มูลนิธิเอเชีย เผย6 เวทีรับฟังความเห็นไร้เสียงค้านร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯ
มูลนิธิเอเชีย จับมือภาคีเครือข่าย เปิดข้อเสนอ-ข้อห่วงใยของประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ชี้เสียงส่วนใหญ่เห็นความจำเป็น แต่กลับมีข้อห่วงใยหลายประเด็น ที่รัฐบาลต้องรับฟัง
วันที่ 27 มีนาคม มูลนิธิเอเชีย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา จังหวัดนครราชสีมา วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา Let’s Talk It Over, Episode 5: ข้อเสนอและข้อห่วงใยของประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.... ณ ห้องประชุมพาโนราม่า 1 ชั้นที่ 14 โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร
ภายในงานมีการนำเสนอผลสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน ต่อร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ หลังจากเปิดรับฟังความเห็นขึ้น 6 เวที ที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา ยะลา โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งกลุ่มเกษตรกร นักธุรกิจ นักกฎหมาย นักวิชาการ สื่อ และภาคประชาสังคม
นางสาวนลินี กังศิริกุล ผู้จัดการโครงการ ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา กล่าวถึงภาพรวมการจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ว่า ทุกเวทีไม่มีใครคัดค้านกฎหมายภาษีที่ดินฯ โดยทุกภาคส่วนเห็นถึงความจำเป็นเรื่องของภาษีที่รัฐ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต้องจัดเก็บ แต่ก็แสดงความเห็นห่วงใย อาทิ อัตราภาษีที่จัดเก็บสูงเกินไปหรือไม่ คนไม่เคยเสียต้องเสียภาษีอย่างถ้วนหน้า โดยเฉพาะกระทบกับคนจน ตรงกันข้ามกับคนที่มีที่ดินมากกลับได้รับการลดหย่อยมากกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม อีกทั้งเกษตรกรคนยากจนมีแนวโน้มสูญเสียที่ดินสูง เพราะมีแนวโน้นว่า คนมีศักยภาพสูงมีโอกาสครอบครองที่ดินมากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมักจะได้รับการยกเว้น ลดหย่อนภาษีให้มากกว่า
“กฎหมายฉบับนี้จึงยังไม่ตอบโจทย์เรื่องเพิ่มความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายการถือครองที่ดิน เพราะคนมีที่ดิน มีบ้าน ไม่ได้แปลว่า มีเงินจ่ายภาษีทุกคน ”
ผู้จัดการโครงการ ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา กล่าวต่อว่า หลายเวทีจึงมีข้อเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ควรกำหนดให้ชัดการลดหย่อน ยกเว้น ให้กับกลุ่มเปราะปรางทางสังคม เช่น คนไม่มีงานทำ เกษียณอายุ คนจน คนพิการ ผู้เยาว์ ผู้พ้นโทษ ครอบครัวเดี่ยว เป็นต้น
สำหรับประเด็นที่ต้องพิจารณา การกำหนดนิยาม รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ยังไม่ชัดเจน ดังนี้
1.การกำหนดอัตราภาษี แบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 3 ประเภท คือ พื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย และพื้นที่อุตสาหกรรมนั้น กว้างเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงยังมีความแตกต่างกันในแง่การใช้งานของที่ดินแต่ละประเภท เช่น ในภาคเกษตรกรรมมีการใช้ที่ดินแตกต่างกันหลายระดับ ทั้งการทำเกษตรแบบดั่งเดิม เกษตรแบบอุตสาหกรรม และเกษตรแบบพอเพียง จึงไม่ควรใช้ฐานภาษีอัตราเดียวเหมือนกันหมดในการจัดเก็บภาษี
2.การกำหนดข้อยกเว้น การลดหย่อน สำหรับกลุ่มต่างๆ ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม และยังไม่มีการกำหนดมาตรการลดหย่อนเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เช่น กลุ่มที่ยังผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินภาษีในแต่ละงวดของการผ่อนชำระอยู่ หรือมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับพื้นที่พิเศษ เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มี่ที่ดินว่างเปล่ามาก เหตุจากความรุนแรงทำให้มีคนอพยพออกนอกพื้นที่ ขณะที่ประชาชนมีรายได้น้อย และที่ดินมีมูลค่าต่ำ
3.การจัดเก็บภาษี ยังไม่ชัดเจนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกหลายประเภท อยู่ในข่ายถูกจัดเก็บภาษีด้วยหรือไม่ เช่นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ที่เช่าราชพัสดุ และที่ดินที่เช่าช่วงต่อมา ที่ดินใช้ค้ำประกันกับธนาคาร ที่ดินมรดก ที่ดินนิคมสร้างตนเอง ที่ดินเช่าซื้อที่ต้องผ่อนชำระและต้องเสียดอกเบี้ยธนาคาร หรือสถานศึกษาที่เป็นเอกชน เป็นต้น
4.หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ชัดเจน ซึ่งต้องมีการกำหนดใครเป็นผู้มีอำนาจรับผิดชอบในการประเมินมูลค่า เกณฑ์ในการประเมินคืออะไร การกำหนดราคากลางเป็นไปตามราคาตลาดหรือไม่ รวมถึงการประเมิน เช่น ความเป็นเมือง ชนบท ความแตกต่างลักษณะการใช้พื้นที่ ความแตกต่างของสิ่งปลูกสร้าง ประเภท ลักษณะ วัสดุที่ใช้ การหักค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
ทั้งนี้ไม่ควรผลักภาระความรับผิดชอบในการเมินราคาที่ดินให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ เพราะอาจสร้างความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ได้
ข้อเสนอแนะ สำหรับหลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรจัดให้มีหน่วยงานกลางที่เป็นองค์กรวิชาชีพทำหน้าที่ประเมินราคา ช่วงแรกรัฐอาจทำหน้าที่เก็บภาษีแทน ยกเว้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม รวมถึงการมีมาตรการป้องกันการทุจริตจากการประเมินราคาและการจัดเก็บภาษี ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการประเมินราคาในท้องถิ่นของตนเอง เช่น ทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น
“ความห่วงใยของประชาชนต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ เก็บภาษีอย่างไรจึงครบถ้วนเสมอหน้า ไม่มีเส้นใหญ่เส้น ไม่ลำเอียง ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่พัวพันกับการเมือง เป็นหัวคะแนน ฐานเสียง รวมถึงควรมีการแสดงข้อมูลต่อสาธารณะชนว่า ใครเสียภาษี อะไร เท่าไหร่ เพื่อให้รู้ว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ที่สำคัญเพื่อให้คนยอมจ่าย ควรกำหนดให้ชัดเป็นรูปธรรมว่า ภาษีที่ดินจะเอาไปทำอะไร”
นางสาวนลินี กล่าวถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจในเจตนารมณ์กฎหมายภาษีที่ดิน จึงมีข้อเสนอว่า ในเมื่อสังคมยังรับรู้ไม่ทั่วถึง ภาษากฎหมายจำเป็นต้องแปลงสารให้เข้าใจในหลายช่องทาง รวมถึงมีคลินิกภาษีขึ้นมาเพื่อช่วยประชาชน รวมถึงเมื่อร่างกฎหมายภาษีที่ดินจะเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขอให้มีกรรมการคนนอก ภาคประชาชน ภาคเอกชนเข้าไปให้ความคิดเห็น หรือเป็นกรรมาธิการด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากนี้ มูลนิธิเอเชีย และองค์กรภาคีเครือข่าย จะจัดทำความคิดเห็นทั้งหมดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล หลายประเด็นต้องมีการทบทวน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ประชาชนจากทุกภาคส่วนเพื่อให้การปฏิรูประบบภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนการกระจายอำนาจที่สังคมไทยรอมานานบรรลุผลในที่สุด