คนไทยแห่กดเสี่ยงโชคSMSชาเขียว ภาคปชช.ชี้เข้าข่ายพนัน ทำคนโลภ มีรางวัลล่อใจ
นักวิชาการ-เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ชี้SMSเสี่ยงโชคเข้าข่ายพนัน จี้รัฐแก้กฎหมายบัญญัติคำนิยามให้ชัดเจน
24 มีนาคม 2558 ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จัดเวทีเสวนาเรื่อง "SMS เสี่ยงโชค ธุรกิจรุ่ง แต่สังคมร่วง" ณ ห้องประชุมวิภาวดี V1 โรงแรมปริ๊นตั้น กรุงเทพฯ
นายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า ขณะนี้สังคมสับสนว่าอะไรคือการพนัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่เป็นภารกิจที่จะมาช่วยกันทำให้คนในสังคมคิดเห็นและเข้าใจเรื่องพนันไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะตัวบทกฎหมายที่จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น และการเสี่ยงโชคที่มีการเล่นมากที่สุด ก็คือ การเสี่ยงโชคจาก SMS ชาเขียวที่เรากำลังตั้งข้อสงสัยว่า ใช่การพนันหรือไม่
นายธนากร กล่าวว่า หากเทียบนิยามของการพนันตามคุณสมบัติที่เรียกว่าเป็นพนัน คือสิ่งที่เป็นพนันจะทำงานกับความโลภ มีการวางเดิมพัน มีความเสี่ยงไม่ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน และสุดท้ายคือมีรางวัลล่อใจ ซึ่ง SMS ชาเชียว เช่น เอารถเบนซ์ ไอโฟน 6 มาเป็นรางวัล หากสรุปถือว่า กิจกรรมลุ้นโชคนี้เข้าข่ายความเป็นพนันเป็นถึง 3 ใน 4 ข้อ คือทำให้เกิดความโลภ จะได้หรือไม่ได้ ไม่แน่ และคือมีรางวัลล่อใจ
“ดังนั้นกิจกรรมเข้าข่ายแบบนี้ถือเป็นการใช้การส่งเสริมการตลาดที่เป็นอันตรายต่อสังคม ทั้งความถี่ของการออกรางวัลตามหลักสากล กิจกรรมส่งเสริมการขายในลักษณะนี้จึงเป็นการซ้อนทั้งเรื่องการเข้าข่ายพนันและการตลาดอยู่ในกิจกรรมเดียวกัน”
เมื่อถามว่าหลักๆแล้วตัวพระราชบัญญัติการพนัน 2487 จะต้องแก้ไขอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมกับสถานการณ์ปัจจุบันบ้าง นายธนากร กล่าวว่า เรื่องการให้คำนิยามของการพนันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เนื่องจากตัวพ.ร.บ.การพนัน 2487 ไม่มีแม้กระทั่งคำนิยาม แต่กลับไปบรรจุในบัญชีก. ว่าประเภทนี้เล่นได้ ประเภทข.ห้ามเล่นเด็ดขาด ซึ่งเป็นการนิยามที่ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนว่าแท้จริงแล้วอะไรคือพนันหรือไม่ใช่พนันกันแน่ ฉะนั้นควรจะจัดตั้งให้มีคณะกรรมการอิสระเรื่องพนันขึ้นมาโดยแยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยไม่ทำงานนั่งอยู่เฉยๆไม่ลงมือทำงานเชิงรุก
"วันนี้จะต้องเดินหน้าเรื่องกิจการของสลากให้เป็นต้นแบบก่อนว่ากิจการที่เข้าข่ายพนันจะต้องมความรับผิดชอบต่อสังคม"
ด้านนพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่าถึงการขออนุญาตหมายเลข SMS ในการชิงโชคนั้น ไม่ต้องของอนุญาตเพราะเป็นระบบปิดแต่ละค่ายมือถือ ในอดีตเป็นธุรกิจแบบเบอร์เดียวกัน ซึ่งเป็นการบริการโทรคมนาคมทั่วไปเป็นลักษณะธุรกิจที่เอาไปใช้ประโยชน์เพื่อส่งมาหาตัวเองไม่มีบริการใดเป็นพิเศษ เป็นลักษณะข้อความแบบปกติ ซึ่งการบริการด้านโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่าบริการลักษณะประเภทเดียวกันจะคิดราคาแตกต่างกันไม่ได้
“พออยู่ในช่วงที่การตลาดเอา SMS มาทำกิจกรรมในการชิงโชค ทำให้เรานึกถึงระบบ 1900 เมื่อก่อน ที่โทรไปวิเคราะห์ผลบอล ดูดวง ซึ่งที่บริการในลักษณะนั้นแพงเพราะมีตัวบริการ ส่วน SMS บริษัทเอกชนบอกว่า นี่คือบริการพิเศษ คือเก็บแพงกว่าปกติเล็กน้อย”
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบกับกรณีธุรกิจเสี่ยงโชคแล้วจะมีนัยยะต่างกัน เนื่องจาก ระบบดูดวง โหลดเพลง ฐานรายได้ปัจจุบันจะแบ่งครึ่งกับค่ายมือถือ และคนที่ทำบริการนั้น ส่วนการเสี่ยงโชคเมื่อไหร่ก็ตามที่เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม มีของชิงโชคได้เงินส่วนแบ่ง เงินส่วนแบ่งนั่นคือเงินแทงพนัน
"แต่ในกรณีของไทยรัฐที่ทายผลบอล คือไม่ได้บังคับให้ทำอะไร สิ่งที่ไทยรัฐได้รับก็คือยอดขาย แต่ในกิจกรรม SMS เสี่ยงโชคของกลุ่มชาเขียวคือได้สองทางทั้งเม็ดเงินโดยตรงและยอดขายสินค้า"
กรรมการ กสทช. กล่าวด้วยว่า บริษัทที่ใช้กิจกรรมแบบนี้ฉลาดรู้ว่ากฎหมายยังไม่ได้มีการบังคับเท่าไหร่ ให้ส่ง SMS ฟรี แต่ได้กำไรจากกิจกรรมสูง เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้เงินวางเดิมพัน แต่เป็นการซื้อโชค แถมของ ความจริงแล้วก็คือการพนัน ดังนั้นการตีความกฎหมายจากนิยามที่ไม่ชัดเจนจึงค่อนข้างยาก ดังนั้นจะนำนิยามการชิงโชคที่ไม่ชัดเจนในตัวพ.ร.บ.การพนัน 2478 มาจัดการกิจกรรมชิงโชคของชาเขียวดูเป็นเรื่องที่จะลำบาก