อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี:ผมพร้อมจ่ายภาษีที่ดิน แต่หลักการเพี้ยน “เอาเก็บไปเลยท่าน พูดให้จักจี้ "
“เวลามีการจัดอันดับ ก็จะติดอยู่ในรายชื่อ ส.ส. 1 ใน 10 ที่มีที่ดินเยอะ ทำไงได้ ผมรับโอนมา ผมก็รับโอนมาอีกครั้งหนึ่งจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นช่วงๆ จริงๆ ยังมีนักการเมืองอีกหลายคนมีที่ดินมากกว่าผมเยอะ ในรูปของหุ้น ถือในหุ้นและถือในบริษัทอีกทีหนึ่ง แต่ของผมถือในนามส่วนตัว”
“อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนกลุ่มนักการเมืองระดับชาติ จัดว่า เป็นกลุ่มที่มีการถือครองที่ดินมากสุดในเมืองไทย เปิดใจในเวทีเสวนา Let’s Talk It Over, Episode 5: ข้อเสนอและข้อห่วงใยของประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ที่จัดโดยมูลนิธิเอเชีย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศ
อรรถวิชช์ เริ่มต้นแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ โดยย้อนไปในสมัยรับราชการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่า เรื่องนี้เคยอยู่บนโต๊ะทำงานเขามาก่อน และสมัยนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็มีการนำร่างเดิมของกระทรวงการคลังมาปัดฝุ่นใหม่ และเติมเนื้อหาบางเรื่องเข้าไป โดยเขาเองก็ได้คุยกับนายกรณ์ สมัยนั้นด้วยว่า ไม่เห็นด้วย ที่ไม่เห็นด้วยเพราะต้องดูรากฐานกฎหมายนี้ให้ดีก่อน ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย ไม่ให้มี
"ผมเห็นด้วยว่า กฎหมายนี้ควรมี แต่หลักการของกฎหมายฉบับนี้ เป็นหลักการที่ผิดเพี้ยน หลักการผมบอกแล้วว่า ต้องดูจัดเก็บภาษี ต้องไปวัดตรงการขาย ผลกำไรขาดทุน ผมยืนยันว่า ถ้าคนรวยแล้วปล่อยที่ให้รกร้างว่างเปล่า อันนี้ต้องซัดให้หนัก”
อรรถวิชช์ เปิดดูเนื้อในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พบว่า ไม่ได้เป็นแบบนั้น ปรากฏว่า ที่ปล่อยรกร้างว่าเปล่า กำหนดเพดานอัตราภาษี 2% เท่ากับพื้นที่ที่ทำการค้า นี่จึงแปลกประหลาด
อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ คิดอยู่ที่เดียวที่กระทรวงการคลัง ไม่มีการบูรณาการ คุณสมหมาย (ภาษี) คิดกี่ทีก็คิดแต่เรื่องอัตราภาษี
“ผมจะบอกให้ไม่ได้อยู่ที่เงิน ผมพร้อมจ่าย แต่อยู่ที่ว่า เอาไปทำอะไร แล้วประชาชนได้อะไร”
กฎหมายฉบับนี้จะเกิดได้ เขาเห็นว่า ต้องบูรณาการหน่วยงานตั้งแต่ กรมผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ท้องถิ่น กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ต้องจับกันให้ติด
“ของเดิมภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินโบราณเหลือเกิน ประเมินไว้เมื่อปี 2521-2524 และใครมีที่รกร้างว่างเปล่า โดนโทษปรับเป็นเท่าตัว แต่ปรับแค่ 40 บาท คนจึงไม่รู้สึก
ส่วนพ่อค้าที่นำที่ดินไปทำธุรกิจ จะอยู่บนหลักการภาษีโรงเรือน ประเมินจากการทำประโยชน์ของค่าเช่า ท้องถิ่นเป็นผู้ประเมิน ซึ่งกฎหมาย 2 ตัวนี้ ถึงเวลารวมกันเป็นหนึ่งได้แล้ว เพราะโบราณ อีกทั้งโทษคนทิ้งที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าก็มีปัญหา ฉะนั้นต้องเดินหน้ามีกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”
แต่ อรรถวิชช์ งงกับกระทรวงการคลังทำไมร่างกฎหมายฉบับนี้เคยอยู่เมื่อ 10 ปีก่อน เปิดวันนี้ก็ยังหน้าตาเหมือนเดิม
“ผมถึงบอกคุณสมหมาย เอาเก็บไปเลยท่าน อย่ามาพูดให้ จักจี้ เลย ทำไมที่รกร้างว่างเปล่าเก็บเท่ากับที่ทำการค้า การบอกว่า คนรวยมีที่ดิน แล้วหากเขาไม่ขายถามว่า จะรวยตรงไหน คนที่อยู่บ้าน ไม่เคยต้องเสียอะไรเลย หรือเสียนิดหน่อย ต้องมาเสียเพิ่มขึ้นขณะที่อยู่ในช่วงวัยเกษียณอายุแล้ว ถามว่าจะเสียยังไง ”
ส่วนคำถามที่ว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ต้องบูรณาการอะไรบ้าง อรรถวิชช์ ได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่มีกฎหมายผังเมือง โซนนิ่งชัดเจน แต่เมืองไทยโซนนิ่งแบบเทียมๆ จำเป็นที่กระทรวงการคลัง กับผังเมืองต้องมาคุยกัน มิเช่นนั้น โซนนิ่งบ้านเราก็จะไม่มีวันเกิด หากไม่นำโอกาสนี้มาใช้ แล้วภาษีที่ดินจะเก็บจากอะไรหากไม่เอาโอกาสนี้ชักจูงให้คนปฏิบัติตามโซนนิ่งได้ การเอาภาษีที่ดินไปจับกับผังเมือง แล้วให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม หลายคนชอบบอกไม่อยากให้อำนาจท้องถิ่น ก็ให้อำนาจติดอาวุธให้ท้องถิ่น และจัดการโซนนิ่งให้ครบสูตร คู่กันไปอย่างนี้จึงจะมีหวัง
|
“แต่วันนี้กระทรวงการคลังเดินหน้าโดยไม่ถามท้องถิ่น ผมคิดว่า เป็นเรื่องไม่สมควร ผังเมืองก็ไม่คุย ท้องถิ่นก็ไม่คุย นี่คือกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่เชื่อมโยงผังเมือง ขณะที่กรมธนารักษ์ แน่ใจหรือว่า กรมธนารักษ์จะมอบหมายผังที่ดินประเมินรายแปลงและส่งมอบให้ท้องถิ่นได้ ชาติหน้า หากฟันเฟืองยังเดินอยู่แบบนี้ แล้วบอกกฎหมายจะเดินภายใน 2 ปี เป็นไปไม่ได้หรือไม่ เพราะเราไม่ชัดเจนหรือระบบดาวเทียม การจัดรูปที่ดิน ทั้ง สค.1 นส.3 ขนาดกรมที่ดินที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว วันนี้ยังไปไม่ถึงไหน”
เรื่องที่เขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จึงเกี่ยวกับผังเมือง กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มหาดไทย และท้องถิ่น พร้อมทิ้งคำถามไว้ว่า กลไกลพวกนี้จะขับเคลื่อนอย่างไรหากต้องการเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้จริงๆ
“ร่างกฎหมายนี้สมัยนายกรณ์ มีดีหน่อย มีกรณีธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน ถูกใส่ในร่างของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่อยู่ในร่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสปช.จะหยิบเรื่องร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ขึ้นมาคุย หรือจะรอต่ออายุเป็นสภาขับเคลื่อนปฏิรูป
วันนี้สิ่งที่สปช.ต้องออก คือ ตั้งคณะกรรมาธิการเรื่องนี้ ฟันธงว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องออก แต่ทำแบบบูรณาการ ผมไม่ได้หมายความว่าต้องออกมาในรัฐบาลนี้ แต่โรดแมปที่เดินไปต้องตั้งให้ดีเอาแบบไหน องค์กรจัดตั้งคือใคร รวมถึงเป็นหัวข้อที่อยู่ในสปช. แต่สิ่งที่ผมดูขณะนี้คือการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก”
อรรถวิชช์ ทิ้งท้ายด้วยว่า ทำไมร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....ที่รัฐบาลนี้หยิบยกมา คือร่างเมื่อ 10 กว่าปีก่อน หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ
ก่อนสรุป เห็นด้วยต้องมีการสังคยานาเรื่องที่ดิน แต่วัตถุประสงค์กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ตรง เนื่องจากต้องยึดหลักการเสียภาษีอัตราเท่ากัน และกรณีทิ้งร้างว่างเปล่าต้องจัดหนัก จัดเต็ม
“ผมเห็นว่า ต้องใช้โอกาสนี้เชื่อมโยงทำให้ผังเมืองประเทศไทยเดินหน้าได้จริง กรมธนารักษ์ต้องเตรียมความพร้อม และไม่ใช่ 2 ปีแน่ ส่วนท้องถิ่นต้องเอามามีส่วนร่วม”
สุดท้ายบูรณาการในเรื่องนี้ให้รัฐบาลรีบสรุปก่อนหมดวาระไป แม้กฎหมายไม่จำเป็นต้องออกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แต่การขับเคลื่อนของสปช.ต้องเดินเลยในวันนี้ เรื่องร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ
“เราต้องยอมรับความจริงว่า ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน เก่า โบราณไปแล้ว ต้องปรับ แต่ปรับให้ดีกว่า คืออะไร เพราะ ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ปัจจุบันนี้ ยังเกาไม่ถูกที่คัน ตอบโจทย์เรื่องเงิน หารายได้เรื่องเดียว”