“ดร.บวรศักดิ์” เปิดใจ รัฐธรรมนูญ นักการเมือง และสื่อ
“เขาเรียกผมว่าตำบลกระสุนลง ไม่มีพวกเลยในสื่อมวลชน โดนยิงเป้าอยู่ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น ขอให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายช่วยกันหน่อยถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มันใช้ได้ มิฉะนั้นถูกตีตกแน่ๆ 100% แล้วก็กลับไปเหมือนเดิม ก็ช่วยไม่ได้”
27 มีนาคม ที่ผ่านมา “ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เปิดเวทีประชาเสวนาหาทางออก “สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย” ครั้งที่ 10 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ
เนื้อหาบางห้วงบางตอนสะท้อนการทำงานและความรู้สึกลึกๆ ของ “ดร.บวรศักดิ์” ที่กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในขณะนี้ได้อย่างแจ่มชัด
“ประเทศไทยร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้ว 19 ฉบับ กำลังจะประกาศเป็นฉบับที่ 20 82 ปี มี 20 ฉบับ ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจ หลายฉบับเปลี่ยนแปลงในวิถีรัฐธรรมนูญ เช่น ปี 2540 บางฉบับทำในสถานการณ์ไม่ปกติ เพราะความขัดแย้งไม่ยุติ วุ่นวายจนทหารมายึดอำนาจ” ดร.บวรศักดิ์ เปิดประเด็น
ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวต่อไปว่า รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ดีหรอก แต่อะไรคือเหตุผลที่เขาทำรัฐประหาร คำตอบก็คือ สังคมไทยในเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีความขัดแย้งแบ่งฝ่ายอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ความขัดแย้งที่เป็นอาการของโรคเป็นปัญหาที่ต้องแก้ ไม่นับรวมสาเหตุแห่งความขัดแย้งรุนแรงส่วนหนึ่งที่นักวิชาการระบุว่า เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลระหว่างคนมั่งมีกับคนไม่มีในชนบท สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ก็มีปัญหา
“ดร.บวรศักดิ์” เผยว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกที่จะนำเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)พิจารณาภายในวันที่ 17 เมษายนนี้ มีข้อความ 315 มาตรา สรุปเจตนารมณ์ได้ 4 ข้อคือ 1.เน้นการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.ทำการเมืองใสสะอาดสมดุล 3.หนุนสังคมเป็นธรรม และ4.นำชาติสู่สันติสุข
ทั้งนี้ การนำชาติสู่สันติสุข ต้องการยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น เราไม่ต้องการให้คนไทยตีกันเหมือน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ความปรองดองเกิดขึ้นปัญหาก็ไม่หมดไปเพราะสมุฏฐานของโรคคือความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคมยังคงอยู่
“เราจึงหนุนสังคมให้เป็นธรรม คือ ปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ และด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคนมั่งมีมหาศาลกับคนไม่มี ช่องว่างที่ใหญ่โตนี้พยายามทำให้แคบลงมาเหลือน้อยที่สุด รักษาอาการไข้แล้วต้องรักษาสมุฏฐานของโรคด้วย”
“ดร.บวรศักดิ์” กล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญต้องสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ เพื่อจะต้องใช้ในการบริหารประเทศควบคู่กับนักการเมือง และทำให้การเมืองสะอาดปราศจากการทุจริตเกิดความสมดุล ไม่ใช่พรรคหนึ่งมีอำนาจมากล้นฟ้า ที่เหลือไม่ต้องสนใจอะไรใคร
นอกจากนี้ยังได้อธิบายประเด็นข้อวิจารณ์เรื่องที่นายกฯคนนอก โดยระบุว่า การทำเมืองให้ใสสะอาดสมดุล มี 9 ประการ ที่สำคัญข้อแรกก็คือ ทำให้ความสมดุลเกิดขึ้นระหว่างการเมืองของนักการเมืองในรัฐบาลและในสภากับการเมืองภาคพลเมืองที่แท้จริง มีกระบวนการทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ขึ้นในทางการเมือง ประชาธิปไตยไม่ใช่ประชาธิปไตยทางตัวแทนอีกต่อไป
ทั้งนี้ การสร้างความสมดุลระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ส่วนใหญ่เมืองไทยใช้ระบบ 2 สภามาตลอด แต่หลายคนบอกว่าทำไมต้องมี คำตอบก็คือ ถ้ามีสภาเดียวเป็นรถด่วนขบวนยิ่งเร็ว ยิ่งกระแสมา พรรคการเมืองเสียงข้างมากจะเอายังไง ทีเดียวจบ ลองนึกถึงกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่แล้วก็แล้วกัน
ดังนั้น เมื่อมี 2 สภาแล้ว สภาผู้แทนฯก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนพลเมือง พรรคการเมืองก็ส่งผู้แทนไปหาเสียง อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภาผู้แทนฯ ลงคะแนนเสียงตั้งนายกฯก็อยู่ในนี้โดยเปิดเผย ไม่มีตรงไหนที่บอกว่ามีนายกฯคนนอก
“ไปอ่านร่างรัฐธรรมนูญดูสิครับ เขียนไว้ชัดเลยว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ทำในสภาผู้แทนราษฎรโดยการลงมติอย่างเปิดเผย แล้วคนที่นำทูลเกล้าฯถวายคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนฯมาจากไหน เขาไม่ได้ออกมาจากฟ้าแล้วประดิษฐานลงมา แต่เป็นคนของพรรคเสียงข้างมากที่สุดในสภา ถ้าผู้แทนราษฎรหรือคนของพรรคเสียงข้างมากที่สุดจะไปเอาคนนอกมา ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว”
ประธานกมธ.ยกร่างฯ ย้ำเตือนว่า “...จำได้มั๊ยช่วงที่ สปช.เลือกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 20 คน ผมลุกขึ้นยืนเสนอว่าให้ไปเอาคู่ขัดแย้งมาสัก 5 คน 15 คน สมาชิกสปช.เขายกมือเป็นเอกฉันท์เลยว่าเขาไม่เอาคนนอก เขาจะเอาแต่พวกเขากันเอง 20 คน”
“นี่ขนาดไม่ใช่ตำแหน่งนายกฯ แล้วส.ส.จะไปเลือกคนนอกมาทำไม แล้วเลือกโดยเปิดเผยด้วย ถามว่าทำไมกรรมาธิการยกร่างฯไม่เขียนซะล่ะว่า คนที่จะเป็นนายกฯต้องมาจากส.ส. อ้าว... ก็เคยเขียนมาแล้ว ผลสุดท้ายต้องมาฉีกรัฐธรรมนูญใช่มั๊ยเล่า วันที่ 22 พฤษภาคม 57”
“ดร.บวรศักดิ์” กล่าวอีกว่า “...เพราะไม่มีสภา หาทางออกไม่ได้ ทุกคนก็อยากเอานายกฯคนนอก สิ่งแรกที่คนไทยทำคือ มาตร7 ไปขอพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสในวันที่ 23 เมษายน 2549 ว่า ท่านต้องทรงทำตามรัฐธรรมนูญ ท่านจะทรงตั้งใครตามอำเภอพระราชหฤทัยไม่ได้ ท่านบอกว่าผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่านายกฯต้องเป็นส.ส. ไม่มีทางอื่น”
“คุณประยุทธ์(จันทร์โอชา) ก็ถาม เชิญฝ่ายการเมืองมา ..ออกมั๊ย วุฒิสภาจะได้กราบบังคมทูลเอาคนนอกมา รัฐมนตรียุติธรรมวันนั้นบอกว่า ...ไม่ออก ไม่ออกก็อยู่ต่อ ประชาชนรับไม่ได้ คุณประยุทธ์เลยบอกว่า ถ้างั้นก็... แอ่นแอ้น ต้องฉีกรัฐธรรมนูญกันอีกเหรอ”
ฉะนั้น การไม่กำหนดเอาไว้ว่า นายกฯต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น แต่กำหนด 2 ล็อก ล็อกที่ 1 คือ คนนำขึ้นกราบบังคมทูลเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นคนของพรรคเสียงข้างมาก และ2 สภาผู้แทนราษฎรต้องลงมติเลือกโดยเปิดเผยในสภา ก็จะเกิดเหตุอย่างในปี ‘35 คราวพลเอกสุจินดา(คราประยูร) ไม่ได้
“ดร.บวรศักดิ์” ย้อนอดีตว่า คนที่ศึกษาการเมืองไทยจะพบว่าตอนนั้นที่เกิดเหตุก็เพราะว่า วิธีตั้งนายกฯ วันนั้นประธานรัฐสภาคือประธานวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และวิธีหานายกฯ เขาไปขอจดหมายหัวหน้าพรรคมาทีละคน
สมมุติคุณบรรหาร ศิลปอาชา เซ็นมาในนามพรรคชาติไทยสนับสนุนพลเอกเปรม(ติณสูลานนท์) อีกคนหนึ่ง สมมุติคุณพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เซ็นมาอีกว่าส.ส.พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนพลเอกเปรม
พอรวมกันได้เกินครึ่ง ก็เอาจดหมายนั้นแนบท้ายทำคำกราบบังคมทูลถึงพระเจ้าอยู่หัว โดยคนซึ่งเป็นประธานวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งว่า ขอเดชาบัดนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้สอบถามหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งมีเสียงเกินครึ่งแล้ว เห็นควรสนับสนุนนาย ก. เป็นนายกฯ สภาไม่เกี่ยวเลย จึงได้พลเอกสุจินดา จำได้มั๊ย
ตอนแรกเสนอพ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมแต่บังเอิญอเมริกาไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศก็เลยถอย พอถอย... พรรคร่วมรัฐบาลเสนอชื่อพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จำได้มั๊ย คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นประธานสภา ไม่ได้โหวตในสภาผู้แทนฯ แต่มีจดหมายสนับสนุน
คุณอาทิตย์ก็เข้าไปในวัง เอ๊ะ... คนยี้กันนะ คุณอาทิตย์ทูลเกล้าคุณอานันท์(ปันยารชุน) คุณอานันท์ไม่ได้เป็นส.ส.นะ พลอากาศเอกสมบุญเป็นส.ส. แต่คนที่เรียกร้องให้ส.ส.เป็นนายกฯ ...ไชโย
ในขณะที่ยอมตายกันจำได้มั๊ย พฤษภา’35 เพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญว่าส.ส.เท่านั้นเป็นนายกฯ พอเขานำเสนอส.ส.คนแรก ไม่เอา ส.ส.คนที่สอง ก็ไม่เอา พอเอาคนนอกที่ไม่ใช่ส.ส.มา ...เฮ นี่คือคนไทย เลยไม่รู้จะเอาอะไร
ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนบอกเลยว่า คนนำความทูลเกล้าฯนั้นคือประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นคนของพรรคเสียงข้างมากและต้องลงมติในสภา ฉะนั้นขอโทษท่านที่เคารพ อย่าไปฟังนักการเมืองที่เอาข้อยกเว้นในเวลาที่มีวิกฤตขึ้นมาพูดเป็นหลัก แล้วตีส.ส. นายกฯคนนอกๆ
“ดร.บวรศักดิ์” เล่าว่า ผมไปพูดให้ทูตอียูกว่า 20 ประเทศฟัง พออธิบายเสร็จ ทูตเยอรมันท่านบอกว่ารัฐธรรมนูญเขาก็เขียนเหมือนบ้านเรา เขาก็แปลกใจว่าทำไมนักการเมืองไทยมาพูดเรื่องนายกฯคนนอก ในเมื่อคนเลือกคือส.ส. คนนำความกราบบังคมทูลคือประธานสภาผู้แทนฯที่มาจากส.ส.พรรคที่ใหญ่ที่สุด
ส่วนคำถามว่าทำไมไม่เขียนให้เป็นส.ส. “ดร.บวรศักดิ์” ชี้แจงคำตอบว่า ...ถ้าบ้านเมืองไม่มีทางออก แล้วพรรคพร้อมใจกันไปเชิญคนนอกมาเป็น ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ
หลายคนบอกว่าทำไมไม่เขียนให้ชัดล่ะว่า เกิดวิกฤตถึงไปเชิญคนนอกมาได้ ผมก็บอกว่า เขียนได้ แต่จะเกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต ทะเลาะกันอีก สุดท้ายก็ให้ศาลตีความ ศาลก็ต้องใช้เวลาอีก ระหว่างนั้นตีกันถึงไหนแล้วก็ไม่รู้
“อย่างไรก็ตาม วิจารณ์กันมากก็อาจจะมีการปรับได้ ฟังจนวินาทีสุดท้ายนั้นแหละ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเลือกคนที่เป็นส.ส.คุณก็ใช้เสียงเกินครึ่ง แต่ถ้าเลือกคนที่ไม่ใช่ส.ส. คุณก็ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 อย่างนี้รับได้มั๊ย ท่านไปคิดมา”
สำหรับกรณีที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ประธานกมธ.ยกร่างฯ แจงรายละเอียดว่า เมื่อสภาผู้แทนฯเป็นสภาที่มีอำนาจการเมืองที่แท้จริง เป็นสภาที่เลือกนายกฯ เป็นสภาที่ถอดนายกฯ เวลาที่ขัดแย้งกันเรื่องกฎหมาย สภาผู้แทนฯจะเป็นคนชี้ขาดว่าเอาหรือไม่เอา วุฒิสภาจะเหมือนกับสภาผู้แทนไม่ได้
“วุฒิสภาต้องเป็นสภาของพลเมืองหลากหลายอาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับการเมืองของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนฯ พูดให้ชัดก็คือ ในขณะที่สภาผู้แทนฯอาศัยพรรคการเมืองและอาศัยพื้นที่เป็นเขตเลือกตั้ง วุฒิสภาจะอาศัยวิชาชีพ อาชีพ เป็นตัวชี้ขาด”
เพราะบ้านเมืองนี้ไม่ได้มีแต่พรรคการเมือง ท่านทั้งหลายที่อยู่ในอาชีพต่างๆก็ควรจะเข้าไปนั่ง เป็นสภาของพลเมืองในวุฒิสภา เพื่อถ่วงดุลสภาการเมืองของพรรคการเมือง
เวลานี้วุฒิสภาในรัฐธรรมนูญร่างแรกก็บอกว่า คนที่เคยเป็นนายกฯ เคยเป็นประธานรัฐสภา เคยเป็นประธานศาลฎีกา เลือกกันเองไม่เกิน 10 คน อดีตปลัดกระทรวง อดีตผบ.เหล่าทัพ เลือกประเภทละ 10 คน องค์กรวิชาชีพ เช่น สภาทนายความ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าฯลฯ เลือกกันเอง 10 คน
แต่ที่สำคัญรัฐธรรมนูญนี้เปิดโอกาสว่า ถ้าคุณมีองค์กร เช่น เกษตรกร มีสภาเกษตรกร มีสหกรณ์การเกษตร คุณเลือกมาเลย 10 คน ถามว่าชาวนา ชาวสวนยาง ชาวไร่อ้อย มีโอกาสเข้าไปนั่งในสภามั๊ย ไม่มีครับ แต่ร่างรัฐธรรมนูญบอกว่าต่อไปนี้ เลือกกันเอง
มีคนถามผมว่าทำไมไม่ให้เลือกตั้งโดยตรง ผมบอกว่าถ้าเลือกตั้งโดยตรง ชาวนาจะได้เข้าไปมั๊ย คำตอบคือ เขาไม่เลือกคุณหรอก แต่วุฒิสภาจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรโดยผ่านการเลือกของสภาเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตรเข้าไปได้ 10 คน หรือแรงงานผ่านการเลือกของสหภาพแรงงาน
เสียงเล็กเสียงน้อยอย่างนี้ ถ้าไปเลือกตั้งแข่งกับนักเลือกตั้ง ในระบบเลือกตั้งธรรมดา ไม่มีทางได้เข้า ผมไม่เห็นเสียงเชียร์เลย เพราะนักการเมืองเขาไม่แฮ๊ปปี้ เขาจึงเรียกร้องให้เลือกตั้งโดยตรง
ท้ายที่สุด อีก 100 คน เราบอกว่าให้ไปเอาปราชญ์ชาวบ้าน ตัวแทนผู้พิการ เยาวชน สตรี ตัวแทนด้านต่างๆ ให้หลากหลายอาชีพที่สุด มา 100 คน แล้วมาสมัคร มีกรรมการสรรหา แล้วส่งชื่อไปให้สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และสมัชชาพลเมืองเลือก เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม แต่วันนี้มีเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้งทางตรงมาก ก็อาจจะทบทวนได้
“วุฒิสภาอย่างนี้เรียกว่าวุฒิสภาพหุนิยม เป็นสภาพลเมือง เป็นการเมืองภาคพลเมือง เอาเข้าไปคานกับการเมืองของนักการเมืองของพรรคการเมืองซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เมื่อวุฒิสภาเป็นสภาพลเมืองมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมไม่ใช่ลากตั้งอย่างที่พูดกัน เขาเลือกกันมาทั้งนั้น ลากตั้งคือผมตั้งคนเดียว”
“แต่การเมืองจะตีอะไรเขามีวิธีพูดให้เข้าใจผิด เขาก็จะบอกว่าเป็นลากตั้ง ลากตั้งตรงไหน เขาเลือกกันเอง มีองค์กรเป็นฐาน ที่ไม่มีองค์กรเป็นฐานก็มีการสมัคร มีการสรรหา ส่งให้ท้องถิ่นเลือก ตรงไหนคือลากตั้ง นี่คือวิธีพูดของนักการเมือง แล้วสื่อมวลชนก็เอาคำพูดของนักการเมืองไปขยายต่อ นี่คือชีวิตจริงของประเทศไทย”
“ดร.บวรศักดิ์” ยังกล่าวถึงหมวดสังคมเป็นธรรมที่มีการปฏิรูปต่างๆ 16 ด้านว่า ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญภาค 4 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวของโลกและประเทศไทยที่มีภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและการปรองดอง
ภาคนี้ใช้ไป 5 ปี ไม่ต้องแก้ สิ้นผลไปเลยเหมือนพระอาทิตย์ตกดิน เว้นแต่คน 5 หมื่นคน สภาฯหรือคณะรัฐมนตรีเห็นว่ายังปฏิรูปไม่เสร็จ ก็อาจจะเสนอให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติได้ว่า ให้อยู่ต่ออีก 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี
ถามว่า ทำไมปฏิรูปถึงต้อง 5 ปี ก็เพราะบางเรื่องหมักหมมมานาน ฉะนั้น มีการปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปท้องถิ่น ปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ พลังงาน การศึกษา เช่น รัฐธรรมนูญหมวดปฏิรูปเขียนให้จัดตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อนำเงินไปจ้างทนายดีดีมาช่วยคนจน
“อาการทำนองนี้เยอะมากในหมวดปฏิรูป แต่ท่านต้องไปอ่าน แต่เชื่อไหม ไม่มีใครพูดถึงเลยในสื่อมวลชน ช่างน่าสงสารเสียจริงประชาชนชาวไทย เขาพูดถึงแต่เรื่อง จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จะเลือกนายกฯคนนอก ระบบเยอรมันเหม็นนม เหม็นเนย”
แล้วระบบที่ใช้อยู่ เลือกเขตเดียวคนเดียว ที่บอกว่าไม่ใช่ระบบเยอรมัน หรือว่าให้เลือกส.ว.จังหวัดละคน ระบบของไทย ไม่ใช่นะ นั่นคือระบบของอังกฤษนะ
ฉะนั้น เลิกพูดกันทีเถอะว่าเราเป็นคนกินข้าว ไม่ได้กินขนมปัง วิธีพูดที่จะทำลายกันในประเทศไทย แล้วสื่อก็ชอบมาก เยอรมันอย่างนั้นอย่างนี้ เลยทำให้คนที่คิดน้อยๆ เออ จริงเว้ย แต่ลืมคิดไปว่าระบบเลือกตั้งจริงๆไม่ใช่ของไทย
ของไทยต้องเป็นจอมพลสฤษดิ์(ธนะรัชต์) ระบบพ่อขุน เผด็จการ อย่างนั้นไทยแท้ เอามั๊ย คำตอบก็คือไม่เอา ระบบเลือกตั้งเป็นระบบของฝรั่ง ประชาธิปไตยเป็นของฝรั่ง เมื่อไปเอาของฝรั่งมา แล้วไปด่าฝรั่งทำไม
ผมต้องขอพูดหน่อย เพราะว่าฟังมานาน โอ้โห! เขาเรียกผมว่าตำบลกระสุนลง ไม่มีพวกเลยในสื่อมวลชน โดนยิงเป้าอยู่ฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น ขอให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย ช่วยกันหน่อยถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มันใช้ได้ มิฉะนั้นถูกตีตกแน่ๆ 100% แล้วก็กลับไปเหมือนเดิม ก็ช่วยไม่ได้
เขาทิ้งท้ายว่า ในสัปดาห์หน้ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเตรียมทบทวน หลายประเด็นที่ถูกวิจารณ์มาก โดยจะนำมาพูดกันใหม่ เช่น ที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. รวมถึงสัดส่วนผู้หญิงในการเมือง
“ตอนนี้ผมล้างหูไว้แล้วเพื่อฟังสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะไปนั่งให้ท่านทั้งหลายให้ข้อคิดเห็น แล้วก็หวังว่าข้อคิดเห็นของสมาชิกสภาปฏิรูป ซึ่งเป็นฝาแฝดอินจัน จะเป็นความคิดเห็นที่ทำให้รัฐธรรมนูญนี้มีความสมบูรณ์ขึ้น เป็นความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นความคิดเห็นแบบที่หนังสือพิมพ์นำไปพาดหัวว่า เตรียมชำแหละ เตรียมจวก เห็นหนังสือพิมพ์พาดหัว ผมสยอง”
“วันนี้อาจจะดุเดือดไปหน่อย แต่ต้องกรุณา ขออภัยด้วย เพราะว่าโดนมาเต็ม 3 เดือน แล้วก็ไม่ได้พูดอะไรอย่างนี้ พอมาพูดที พรุ่งนี้จะพาดหัวหรือไม่ ผมไม่รู้ แต่ความจริงผมไม่ได้แข็งกร้าวอะไรเลย เพียงแต่ขอร้องว่า อะไรก็ตามที่เป็นสิทธิพลเมือง พลเมืองอย่างสื่อมวลชนก็ควรจะสนใจ ไม่ใช่ให้นักการเมืองพูดฝ่ายเดียว”
ให้เสียงพลเมืองผู้ไม่มีเสียงได้มีโอกาสออกสื่อบ้าง ไม่อย่างนั้นก็นักการเมืองทั้งนั้น แล้วก็คนเดิมๆด้วย บางคนมาบอกว่า รัฐธรรมนูญถ้าเป็นกติกาอย่างนี้จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง สาธุ....
ขอบคุณภาพจาก http://www.posttoday.com