ไพโรจน์ พลเพชร:หยุด! ยุบ กสม.ควบรวมผู้ตรวจการฯ
"...การเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนที่สำคัญย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้การรับรอง..."
เกริ่นนำ
โดยที่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการรับรองให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในรัฐธรรมนูญ 2540 ถือเป็นการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนครั้งแรกในสังคมไทย เพื่อทำหน้าที่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือในการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคัดค้านไม่เห็นด้วยตลอดมานับแต่การก่อเกิดจนถึงปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ การยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงไม่ใช่เป็นความพยายามที่เพิ่งเกิดขึ้นในการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เท่านั้น แต่เกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เพียงแต่การให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ประสบสำเร็จในขณะนั้น เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้ความเห็นชอบกับการให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรหนึ่งในรัฐธรรมนูญ 2540
อย่างไรก็ตาม แม้จะให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ก็ยังสามารถจำกัดอำนาจหน้าที่ไม่ให้เชื่อมโยงกับฝ่ายตุลาการ และไม่ยอมให้สำนักงานเป็นอิสระ อันเป็นหลักการสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ดังนั้น เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้เรียกว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน” และการกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละคนแล้ว ยิ่งเป็นการสะท้อนให้ปรากฏชัดเจนว่า เป็นปรัชญาและแนวทางการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นนั่นเอง ซึ่งแตกต่างกับแนวทางการทำงานแบบองค์กรกลุ่มของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ด้วยเหตุนี้ มติการยุบรวมดังกล่าวจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับความซ้ำซ้อนหรือประสิทธิภาพ และเพื่อการยกระดับดังที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการยุบเลิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งประสงค์ที่จะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยังคงสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 จวบจนถึงปัจจุบัน
การก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ 2540
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ 2540 แต่กว่าจะได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญต้องเผชิญกับการคัดค้านต่อต้านจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายโดยเฉพาะนักกฎหมายมหาชน เนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นองค์ความรู้นอกกระแสที่นักกฎหมายมีค่อนข้างจำกัดหรือเกือบจะไม่มีเลย อันเป็นเหตุให้ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปรากฏอยู่ในร่างแรกของร่างรัฐธรรมนูญ 2540
แม้ว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับหลักการคณะสิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายอานันท์ ปัณยารชุน เป็นประธาน ในทางตรงกันข้ามผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้มีการบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น เพราะนักกฎหมายมีความรู้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาร่างแรกของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ที่พัทยา จึงมีการประสานความร่วมมือกันระหว่างสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและองค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อเสนอและผลักดันให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในร่างรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ถูกคัดค้านจากนักกฎหมายมหาชนส่วนหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
กระทั่งมีการเสนอให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหนึ่งคนในสามคนเป็นผู้ตรวจการด้านสิทธิมนุษยชน จนในที่สุดสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นชอบให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแยกต่างหากจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นชอบด้วยกับการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรมตามขอบอำนาจของศาลนั้นแล้วแต่กรณี
จึงถือได้ว่าเป็นปฐมบทของการจำกัดและลดทอนอำนาจหน้าที่ที่เพียงพอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
การตรากฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2540
ในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 มีประเด็นสำคัญที่สมควรเน้นย้ำไว้ในที่นี้ คือ กรอบสิทธิมนุษยชน กระบวนการสรรหา และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ประเด็นการกำหนดกรอบสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นที่มีความยุ่งยากพอสมควร เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องราวของชีวิตมนุษย์และดำรงอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของสังคม แต่เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในสังคม จึงได้กำหนดนิยามสิทธิมนุษยชนไว้ในกฎหมายนี้ ซึ่งให้หมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายไทยหรือตามสนธิสัญญาทีประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม กรอบสิทธิมนุษยชนจึงครอบคลุมทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นประเทศไทยรับรอง
ประเด็นการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามหลักการปารีสเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้เน้นย้ำการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่หลากหลาย กฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาที่มีส่วนร่วมของบุคคลที่หลากหลาย โดยประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ อธิการบดี หรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลแห่งละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสิบคน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเลือกกันเอง กิจการละหนึ่งคนรวมเป็นสามคน เพื่อทำหน้าที่สรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งประสงค์ให้ได้บุคคลที่มีความรู้หรือประสบการณ์การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์
ประเด็นสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยที่มีความคลุมเครือเกี่ยวกับฐานะของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้ร่างกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของรัฐบาลสมัยนั้นได้กำหนดให้สำนักงานเป็นหน่วยงานราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เสนอให้สำนักงานเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น แต่ปรากฏว่ามีนักกฎหมายที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลในขณะนั้น คัดค้านไม่เห็นด้วยโดยอ้างว่าไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกอบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลอภิปรายคัดค้านอย่างหนัก จนทำให้สำนักงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทั้งนี้ ควรบันทึกไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า ได้มีการเจรจาต่อรองระหว่างกรรมาธิการที่มาจากองค์กรสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการกับผู้แทนรัฐบาลโดยมีข้อตกลงว่าควรให้สำนักงานเป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภาเพียงชั่วคราวห้าปีแต่เมื่อมีการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรกลับมีการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวอย่างไม่ทราบเหตุผลจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น ตามหลักการปารีสเกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และโดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีความมุ่งหมายให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อสำนักงานเป็นส่วนราชการสังกัดรัฐสภาทำให้ไม่มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้การปฏิบัติหน้าตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่อาจบรรลุผลเท่าที่ควรในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จึงถือได้ว่าเป็นการจำกัดและลดทอนหลักความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550
รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดบทบัญญัติปรับปรุงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สำคัญสามประเด็น คือ อำนาจหน้าที่ สำนักงาน และกระบวนการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ประเด็นอำนาจหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วรายงานต่อบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการแก้ปัญหานั้น หากนายกรัฐมนตรีไม่ดำเนินการให้รายงานต่อรัฐสภาเช่นเดียวกับการเสนอแนะนโยบายหรือการเสนอปรับปรุงกฎหมาย กฎหรือระเบียบต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี จะเห็นได้ว่าอำนาจหน้าที่แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ หากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้คุณค่าของสิทธิมนุษยชน ไม่ให้สำคัญหรือไม่รับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนย่อมยากที่จะประสบผลสำเร็จ เพราะโดยแท้จริงเป็นหน้าที่และความรับชอบของรัฐในการปกป้องคุ้มครองและทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นจริง
ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่า บทบัญญัติกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบรัฐธรรมนูญ การเสนอเรื่องต่อศาลปกครองในกรณีที่เห็นว่ากฎคำสั่งหรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนรวม ซึ่งเป็นที่คาดหมายได้ว่าหากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องให้ฝ่ายตุลาการได้ ย่อมทำให้แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนมีประสิทธิผลมากขึ้น เพราะฝ่ายตุลาการมีอำนาจบังคับการได้ ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 เคยมีการเสนอเรื่องนี้แต่ได้รับการปฏิเสธจากสภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น
ประเด็นสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐธรรมนูญ 2550ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระ ในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ซึ่งเป็นการกำหนดให้สอดคล้องกับหลักความความเป็นอิสระของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ภายหลังจากที่ถูกจำกัดเพื่อลดทอนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่การปรับปรุงกฎหมายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว
ประเด็นคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้คณะกรรมการสรรหามีจำนวนเจ็ดคน ประกอบประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน ซึ่งการกำหนดคณะกรรมการสรรหาดังกล่าว นอกจากจะเป็นยกเลิกคณะกรรมสรรหาตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 ที่ตั้งอยู่บนหลักการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่หลากหลายแล้ว ยังเป็นการรวมอำนาจให้ฝ่ายตุลาการแต่ฝ่ายเดียว
อีกทั้งเป็นการทำลายหลักการความเป็นอิสระของตุลาการอันเป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติธรรม จนกลายเป็นเหตุหนึ่งของความไม่น่าเชื่อถือและความไม่ไว้วางใจของประชาชนส่วนหนึ่งต่อสถาบันตุลาการ ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่าการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดที่สอง นอกจากจะสรรหาบุคคลที่อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังสรรหาบุคคลที่มีรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
จึงถือได้ว่าเป็นการจำกัดและลดทอนหลักการมีส่วนร่วมและการยึดโยงกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาสังคม
บทสรุปและข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่การได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อให้เป็นสถาบันหลักที่มีกรอบภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย แต่การก่อกำเนิดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องเผชิญกับปัญหาการจำกัดและลดทอนความเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนทั้งด้านกระบวนการสรรหา อำนาจหน้าที่ และความเป็นอิสระของสำนักงานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุกรอบภารกิจการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุดังกล่าว การยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน นอกจากจะไม่เป็นการแก้ต้นเหตุของปัญหาแล้วกลับเป็นสร้างปัญหาใหม่ขึ้นอีก เพราะทั้งสององค์กรแตกต่างกันทั้งกรอบอำนาจหน้าที่ คุณสมบัติของบุคคลที่มาทำหน้าที่และวัฒนธรรมขององค์กร อีกทั้งเป็นการตัดโอกาสทางเลือกของประชาชนที่จะใช้ประโยชน์จากทั้งสององค์กรในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเพื่อแก้ปัญหา
ดังนั้น เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนให้บรรลุผล จึงมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
ประการแรก การปรับปรุงการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่หลากหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังคณะกรรมการสรรหาตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 อันประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ อธิการบดีหรือผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลแห่งละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือสิบคน ผู้แทนพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคละหนึ่งคนซึ่งเลือกกันเองให้เหลือห้าคน ผู้แทนสื่อมวลชนในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งเลือกกันเอง กิจการละหนึ่งคนรวมเป็นสามคนทำหน้าที่สรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งประสงค์ให้ได้บุคคลที่มีความรู้หรือประสบการณ์การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์
ประการที่สอง การปรับปรุงอำนาจหน้าที่ให้ส่งเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรมตามขอบเขตอำนาจของศาลนั้นแล้วแต่กรณีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 รวมทั้งการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเสนอแนะนโยบายหรือการเสนอปรับปรุงกฎหมาย กฎหรือระเบียบต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยจะต้องกำหนดให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภามีกลไกและมาตรการที่เหมาะสมในการรองรับข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ประการที่สาม การปรับปรุงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นอิสระตามหลักการความเป็นของสถาบันสิทธิมนุษยชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 โดยกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และดำเนินการอื่นใด
โดยแท้จริงแล้วเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบรัฐในการส่งเสริม คุ้มครอง และทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นจริง แต่ทุกรัฐในโลกเช่นเดียวกับรัฐไทย ไม่เพียงแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว มีอยู่บ่อยครั้งรัฐกลับเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง จึงจำเป็นต้องมีสถาบันสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐในกรอบสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนที่สำคัญย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้การรับรอง
ด้วยเหตุดังกล่าว การยุบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปรวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน หากบังเกิดความเสียหายต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลในสังคมไทย
คำถามก็คือใครต้องรับผิดชอบต่อผลเสียหายดังกล่าวตลอดไป .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์สำนักข่าวทีเอ็นเอ็น