บรรยง พงษ์พานิช แนะครูยุคใหม่มีหน้าที่กระตุ้นเด็กให้กระหาย-แสวงหาความรู้
เตรียมเยาวชนเข้าสู่ประชาคมโลก บรรยง พงษ์พานิช แนะครูต้องเปลี่ยนกระบวนการสอนอย่ายึดตัวเองเป็นผู้รู้แต่ต้องเป็นผู้แสวงหา กระตุ้นเด็กให้เกิดการค้นคว้า สอนให้เรียนมากกว่าสอนให้รู้
28 มีนาคม 2558 คณะกรรมการโครงการเตรียมงานรำลึก 100 ปีชาตกาล ศาสตราจารย์ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา และมูลนิธิโกมลคีมทอง จัดงานป๋วยทอล์กครั้งที่ 2 “โจทย์ใหม่?ทัศนะว่าด้วยการศึกษา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน กทม.
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารเกียรตินาคิน-ภัทร กล่าวถึงการศึกษาเพื่อเตรียมเยาวชนสู่ประชาคมโลกว่า การศึกษาหมายถึงทุกคนในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแค่เยาวชนเท่านั้นที่จะต้องติดตาม เรียนรู้โลกอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อนำความเป็นสากลมาผสมผสานกับความรู้ดั้ง เดิมมาสร้างประโยชน์
.ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ซึ่งการเชื่อมโยงประชาคมโลกได้ทวีความเข้มข้นขึ้นตลอดเวลา การเป็นส่วนหนึ่งก็คือการร่วมได้รับโอกาสการเรียนรู้ แบ่งปันวิทยาการของทั่วทุกมุมโลกและสั่งสมไว้เป็นภูมิปัญญา ทั้งนี้การเข้าสู่ประชาคมโลกทำให้เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆกับผู้คนทั่วทุกมุมโลกด้วยการพัฒนาตนเองเพื่อที่จะได้มีที่ยืนที่สง่างาม"
นายบรรยง กล่าวถึงการทำงานตลอดชีวิตของอ.ป๋วย เป็นสิ่งสะท้อนที่ดีว่าคนไทยที่ได้รับทุนไปศึกษาที่ตะวันตกได้นำความรู้มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เป็นหัวขบวนของข้าราชการที่มีภูมิปัญญามาพัฒนาประเทศ สมัยนั้นอ.ป๋วยจะริเริ่มแนวทางส่งเสริมคนไทยให้ได้รับโอกาสเช่นเดียวกัน การให้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศจึงเป็นวาระสำคัญตลอดมา รวมถึงการนำเอาระบบที่เคยใช้ได้ผลในประเทศที่พัฒนาแล้วมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.
"การทำงานหนัก 30 ปีเพื่อวางรากฐานของอ.ป๋วย และ40 ปีที่ใช้รากฐานเดิมเดินต่อมา ทำให้ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนเกือบที่สุดของอาเซียนในอดีต จากประเทศที่รายได้ต่อคนของประชากรไม่ถึงครึ่งของเวียดนาม เคยเป็นประเทศที่จนกว่าพม่าและเขมร กลายมาเป็นประเทศที่มั่งคั่งเป็นอันดับที่ 3 จาก 12 ประเทศ เข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง" นายบรรยง กล่าว และว่า แต่ในปี 2558 หากจะใช้แค่การวางรากฐานที่เคยมี อาจไม่เพียงพอเพราะโลกเปลี่ยน การเข้าถึงความรู้ หรือตำราในห้องสมุด รวมกันยังไม่ถึง1 ใน 10 ของโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้สั่งสอนต้องเปลี่ยน ครูต้องไม่ใช่แค่แหล่งความรู้ที่ถ่ายทอดและลำเลียงความรู้ผ่านชอล์กแอนด์ทอล์กเท่านั้น เพราะนั่นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว นี่คือยุคของโลกอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้เพียงเสนอโอกาสจากองค์ความรู้เท่านั้น เราจึงปฏิเสธที่ไม่ใช่เทคโนโลยีไม่ได้ โลกวันนี้ไม่ว่าคนคนหนึ่งสะสมความรู้เท่าไหร่ย่อมน้อยและล้าหลังกว่าอินเตอร์เน็ตเสมอ
ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารเกียรตินาคิน-ภัทร กล่าวอีกว่า คนที่จะต้องเปลี่ยนในกระบวนการศึกษาคนแรกก็คือครู โดยต้องเป็นผู้แสวงหาความรู้ให้มากกว่าความรู้ บอกว่าความรู้อยู่ตรงไหนในโลกแห่งความเป็นจริง และต้องไม่พยายามตอบคำถาม แต่ต้องกระตุ้นระดมสมองให้เด็กแก้ปัญหา
"ครูต้องทำตัวเป็นผู้ที่ยังไม่รู้และแสดงให้เห็นในการแสวงหาคำตอบไปพร้อมกัน เพื่อทำให้การแสวงหาคำตอบนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและงดงาม"
นายบรรยง กล่าวด้วยว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้มองดูแล้วอาจจะเป็นเหมือนการสร้างภาระให้แก่ครู แต่นี่เป็นสิ่งที่ครูดีๆเขาทำกันมาแต่ไหนแต่ไร แต่ทำได้เป็นส่วนน้อย เพราะสอนเนื้อหากันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อปัจจุบันเทคโนโลยีเอื้อต่อการค้นคว้าครูจึงมีหน้าที่กระตุ้นเด็กให้มีความกระหายส่วนตัว ซึ่งจะเป็นเชื้อที่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต สอนให้เรียนมากกว่าสอนให้รู้ ครูจึงเป็นผู้ช่วยที่จะแก้ปัญหาการศึกษาได้อีกประการหนึ่งที่ไม่ต้องตัดเสื้อตัวเดียวแล้วใส่กันทั้งประเทศ เพราะวิธีการเช่นนั้นล้มเหลว คนที่เข้าใจก็เข้าใจ คนที่ไม่เข้าใจก็จะถูกทอดทิ้ง ดังนั้นหากครูสามารถเปลี่ยนกระบวนการสอนได้ก็ไม่ต้องกลัวโลกจะเปลี่ยน เออีซีจะมา เพราะเรามีศักยภาพจะเรียนรู้ทุกอย่างของโลกที่เปลี่ยน ไม่ได้เกาะติดอยู่กับชุดความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง