหม่มองข้ามเรา มันมีความเป็นประชาธิปไตยสูงเกินไป คำว่าสูงเกินไปดีหรือเปล่าไม่รู้ คือเถียงกันได้ทุกเรื่อง จากบนลงล่างสั่งลงมาไม่มี
ผมว่า มองอีกมุมหนึ่งนี่คือความทันสมัยของพรรค คือความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ความล้าหลัง เถียงชีหน้าด่ากันตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาพรรค ยันภารโรงพรรค แต่พอมีมติพรรค ก็จบ แต่ก็ต้องมีการหาฉันทามติทุกเรื่อง
ดอกเตอร์เสริมเยอะ ขอเสริมหน่อย คือพูดกันเยอะ กระบวนการนี้มันช้า ผมว่านี่เป็นจุดอ่อนของพรรคที่ดูอยู่ แต่ถ้ามองแบบความภาคภูมิใจ นี่ไงคือความเป็นประชาธิปไตย แต่กับสถานการณ์ขณะนี้ อาจไม่ทันใจก็ได้