สปช.ชงตั้ง ‘สำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล’ เร่งแก้วิกฤตปะการัง
สปช. เร่งเครื่องปฏิรูปอุทยานแห่งชาติทางทะเล ชง 2 มาตรการด่วน ตั้งสำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล-คกก.ยุทธศาสตร์ฯ ‘ผศ.ดร.ธรณ์’ เชื่อปัญหาจะได้รับแก้ไข เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืน เตรียมเสนอ ก.ทรัพยากรฯ 26-27 มี.ค. 58
วันที่ 24 มีนาคม 2558 ที่รัฐสภา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงข้อสรุปจากการประชุมแนวทางปฏิรูปอุทยานแห่งชาติทางทะเลว่า กรณีเกิดปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากในพื้นที่เกาะตาชัย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จนเกินขีดความสามารถในการรองรับหลายสิบเท่า และสร้างผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้น คือ ปะการังถูกทำลายร้อยละ 60-70
“อุทยานแห่งชาติทางทะเลของไทยประสบปัญหารุนแรงมากขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายและเสื่อมโทรมชัดเจน” ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าว และว่า การบริหารจัดการภายในอุทยานแห่งชาติทางทะเลก็ประสบปัญหา ขาดยุทธศาสตร์การจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยว การตรวจสอบติดตาม และระบบศึกษาวิจัยที่ชัดเจน
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอเร่งด่วน 2 ข้อ คือ
1.จัดตั้งสำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยแยกออกจากสำนักอุทยานแห่งชาติ บริหารจัดการด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว เพียงชายฝั่งทะเลอันดามันมีมูลค่าสูง 3 แสนล้านบาท/ปี เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่อุทยานแห่งชาติทางทะเล มีอำนาจคัดเลือกบุคลากรและฝึกอบรมให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพิ่มพูนประสบการณ์ได้ และปกป้องปะการังจากการถูกทำลาย
2.จัดตั้งคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์อุทยานแห่งชาติทางทะเล มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาควิชาการ ผู้ประกอบการ และชุมชน สำหรับรวบรวมแนวความคิดบูรณาการท่องเที่ยวที่มีความจำเป็นต่อประเทศ วางระบบติดตามตรวจสอบสภาพทรัพยากร บริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม พัฒนาระบบค่าธรรมเนียมไม่ให้รั่วไหล ลดการทุจริตคอร์รัปชัน และถ่วงดุลการดำเนินงานของสำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล
“มีงานวิจัยชี้ว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับจากอุทยานแห่งชาติทางทะเลบางแห่งเข้าประเทศเพียงร้อยละ 15 ต่อปี ที่เหลืออีกร้อยละ 85 ต่อปี รั่วไหลออกนอกประเทศ ฉะนั้นต้องควบคุมผลประโยชน์ส่วนใหญ่ในอยู่ในประเทศ”
ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้ผลักดันอุทยานแห่งชาติในทะเลอันดามันเป็นเขตมรดกโลก ซึ่ง สปช.มีมติยอมรับแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ ยืนยันการปฏิรูปมิได้จำกัดเฉพาะการวางทุ่นหรือปิดอุทยานแห่งชาติเท่านั้น แต่ปฏิรูปโครงสร้างทุกภาคส่วน
โดยหาก 2 ข้อเสนอเร่งด่วนเป็นจริง ปัญหาต่าง ๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างสอดคล้อง เเละภายใน 2-3 ปี จะสามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้และเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ฉะนั้น เพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติของลูกหลาน การทำลายต้องยุติลงตั้งแต่วันนี้
เมื่อถามถึงอุทยานแห่งชาติทางทะเลใดกำลังน่าเป็นห่วง ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า แต่ละพื้นที่เกิดผลกระทบในระดับแตกต่างกัน จำแนกเป็น
1.ระดับวิกฤต คือ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
2.ระดับมาก คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะอาดัง-ราวี
3.ระดับปานกลาง คือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
4.ระดับพิเศษ คือ เกาะตาชัย
ประธานอนุกรรมาธิการฯ ระบุถึงเกาะตาชัยว่า ต้องกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าออก เพราะเป็นเขตสงวนทางชีวภาพ นอกเหนือจากปะการังแล้ว ยังมีหอยมรกต ซึ่งได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และมีปลากัดตาชัยอีกด้วย ฉะนั้นไม่เหมาะสมให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และควรได้รับการจัดการชัดเจน รักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 26-27 มีนาคม 2558 คณะอนุกรรมาธิการฯ เตรียมนำข้อเสนอต่อที่ประชุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (รมว.ทส.)เป็นประธาน.