อย่าให้เป็น "ทุ่งยางแดงโมเม"
"อยู่ดีๆ มาถูกกล่าวหาเป็นอาร์เคเค แล้วจะให้มองว่าอย่างไร โดยเฉพาะทุ่งยางแดงโมเดลจะได้รับผลกระทบหรือไม่"
เป็นข้อสังเกตของผู้นำศาสนาบ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งคิดตรงกับอีกหลายคนว่า เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าเป็นการยิงปะทะกับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ เมื่อเย็นวันพุธที่ 25 มี.ค.58 และมีผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมถึง 4 ราย แต่ภายหลังกลับปรากฏหลักฐานว่าทั้ง 4 ไม่ได้เป็นคนร้าย ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะโครงการ "ทุ่งยางแดงโมเดล" ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ปลุกปั้นมานานหลายเดือน
อ.ทุ่งยางแดง ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องนโยบายบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กองกำลังประจำถิ่น และภาคประชาชน ในการช่วยกันดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ ภายใต้ชื่อ "ทุ่งยางแดงโมเดล"
โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 แห่งใน อ.ทุ่งยางแดง (5 แห่ง) และ อำเภอมายอ จ.ปัตตานี (1 แห่ง) เมื่อเวลา 02.00 น.ของวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2557 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ระบุว่าเตรียมโครงการเอาไว้ก่อนแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจึงใช้ อ.ทุ่งยางแดง เป็นพื้นที่นำร่อง
"ทุ่งยางแดงโมเดล" เป็นการระดมความร่วมมือจากกองกำลังประจำถิ่น ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) ชุดคุ้มครองตำบล (ชคบ.) อาสารักษาดินแดน (อส.) และองค์กรปกครองในระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศมนตรี รวมทั้งภาคประชาชน ในการออกตรวจตราและเฝ้าระวังเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ของตนเอง ขณะที่ภาครัฐทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องงบประมาณและอุปกรณ์
สำหรับ อ.ทุ่งยางแดง ซึ่งนำร่องโครงการนี้เพราะเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียน จึงมีการตั้งงบประมาณเพื่อสั่งซื้ออุปกรณ์ประเภท "สัญญาณเตือนภัย" เพื่อติดตั้งตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ ชรบ.หรือกองกำลังประจำถิ่นได้แจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น จะได้มีกำลังสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง
สำหรับมาตรการที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่นำร่อง "ทุ่งยางแดงโมเดล" มี 6 มาตรการ คือ 1.เพิ่มปฏิบัติการในตอนกลางคืน โดยจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดเฝ้าตรวจ ชุดสกัด และใช้อุปกรณ์พิเศษที่กองทัพจัดหาให้ 2.จัดให้มีศูนย์สื่อสารระดับตำบลเพื่อรายงานสถานการณ์ตลอดเวลา
3.ให้ทบทวน ซักซ้อม การรักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง 4.ทบทวนว่าพื้นที่ใดล่อแหลมและส่งมอบให้กำลังประชาชนรับผิดชอบไปแล้ว หากมีความจำเป็นให้ส่ง ตชด.และทหารเข้าไปช่วยเสริม 5.การตรวจค้นต้องไม่เหวี่ยงแห แต่ทำไปตามพยานหลักฐาน 6.ต้องไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอีก
มาตรการทั้งหมดจะทำควบคู่กับโครงการพัฒนาภายใต้การนำของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาชนสามารถดูแลพื้นที่ของตนเองได้
จะเห็นได้ว่า "หัวใจ" ของทุ่งยางแดงโมเดล คือความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนและผู้นำในพื้นที่ ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม 4 ศพอันน่ากังขาที่ อ.ทุ่งยางแดง เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และถูกชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะผู้เสียชีวิตไม่ใช่แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ ทั้งยังมี 2 คนที่เป็นนักศึกษา เหตุการณ์นี้จึงย่อมสั่นคลอนความแข็งแกร่งของ "ทุ่งยางแดงโมเดล" พอสมควร
ที่ผ่านมามีเสียงวิจารณ์จากบางฝ่ายว่า ทุกมาตรการที่ดำเนินการในทุ่งยางแดงโมเดล ล้วนเป็นเรื่องเก่า เคยทำมาแล้วทั้งสิ้น และล้มเหลวเกือบทั้งหมด ครั้งนี้แค่เปลี่ยนการใช้ถ้อยคำใหม่ เช่น การติดสัญญาณเตือนภัยที่โรงเรียน ก็เคยติดตั้งมาแล้วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กรุ้มรุมทำร้าย ครูจูงหลิง ปงกันมูล ที่บ้านกูจิงรือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2549 แต่เมื่อจะใช้งานจริงก็มีปัญหา
ล่าสุดปัญหาเดิมๆ ได้ย้อนกลับมาอีกครั้ง เพราะเริ่มมีเสียงบ่นระคนผิดหวังจากคนในพื้นที่ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ว่า สัญญาณเตือนภัยที่ติดตั้งใหม่ตามโรงเรียนนั้นไม่ค่อยจะมีคุณภาพเป็นที่น่าประทับใจสักเท่าไหร่ กลไกที่น่าจะเป็นระบบอัตโนมัติ ก็กลายเป็น "อัตโนมือ" คือต้องใช้มือกดสัญญาณ แล้วในยามเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย หรือกรณีฉุกเฉิน ใครจะกล้าเดินเพลินๆ ไปกดสัญญาณกันล่ะท่าน หนำซ้ำเมื่อกดแล้วเสียงก็ไม่ดังสนั่นให้คนร้ายตกใจ เจ้าหน้าที่ที่ไหนจะมา...นี่แหละหนาประเทศไทย
ระวังอย่าให้ "ทุ่งยางแดงโมเดล" กลายเป็น "ทุ่งยางแดงโมเม"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจากอินเทอร์เน็ต