ชีวิตที่น่าพิศวงของพระเจ้าริชาร์ดที่สาม พระมหากษัตริย์ในที่จอดรถ
พระเจ้าริชาร์ดที่สาม พระมหากษัตริย์ในยุคกลางของอังกฤษเมื่อ 530 ปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ทรงมีชีวิตที่น่าพิศวงไม่น้อย แม้ว่ารัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาที่สั้นราวสองปีสองเดือน แต่เรื่องราวของพระองค์มีประเด็นหลากหลายให้นักประวัติศาสตร์แบ่งฝักแบ่งฝ่ายถกเถียงกันไม่รู้จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกล่าวหาที่ว่าทรงวางแผนฆ่าเจ้าชายน้อยสองพระองค์ ที่มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดา เพื่อจะได้ขึ้นครองราชย์เอง
มีการถกเถียงเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าริชาร์ดที่สามกันมาขึ้น หลังจากที่ได้มีการค้นพบโครงพระอัฐิ ใต้ลานที่จอดรถในเมืองเลสเตอร์ มีสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งถึงกับตั้งชื่อสารคดีเกี่ยวกับพระองค์ว่า พระมหากษัตริย์ในที่จอดรถ คนอังกฤษเองก็สนใจใคร่รู้ตั้งคำถามเกี่ยวกับพระองค์มากขึ้น เช่น ทรงหลังค่อมจริงหรือเปล่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่โหดร้ายแบบที่เชคสเปียร์บรรยายไว้หรือเปล่า ทรงสั่งฆ่าเจ้าชายน้อยที่ทาวเวอร์ออฟลอนดอนใช่ไหม ทำไมไม่จัดพิธีพระศพแบบรัฐพิธี ทรงเป็นกษัตริย์นะ ขนาดนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีสายเลือดเป็นเชื้อพระวงศ์ยังได้พิธีศพแบบรัฐพิธีเลย แล้วทำไมไม่ไปฝังที่เมืองยอร์กละ ก็ท่านเป็นราชวงศ์ยอร์กไม่ใช่หรือ ฝังที่เมืองเลสเตอร์ทำไม
ภาพลักษณ์ของพระองค์ที่ดูโหดร้ายและรูปลักษณ์ที่ดูไม่สง่างาม ก็คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง และยืนตามเดิมแบบที่วิลเลียม เชคสเปียร์ กวีและนักประพันธ์ชื่อดังของอังกฤษบรรยายไว้ หากไม่มีคุณฟิลิปปา แลงลีย์ จากสมาคมริชาร์ดที่สาม ที่เป็นหัวเรือใหญ่ ใช้เวลาร่วม 10 ปีรณรงค์และผลักดันให้มีการค้นหาพระศพของพระองค์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าพระเจ้าริชาร์ดที่สามเสด็จสวรรคตในยุทธการบอสเวิร์ธ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเลสเตอร์ แต่เวลาผ่านไปหลายร้อยปี ทำให้การระบุจุดที่ฝังพระศพอย่างชัดเจนทำได้ยาก เมื่อปี พ.ศ. 2529 มีอาจารย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเลสเตอร์นำเสนอเปเปอร์ว่าพระศพจะต้องอยู่ในบริเวณเกรฟรายส์ที่เคยเป็นเขตวัดและที่พักของนักบวชในศาสนาคริสต์ในเมือง เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่ามีการฝังพระศพในบริเวณดังกล่าว แต่ก็ไม่มีฝ่ายไหนสานต่อ เพราะต้องใช้เงินทุนสูงมาก
จนกระทั่งเมื่อปี 2554 คุณแลงลีย์ติตต่อบริการด้านโบราณคดีของคณะทางมหาวิทยาลัยขอให้สำรวจบริเวณเกรฟรายส์ ประเมินค่าใช้จ่ายว่าน่าจะอยู่ที่ราวเกือบสองล้านบาท ตอนนั้นทางสมาคมฯ ยังไม่มีเงินทุนเลย นอกจากนั้นความเป็นไปได้ที่ว่าจะเจอพระศพก็มีน้อยมาก แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ตอบตกลงและเริ่มหาทุน
เมื่อปี 2555 ทีมงานขุดไปเจอโครงกระดูก กระดูกสันหลังมีลักษณะโค้งงอ และที่กะโหลกมีรอยถูกแทงหลายจุด อีกปีถัดมา ทางมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ยืนยันว่าโครงกระดูกที่พบเป็นของพระเจ้าริชาร์ดที่สามจริง หลังจากที่ได้มีการตรวจสอบหลายรอบ รวมทั้งการเทียบเคียงจากดีเอ็นเอ แต่เป็นดีเอ็นเอจากฝ่ายพระมารดา โดยได้ตัวอย่างดีเอ็นเอมาจากทายาทของแอนน์แห่งยอร์ก พระภคินีของพระเจ้าริชาร์ดที่สาม หลักฐานดีเอ็นเอและลักษณะโครงกระดูกที่พบ รวมทั้งร่องรอยบาดแผล ทำให้ทีมงานสรุปว่าเป็นโครงกระดูกของพระเจ้าริชาร์ดที่สามจริง จากนั้นก็มีการแต่งหน้าสามมิติขึ้นมาจากกะโหลก โดยดูต้นแบบจากภาพวาดทางประวัติศาสตร์ประกอบด้วย
นักประวัติศาสตร์บอกว่าจริง ๆ แล้วพระเจ้าริชาร์ดที่สามไม่ได้หลังค่อม แต่กระดูกสันหลังคด มองแทบไม่ค่อยเห็น ที่เห็นคือไหลข้างหนึ่งจะสูงกว่าอีกข้าง ส่วนเรื่องที่ว่าพระองค์ทรงสั่งให้ฆ่าเจ้าชายน้อยทั้งสองพระองค์ (รวมถึงพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5) นั้น มีฝ่ายที่เชื่อว่าพระองค์ไม่ได้ทรงสั่ง แต่อาจเป็นฝีมือของฝ่ายราชวงศ์ทิวดอร์ที่ทำและป้ายสีว่าพระเจ้าริชาร์ดที่สามเป็นฝ่ายที่ทำ เพราะว่าในตอนนั้นพระเจ้าริชาร์ดที่สามทรงยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ แต่ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 12 ชันษา ล่าสุดมีอีกทฤษฏีหนึ่งคือเจ้าชายน้อยทั้งสองทรงประชวรและเสด็จสวรรคต
ในสมัยนั้น การแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติ และเวลาสู้รบแย่งชิงบัลลังก์กันก็ดุเดือดมาก รวมทั้งในยุทธการบอสเบิร์ธ โครงกระดูกที่พบทำให้ริชาร์ด นอกซ์นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งบอกว่าพระเจ้าริชาร์ดที่สาม “ทรงพ่ายแพ้แบบน่าอดสูมาก” มีรอยถูกแทง 8 จุด พอสิ้นลมอีกฝ่ายจับถอดเสื้อผ้า แห่ร่างเปลือยแบบนั้นเข้าเมือง ประจานอยู่หลายวันกว่าจะฝัง เวลาฝังก็คงเป็นการฝังแบบลวก ๆ โยนศพลงหลุมและก็กลบแบบไม่ปราณีปราศรัย เพราะสภาพหัวกะโหลกนั้นไม่ได้เป็นแนวราบติดกับดิน
การศึกษาโครงกระดูกและฟันยังทำให้ได้รู้ว่าทรงดื่มไวน์จัดมากในช่วงท้าย ๆ ชีวิตพระองค์ คาดว่าทรงดื่มถึงวันละขวดเลยทีเดียว
เรื่องราวที่น่าสนใจของพระเจ้าริชาร์ดที่สาม ไม่ได้อยู่ตอนที่ทรงมีลมหายใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหลังจากที่เสด็จสวรรคตและความพยายามหาพระศพ พอเจอก็ใช้ความก้าวหน้าของวิชาการด้านดีเอ็นเอ ด้านโบราณคดี ด้านการขึ้นหน้าสามมิติจากกะโหลกมาทำให้คนในยุคนี้ได้เห็นว่าพระองค์หน้าตาเป็นอย่าไร
ในวันพฤหัสบดีนี้ (26 มี.ค.) จะมีพิธีฝังพระอัฐิพระเจ้าริชาร์ดที่สามในวิหารแห่งเมืองเลสเตอร์ หลังจากที่เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.)ได้มีพิธีแห่งพระอัฐิผ่านเส้นทางที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับพระองค์
ท้ายที่สุดมีการจัดพิธีพระศพอย่างสมเกียรติให้กับพระองค์ หลังจากรอคอยมาร่วม 530 ปี
ขอบคุณภาพประกอบ : จากหนังสือพิมพ์ เดอะไทมส์