“หม่อมอุ๋ย” เปิดแผนสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ ขับเคลื่อนศก.ดิจิทัล
“ตอนนี้ภาคเอกชน ภาคประชาชน กำลังเข้าสู่ยุค Digital Citizen ภาครัฐต้องไปอยู่บนอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ การให้บริการต้องสามารถผ่านระบบเหล่านี้ได้ทันที”
หลายเดือนมานี้ “หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เดินสายพูดเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลบนเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายกำหนดให้มีการส่งเสริมและวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง
ล่าสุด เช้าวันที่ 23 มีนาคม 2558 “หม่อมอุ๋ย” ตอกย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอีกครั้ง บนเวทีงานสัมมนา “ก้าวสู่ Digital Government ภายใต้นโยบาย Digital Economy” ด้วยการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บูรณาการ Digital Government ภายใต้นโยบาย Digital Economy” ณ โรงแรมรามาการ์เด้น วิภาวดี
“หม่อมอุ๋ย” กล่าวว่า การขับเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆด้านโดยมีแนวทางขับเคลื่อนตามกรอบยุทธศาสตร์ดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงปลอดภัยและความเชื่อมันในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้จะเร่งปรับปรุงร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลทุกฉบับ โดยมีกฎหมาย กฎระเบียบด้านการลงทุนและกำกับดูแลด้านโทรคมนาคม รวมทั้งอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัย
3. ยุทธศาสตร์สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการ มีโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการที่ครอบคลุมมีมาตรฐานเพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมบริการผ่านระบบดิจิทัลทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจร และ 5. ยุทธศาสตร์ดิจิทัลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ พัฒนาข้อมูลข่าวสารของรัฐที่เอื้อต่อคนทุกระดับ
“หม่อมอุ๋ย” เผยว่า ขณะนี้ทุกยุทธศาสตร์ได้คืบหน้าไปพอสมควร เนื่องจากทุกหน่วยงานที่รับทราบนโยบายได้เร่งดำเนินการเดินหน้าจามหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลัง อาทิ การสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ หรือ “บรอดแบนด์แห่งชาติ”
ที่จะนำเครือข่ายใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติกเข้าถึงทุกพื้นที่ ทุกฐานประกอบการ และทุกบ้านทั่วประเทศให้ได้ โดยใช้กลไกจากคณะเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขึ้นมาพิจารณาเตรียมการในด้านต่างๆก่อนที่กฎหมายจะออกมา
สำหรับการจัดให้มีบรอดแบนด์แห่งชาติ นอกจากจะมีประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตควาเร็วสูงทุกพื้นที่แล้ว ภาครัฐซึ่งเดิมจะมีแต่หน่วยงานหลักๆที่เข้าถึงเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ แต่ยังมีหน่วยงานอีกหลายหน่วยงานที่บริหารจัดการเองโดยจ่ายค่าใช้บริการกับผู้ให้บริการเครือข่ายโดยตรง
ขณะเดียวกันในหน่วยงานย่อยที่ให้บริการตามจุดต่างๆ เช่น ในหมู่บ้านยังมีอินเทอร์เน็ตบริการไม่ทั่วถึง ซึ่งในโครงการบรอดแบนด์แห่งชาตินี้จะวางโครงสร้างอินเทอร์เน็ตรองรับไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ โครงข่ายภาครัฐเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วประเทศ คาดว่าบรอดแบนด์แห่งชาติจะเข้าถึงทุกหมู่บ้านได้ภายในปี 2559 และจะเข้าถึงทุกบ้านได้ภายในปี 2560
นอกจากนี้การมีบรอดแบนด์แห่งชาติเพื่อทำให้การเชื่อมโยงต่อข้อมูลระหว่างประเทศได้รับการจัดการที่เหมาะสม และมีความเป็นเอกภาพทั้งในและต่างประเทศ ในอนาคตประเทศไทยจะมีเกตเวย์เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมี 2 ช่องทาง อาจจะมีไปถึง 8-10 ช่องทาง เพื่อรองรับธุรกิจ ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” ยังเปิดเผยแผนการจัดเตรียมดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ที่จะรวมข้อมูลหน่วยงานวิเคราะห์ไว้แล้วมารวมกันว่า มีความจำเป็นอย่างมากสำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาล รัฐและเอกชนจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานและการขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้
ขณะนี้กระทรวงไอซีทีโดยและสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์กรมหาชน) หรือ EGA กำลังผนึกความร่วมมือกับส่วนราชการในการปรับปรุงบริการต่างๆให้เป็น Smart Service โดยคาดว่าภายในปีนี้ประชาชนจะได้ใช้กว่า 100 บริการของรัฐ โดยไม่จำเป็นต้องสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านอีกต่อไป
“รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆร่วมมือดำเนินงานขับเคลื่อนการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ เช่น ข้อมูลน้ำ โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องมีโครงการนำร่องในการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เพื่อให้หน่วยงานนำข้อมูลไปบูรณาการได้จริง เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ประชาชนนำข้อมูลที่เปิดเผยนั้นไปต่อยอดได้”
ทั้งนี้ ประเมินว่า แนวโน้มของธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศจะมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใหม่โดยสิ้นเชิง รับกับเอกชนจะเข้ามาร่วมกันลงทุน มีหน่วยงานกลางที่กระทรวงไอซีทีรับผิดชอบในการส่งมาตรฐานการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพและราคาบนมาตรฐานเดียวกัน
กระนั้นก็ตาม ต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยรองรับ มีสัดส่วนพื้นที่เหมาะสมในการให้บริการ ตามความต้องการขงองท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ดาต้าเซ็นเตอร์ทุกแห่งจะมีการเชื่อมต่อกันและสามารถนำไปสู่การบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ในอนาคต แต่จะไม่เชื่อมโยงดาต้าด้านความมั่นคงและข้อมูลส่วนตัวของกระทรวงการคลัง
รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ เผยว่า ในช่วง 1-2 ปีจากนี้ ภาครัฐจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ของประเทศผ่านการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยให้เอกชนมาลงทุน โดยอาจจะมีการดูแลเรื่องค่าสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีบรอดแบนด์แห่งชาติ และศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีต้นทุนไม่แพง
“ทุกเนื้องานที่ดำเนินการย่อมเกี่ยวพันกับการดำเนินงานของภาครัฐ ที่ต้องรองรับการขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทุกอย่างพร้อมขึ้น ข้อมูลจะเดินทางมากขึ้น เอกชนก็จะวิ่งมาหาเอกชน มากขึ้น เอกชนวิ่งมาหารัฐมากขึ้น” รองนายกฯ กล่าว
“หม่อมอุ๋ย” เชื่อมั่นว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ ประชาชนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย ทั่วถึง ในราคาไม่แพง ขณะที่ภาคเอกชนมีโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งรองรับ โดยมีภาครัฐเข้ามาเป็นหัวหอกหรือเป็นลูกค้าหลักเพื่อทำให้โครงสร้างเหล่านั้นเกิดขึ้นได้โดยง่าย
“สิ่งที่จะเห็นก็คือ ภาครัฐต้องพยายามปรับตัวให้เป็น Digital Government ไม่ใช้แค่ e-Government เพราะตอนนี้ภาคเอกชน ภาคประชาชน กำลังเข้าสู่ยุค Digital Citizen แล้ว ภาครัฐต้องไปอยู่บนอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ การให้บริการต้องสามารถผ่านระบบเหล่านี้ได้ทันที”
นี่เป็นตัวอย่างงานสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ขอบคุณภาพจาก http://www.thaigov.go.th