ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต “การศึกษา” ประเทศไทย
“จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย แม้ว่าเด็กจะอยู่ในห้องเรียนปีละ1,000-1,200 ชั่วโมง คุณครูก็ตั้งใจสอน แต่คุณครูไม่มีโอกาสอยู่ในห้องเรียนอย่างที่ควรจะอยู่ ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของการปรับห้องเรียนประการแรกก็คือ จะต้องคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้”
25 มีนาคมที่ผ่านมา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด, และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกันจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อ“Education for the Future : ปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต” ผ่าทางตันวิกฤติการศึกษาไทย ชูทางออกอนาคตการศึกษาศตวรรษที่ 21 โดยมีนักวิชาการ นักการศึกษา ครู อาจารย์ มาร่วมปลุกพลังสร้างการเรียนรู้ปฏิรูปการศึกษาไทยในประเด็นที่หลากหลาย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ผ่านหัวข้อ “ประเทศไทยกับอนาคตใหม่ทางการศึกษา” ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เงินไปกับการศึกษาจำนวนมาก ขณะเดียวกันครูและเงินเดือนครูก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เช่นเดียวกับเด็กไทยใช้เวลาอยู่ในห้องเรียน1,000 –1,200ชั่วโมง/ปี มากกว่าเด็กในประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์กรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือประเทศ OECD ที่มีเวลาอยู่ในห้องเรียนน้อยกว่าประเทศไทยไม่ถึง 800 ชั่วโมง/ปี
หรือมากกว่าประเทศฟินแลนด์ที่มีการศึกษาดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลกก็ยังอยู่ในห้องเรียนน้อยกว่าประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด แต่เหตุใดผลการสอบในประเทศไทย อาทิ การสอบ o-net ปรากฏว่ามีจำนวนนักเรียนที่สอบผ่านแต่ละครั้งได้เกินครึ่งมีจำนวนน้อย หรือเรียกได้ว่าสอบตกเป็นส่วนใหญ่
“การสอบ o-net รอบสุดท้ายที่ผ่านมามีคนได้คะแนนเต็ม 100 จำนวนหนึ่ง ในเวลาเดียวกันก็มีคนได้ ศูนย์คะแนน ซึ่งการได้ 0 คะแนนในหลายวิชานั้น เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าน่าจะทำได้ยากกว่า การทำได้ 100 คะแนน การได้ 0 นั้นแปลว่าทำไม่ถูกเลยแม้แต่ข้อเดียวเป็นไปได้อย่างไรกัน เหล่านี้สะท้อนว่า การศึกษาประเทศไทยมีปัญหา”
ประธานทีดีอาร์ไอ เผยว่า จะสามารถปรับห้องเรียนเปลี่ยนอนาคตประเทศไทยได้ประเด็นแรกต้อง “คืนครูกลับสู่ห้องเรียน” ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า ใน 1 ปี เวลาที่ครูใช้ไปกับกิจกรรมต่างๆ นอกชั้นเรียนมีจำนวนถึง 84 วัน/ปี คิดเป็นเวลาที่ครูจะได้เจอนักเรียนหายไป 42%
“จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย แม้ว่าเด็กจะอยู่ในห้องเรียนปีละ1,000-1,200 ชั่วโมง คุณครูก็ตั้งใจสอน แต่คุณครูไม่มีโอกาสอยู่ในห้องเรียน อย่างที่ควรจะอยู่ ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของการปรับห้องเรียนประการแรกก็คือ จะต้องคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้”
ผลการศึกษายังพบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่สำคัญประการหนึ่งของเวลาที่ครูหายไปจากห้องเรียนก็คือ การประเมินโรงเรียนโดยสำนักงานรับรองมาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.เพราะทำให้การประเมินโรงเรียนที่ควรจะเป็นการประเมินภายในไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ขณะเดียวกันการจ้างผู้ที่ไปตรวจสอบคุณภาพโรงเรียนในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาใช้เงินเกือบ 2,000 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เมื่อประเมินออกมาแล้วกลับมีข้อเสนอออกมาคล้ายกันคือ โรงเรียนควรส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น ส่งเสริมให้สามารถใช้กับชีวิตประจำวันได้ พัฒนาทักษะการคิดและทำให้เกิดความสุขในชีวิต ซึ่งผลการประเมินแบบนี้ไม่ต้องไปเยี่ยมโรงเรียน ก็สามารถเขียนไดตั้งแต่ก่อนไปแล้ว
นอกจากนี้ผลศึกษายังพบว่า กิจกรรมต่างๆ ที่ครูต้องไปทำนอกห้องเรียนบางอย่างเป็นประโยชน์และสมควรทำ แต่บางอย่างก็มีเครื่องหมายคำถามว่าสมควรต้องไปทำมากหรือไม่ โดยครู 40%ตอบว่ากิจกรรมที่มีประโยชน์คือการไปแข่งขันด้านวิชาการ ส่วนกิจกรรมที่ครูคิดว่าไม่มีประโยชน์อันดับแรก คือ การประเมินโรงเรียนจาก สมศ. ประมาณ 46%
ประธานทีดีอาร์ไอ ยังเสนอว่า นอกจากการคืนครูสู่ห้องเรียนแล้ว จะต้องคืนครูที่พร้อมและครูที่เก่งกลับสู่ห้องเรียน รวมทั้งบริหารจัดการห้องเรียนให้ดีขึ้น เนื่องจากปัญหาการคัดเลือกครูมีหลายประการ โดยเฉพาะยังใช้การสอบข้อเขียนเป็นหลัก ซึ่งครูที่เข้าไปสอนอาจจะมีความรู้ แต่มีทักษะการสอนดีหรือไม่ มีทัศนคติดีพอหรือไม่
“การผลิตครูออกมามากมายโดยเน้นเพียงปริมาณนั้นก็ควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง วิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือการประกาศผลการสอบ ว่าสถาบันการศึกษาแห่งไหนผลิตครูออกมาแล้วครูไม่สามารถไปสอบเป็นครูได้จริง ผลการเรียนไม่ดี ก็จะสะท้อนว่าสถาบันการศึกษาแห่งนั้นคุณภาพไม่ดีพอ จะได้เป็นแรงกดดันให้มีการปรับตัวกันต่อไป”
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้ว่า สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ต้องการเรียนรู้ ต้องมีครูที่เข้าใจ มองเห็นตัวตนของเด็ก สามารถปรับการเรียนการสอนยืดหยุ่นตามนักเรียนได้
“passion for learning ต้องไปกับความยืดหยุ่นและความเข้าใจของครู ครูต้องยืดหยุ่นได้ คำถามคือเราพร้อมหรือไม่ที่จะยืดหยุ่นทั้งหัวข้อ กระบวนการเรียนรู้ แม้แต่เรื่องการวัดผล หากเรามีความยืดหยุ่นในเรื่องเหล่า เอาหัวใจเด็กเป็นตัวตั้ง ผมเชื่อว่าจะทำอะไรได้มากกว่ากว่าเรียนรู้ด้วยซ้ำไป แต่เรายังทำให้เด็กรักตัวเอง รักเพื่อนมนุษย์ รักการเรียนรู้”
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองว่า ระบบการศึกษาไทยออกแบบเหมือนกับว่าปริญญาคือคำตอบ แต่การศึกษาในอนาคตจะเป็นการศึกษาตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่การศึกษาภาคบังคับ 12 ปี หรือ 16 ปี นอกจากนี้มีเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาทดแทนการทำงานที่ซ้ำซาก พร้อมกันนี้การศึกษาจะมีภาษาใหม่จากนิวมีเดีย เช่น ตัวการ์ตูนจากไลน์ ไม่ใช่การศึกษาผ่านตัวอักษรแบบเดิมๆอีกต่อไป
ขอบคุณภาพจาก: บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด