จุฬาฯ จัดเฉลิมพระเกียรติพระเทพฯ ยกย่องพัฒนาบัณฑิตไทยทุกด้าน
จุฬาฯ จัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ ครบ 60 พรรษา ‘คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ’ ยกย่องทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน นักปฏิบัติ พัฒนาบัณฑิตไทยทุกด้าน
วันที่ 25 มีนาคม 2558 รศ.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับการพัฒนาบัณฑิตศึกษาไทย ภายในงานเสวนาวิชาการและนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวตอนหนึ่งถึงแนวพระราชปรัชญาด้านการศึกษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระองค์เคยรับสั่งว่า “มนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาให้มีความสามารถสูงขึ้นได้ ความสามารถแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน แต่ต้องให้โอกาสเท่ากัน” จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการพัฒนาการศึกษา เริ่มจากเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปี 2523 ในโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร ก่อนขยายขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงระดับสูง และส่งเสริมให้ทุกคนได้รับอาหารที่ดี เพราะอาหารและการศึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
“การศึกษาที่ดีต้องครบ 4 อย่าง คือ พุทธศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา” ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าว และว่า อาศัยการเรียนรู้ 4 วิธี คือ สุ (ฟัง) จิ (คิด) ปุ (ถาม) ลิ (บันทึก)
รศ.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวต่อว่า พระองค์ทรงมุ่งเน้นวิธีการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ครั้งเมื่อเริ่มต้นการพัฒนาการศึกษา ริเริ่มโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียน ครู และคนในชุมชน ร่วมกันทำเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โดยมีผลพลอยได้ คือ นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกัน และบูรณาการความรู้
เห็นได้ว่า พระองค์ทรงเป็นนักปฏิบัติ ขณะเดียวกันทรงศึกษาทฤษฎี เพื่อนำมาประกอบกันด้วย และทรงมีแนวทางพัฒนาครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขภาพ พลานามัย และสิ่งแวดล้อม ไม่เฉพาะความรู้ในตำราเท่านั้น
แนวพระราชปรัชญาด้านการศึกษาอีกประการหนึ่ง ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา บอกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมุ่งเน้นการศึกษาเชื่อมโยงกับชีวิตจริง และต้องมีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
ด้วยพระองค์มองว่า หากมีเฉพาะภาคทฤษฎี ไม่มีภาคปฏิบัติ จะทำไม่เป็น และส่งผลให้วิชาการเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่หากมีเฉพาะภาคปฏิบัติ ไม่มีภาคทฤษฎีเข้มแข็ง จะกลายเป็นผู้มีความคิดคับแคบ
เมื่อการศึกษาต้องเป็นไปตามศักยภาพและประโยชน์ของแต่ละบุคคล จึงเป็นเรื่องสำคัญและที่มาของการส่งเสริมทางด้านอาชีวศึกษาและผู้มีความสามารถพิเศษ ให้เรียนต่อในวิชาการระดับสูงได้ โดยพระองค์ทรงส่งเสริมให้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉะนั้นบัณฑิตศึกษามีส่วนในการรองรับบุคคลเหล่านี้
นอกจากนี้โรงเรียนต้องเป็นศูนย์กลางพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางพัฒนาสังคม ฉะนั้นครูต้องสวมหัวใจเป็นนักพัฒนาและเข้าใจเรื่องการพัฒนาด้วย ซึ่งพระองค์ทรงใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการศึกษาหลายด้านผ่านโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวพระราชดำริ ตลอด 19 ปี ที่ผ่านมา เพื่อให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงโลกได้เท่ากับเด็กในเมือง
ยกตัวอย่าง โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วย โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง โครงการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการศึกษาของสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม การสอนปริญญาโทกึ่งทางไกลเพื่อครูในชนบท
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นพระองค์แรกริเริ่มโครงการเครือข่ายกาญจนาภิเษกคลังข้อมูลดิจิทัลแห่งแรกของไทย เป็นอาจารย์ประจำของสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) และเป็นผู้เข้าถึงการศึกษาระดับสูงอย่างยิ่ง ด้วยทรงเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ตลอดเวลา แต่ทุกครั้งมักทรงถ่อมพระองค์ว่า ไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูง
กระนั้น พระองค์ทรงเน้นว่า จุดสำคัญของการศึกษาระดับสูง คือ การสร้างจริยธรรมในวิชาชีพ ยกตัวอย่าง ผู้เป็นนักวิชาการ ต้องสำนึกไว้ว่า ต้องตั้งปณิธานในการเผยแพร่ความรู้ เคารพความรู้ผู้อื่น
เพราะหากคนเรามีเฉพาะความรู้และพลังในการทำงานเท่านั้น โดยขาดคุณธรรมเป็นกรอบ โลกนี้จะระเบิดอยู่ไม่ได้
รศ.คุณหญิงสุมณฑา สรุปในช่วงท้ายว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพัฒนาบัณฑิตศึกษาไทยในทุกด้าน สิ่งที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ คือ การส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษเป็นบัณฑิตศึกษา พัฒนาการวิจัยในระดับแนวหน้า ให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติเรื่องต่าง ๆ
อีกทั้งทรงบุกเบิกสาขาวิชาใหม่ ๆ ทรงเป็นนักสหวิทยาการ นักบูรณาการ สร้างเครือข่ายนักวิจัยที่มีรุ่นอาวุโสและรุ่นใหม่ ทั้งภายในและต่างประเทศ และทรงส่งเสริมการสัมมนาทางวิชาการ และทรงติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการเสมอ .