สปส.ชี้ไม่เกิน 30 ปี กองทุนประกันสังคมติดลบ เหตุชราภาพพุ่ง 6.3 ล้านคน
วิน พรมแพทย์ เผยรัฐบาลค้างจ่ายสมทบประกันสังคม 6 หมื่นล. เตรียมใช้คืนแบบไร้ดอกเบี้ยภายในปี 58 วาดโรดแมพอีก 2 ปี ดันแก้กม.ตั้งกองทุนเป็นนิติบุคคล สังกัด ก.แรงงาน
วันที่ 27 มีนาคม 2558 ALNI ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน จัดเวที ‘นโยบายประกันสังคมกรณีชราภาพกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนอันพึงได้รับ’ ณ ห้องประชุมศุภัช ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กรุงเทพฯ
นายวิน พรมแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพว่า กองทุนบำนาญมี 3 เสาหลัก คือ 1.ระบบการออมภาคบังคับที่บริหารจัดการโดยภาครัฐ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม
2.ระบบการออมที่จัดตั้งและบริหารโดยภาคเอกชน ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
3.ระบบการออมภาคสมัครใจที่ประชาชนเลือกออมเอง ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ฯลฯ
“ไทยมีกองทุนบำนาญครบทุกเสาหลัก แต่ไม่ขยายครอบคลุมแรงงาน 39 ล้านคน โดยมีผู้ได้รับสิทธิบำนาญชราภาพเพียง 13 ล้านคน เท่านั้น” หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สปส.กล่าว และหวังว่า กอช.จะขยายครอบคลุมแรงงานอีกกว่า 20 ล้านคน ที่อยู่นอกระบบ
สำหรับสถานการณ์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพในอนาคต นายวิน กล่าวว่า จะประสบปัญหาจำนวนคนวัยแรงงาน มาตรา 33 ไม่เพิ่ม และคงตัวไปอีกราว 10 ปี ทำให้รายรับลดน้อยลง แต่รายจ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยคาดการณ์ ในปี 2578 รายรับกับรายจ่ายของกองทุนจะเท่ากัน และติดลบในปี 2587 เนื่องจากมีผู้รับบำเหน็จและบำนาญ 6.3 ล้านคน
หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สปส. กล่าวต่อว่า ต้องช่วยกันคิดหาแนวทางสร้างเสถียรภาพให้แก่กองทุน เพราะทำตั้งแต่วันนี้จะแก้ปัญหาง่ายกว่าปล่อยให้หมักไป ซึ่งเคยเสนอรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ต้องส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ชดเชยส่วนที่ขาดแคลน โดยเฉพาะอาชีพก่อสร้างและแม่บ้าน
อีกแนวทางหนึ่ง คือ กระจายการลงทุนเพื่อแสวงหาดอกผลที่สูงขึ้น หากลงทุนดอกผลเพิ่มร้อยละ 1 จะช่วยยืดอายุกองทุนได้ 5-10 ปี แต่หากให้ดอกผลเติบโตมากจะเกิดความเสี่ยงได้ และเสนอให้เพิ่มประสิทธิภาพ ความคล่องตัว และทำงานอย่างมืออาชีพ เพราะการลงทุนต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่บุคลากรไม่เพียงพอ สุดท้ายสร้างความเชื่อมั่น เน้นการเปิดเผยข้อมูล ยกตัวอย่าง ประวัติอนุกรรมการและกรรมการบริหารกองทุนทุกคน
สถานการณ์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพในอนาคต
นายวิน กล่าวถึงการนำเงินออมลงทุนให้เกิดดอกผลว่า ข้อมูลสัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 สปส.ลงทุนทั้งสิ้น 1,251,859 ล้านบาท ในหลักทรัพย์ที่มั่นคงสูง ร้อยละ 79 แบ่งเป็น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 66.76 หรือ 835,758 ล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) ร้อยละ 7.73 หรือ 96,792 ล้านบาท และหุ้นกู้เอกชน ร้อยละ 4.17 หรือ 52,260 ล้านบาท
นอกจากนี้ สปส.ยังลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยง ร้อยละ 21 แบ่งเป็น ตราสารหนี้อื่น ๆ ร้อยละ 4.95 หรือ 61,954 ล้านบาท หน่วยลงทุน (กองทุนอสังหาฯ-กองทุนต่างประเทศ) ร้อยละ 4.17 หรือ 52,190 ล้านบาท และเงินฝากธนาคาร (ไม่ค้ำประกัน) ร้อยละ 3.15 หรือ 39,392 ล้านบาท
หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สปส. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเบี้ยวจ่ายเงินสมทบกองทุนมาตลอด แต่ปีนี้แอบดีใจ เพราะรัฐบาลสัญญาจะใช้หนี้ค้างจ่ายภายในปี 2558 มีจำนวนทั้งหมดราว 6 หมื่นล้านบาท เเต่หากรวมปีนี้ด้วยเป็น 7.9 หมื่นล้านบาท เเต่ไม่มีดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก ในอนาคตรัฐบาลต้องคิดให้การจ่ายเงินสมทบเป็นหน้าที่เหมือนกับการจ่ายเงินกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ตรงเวลา และต้องทำให้ได้
สำหรับร่างโรดแมพการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม นายวิน ระบุว่า วางกรอบให้ สปส.เป็นหน่วยงานกำกับดูแล โดยมีเป้าหมาย โปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ บริหารงานโดยทีมงานมืออาชีพ และเพิ่มดอกผลการลงทุนมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี เพื่อยืดอายุกองทุน ซึ่งมี 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ภายในปี 2558 ต้องผลักดันให้ ‘สำนักงานบริหารการลงทุน’ เป็นกองจริงที่มีกฎหมายรองรับ พร้อมออกระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม จัดตั้ง Investment Unit เป็นหน่วยปฏิบัติการลงทุน มีระเบียบการจ้างบุคลากรและจัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็น
ระยะที่ 2 ภายในปี 2560 ผลักดันแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคมให้กองทุนเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงแรงงาน และมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ .