ถกวิกฤติหมอกควัน ภาครัฐชงบ.เอกชนซื้อตอซังข้าวโพด-ผลิตไฟฟ้าชีวมวล
หยุดยั้งไฟป่านักวิชาการ กรมป่าไม้ ชี้ต้องลดปริมาณเชื้อเพลิง ชิงเผาตามหลักวิชาการไฟป่า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
26 มีนาคม 2558 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการเรื่อง"จะหยุดยั้งปัญหาหมอกควันไฟป่าได้อย่างไร ในปี 59" ณ ห้องประชุม FORTROP ตึกวนศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นายเฉลิม พุ่มไม้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากพื้นที่ป่าอุทยาน 73 ล้านไร่ ส่วนใหญ่พื้นที่ทางภาคเหนือจะมีปัญหาไฟป่ามากที่สุด และรุนแรงที่สุด ซึ่งสถานการณ์ปัญหาหมอกควันล่าสุดในวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา พบจุดความร้อน หรือ hotspot จำนวน 21,362 จุด ที่เกิดขึ้นจากไฟป่า โดยเป็นพื้นที่ในเขตภาคเหนือหมื่นกว่าจุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 พันจุด ภาคกลางและภาคตะวันออก 3 พันจุด และภาคใต้ 100 กว่าจุด
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าฯ กล่าวอีกว่า จากการเก็บสถิติกรณีการเกิดไฟป่าแสนกว่าครั้ง พบว่า มีเพียง 2-3 ครั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติ 100% นอกนั้นเป็นฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้นจะต้องมีการส่งเสริมให้ความรู้ กระตุ้นประชาชนไม่ให้ตัดสินใจก่อไฟป่า
ด้านนายอุทร สุทธิมิตร เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กล่าวว่า ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็น น่าน หรืออำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เกิดการบุกรุกป่าไปมากแล้ว หลายครั้งเราพูดเรื่องวนเกษตรอยากให้ชาวบ้านทำ แต่ในทางปฏิบัติทฤษฎีนี้เอาไปใช้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการแบบเข้มข้นไม่ได้ เพราะประชาชนเน้นปลูกพืชเชิงเดียว เพราะต้องการกำไรสูงสุด ดังนั้นการจะส่งเสริมวนเกษตรจะต้องมีการบอกให้ชัดเจนว่า จะปลูกพืชเดียวกับ ต้นไม้ประเภทใด ได้ผลกำไรเท่าไหร่ เพาะปลูกแบบไหน หากมีการทำข้อมูลวิจัยอย่างจริงจังร่วมกับการบังคับใช้กฎหมายก็จะสามารถลดปัญหาหมอกควันได้
ขณะที่นายประสิทธิ์ เกิดโต องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวถึงการแก้ปัญหาหมอกควันจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่เคยคิดไม่เคยทำ บางครั้งเมื่อแก้เรื่องเผาไม่ได้ก็ต้องปรับวิธีการปลูก ส่วนซังข้าวโพด เศษมันสำปะหลังมาทำเชื้อเพลิงชีวมวล
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในวงเสวนาได้เสนอมาตรการในการลดหรือบรรเทาปัญหาไฟป่าในอนาคต ดังนี้
แนวทางในระยะสั้น
1.ลดปริมาณเศษวัสดุการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรรม โดยการรับซื้อผลผลิตการเกษตรบริษัทจะต้องซื้อเศษวัสดุการเกษตรออกไปด้วย เช่น กรณีข้าวโพดที่ต้องซื้อตอซังออกไปจากพื้นที่ และอาจนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล
2.ให้บริษัทเอกชนทำโครงการเพื่อสังคมในเรื่องการป้องกันไฟป่า โดยคิดเป็นมูลค่าการกักเก็บจากการป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่า
3.นำเศษวัสดุการเกษตรไปใช้ประโยชน์และสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ครบวงจร
4.การจัดระเบียบการเผาจะต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนเดือนกุมภาพันธ์
5.ชิงเผาตามหลักวิชาการหรือเผาตามกำหนดก่อนถึงช่วงวิกฤติหมอกควันไฟป่าในบริเวณสวนป่าโดยเฉพาะสวนป่าสัก จะช่วยลดปริมาณเชื้อเพลิงเมื่อถึงฤดูไฟป่าและไฟยังมีส่วนช่วยในการหมุนเวียนของธาตุอาหารและช่วยควบคุมแมลงศัตรูไม้สักได้
6.การบูรณาการในเรื่องการจัดการไฟป่าระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ในการพยากรณ์ คาดการณ์ สถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดปัญหาหมอกควัน
7.บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
ส่วนมาตรการในระยะยาวนั้น
1.แก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ที่จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่าในปัจจุบันสามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ จะทำให้การปลูกพืชอายุสั้น โดยเฉพาะข้าวโพดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลดลง โอกาสในการเกิดไฟไหม้ก็จะลดลง
2.การปรับเปลี่ยนการเกษตรจากพืชอายุสั้นไปสู่ไม้ยืนต้น
3.ให้การศึกษาแก่เยาวชนในเรื่องปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง