รองเลขาฯสภาอุตฯ แนะตั้ง “มหา’ลัยผลิตครูตรง” รับมือประชาคมอาเซียน
รองเลขาฯสภาอุตฯ แนะการศึกษาต้องเสริมความเข้มแข็ง 3 หัวใจหลักเศรษฐกิจ เกษตร-อุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว ชี้เด็กดีหรือไม่อยู่ที่ครูไม่ใช่แท็ปเล็ต เสนอตั้งมหาวิทยาลัยผลิตแม่พิมพ์แท้ “วรวัจน์” โชว์ยุทธศาสตร์ 2 ปีรื้อระบบศึกษารู้เขารู้เราทันอาเซียน
วันที่ 28 ก.ย.54 กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเสวนา “ทิศทางการศึกษาไทย : กับความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” โดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวปาฐกถาว่า คนไทยมีอะไรดีเยอะแต่ระบบไม่เอื้อต่อการพัฒนา ตนยากให้การศึกษาไทยมีเป้าหมายเพื่อการมีงานทำ-พัฒนาประเทศ โดยจะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน การบริหารต้องบูรณาการ มหาวิทยาลัยต้องลงกำกับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ทำหลักสูตรตามพื้นที่
“ประเทศไทยต้องปรับตัวอย่างแรง คนไทยจับมือกันคิดว่าไม่ด้อยกว่าใคร เพียงแต่ที่ผ่านมาเราตัวใครตัวมัน สบายๆไม่เคยทำงานหนัก ปีหน้าทั้ง 5 ภูมิภาคของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมตั้งยุทธศาสตร์ 2555 ให้เวลากระทรวง 2ปี ต้องศึกษาทั้งหมด รู้ศักยภาพเขา ผลิตอะไรบ้าง เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างไร มหาวิทยาลัยต้องแบ่งประเภทเพื่อวิจัย โดยเฉพาะสังคม ระบบเศรษฐกิจมาหลังสังคมวิทยา"
นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า ด้านที่สองคือต้องรู้ศักยภาพเราคือ ในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรอะไร สภาพอากาศ ศักยภาพภูมิประเทศ เรื่องการเกษตร หลักสูตรการศึกษาต้องเปลี่ยนไปตามภูมิภาค ต่อมาคือเรื่องวัฒนธรรม องค์ความรู้ วิถีของแต่ละพื้นที่ ต้องศึกษาเพื่อความหลากหลายและสร้างการท่องเที่ยว และเรื่องคนที่ภาษาอังกฤษเราถือเป็นท้ายในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้องเร่งปรับตัว
ด้านที่สามที่ต้องปรับตัว ได้แก่ กลุ่มเกษตร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาคุยเรื่องพื้นที่ เทคโนโลยีที่เรามี ให้มหาวิทยาลัยมาร่วมกันลงไปทำหลักสูตรถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แต่ละพื้นที่ จากนั้นสร้างโครงข่ายการกระจายสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาการสนับสนุนไม่ค่อยมี วันนี้ยังไม่รู้เรื่องมาตรฐานสากล พาณิชยกรรม การค้าขาย แปลกตรงที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งงบประมาณเชิงรุกปีละ 4,000 ล้านถือว่าน้อยมาก
“ระบบการศึกษาไม่ค่อยรองรับเรื่องความบันเทิง เรื่องดนตรี ภาษาต่างๆ ต้องมาจัดใหม่ การศึกษาต้องมาเรียนตามความถนัด ตามอัจฉริยภาพของคน เชื่อว่าสิ่งที่เรียนมาเกือบครึ่งไม่ได้ใช้ มันเสียดายเวลา ทิศทางที่จะปรับเปลี่ยนค่อนข้างมาก พร้อมที่จะรับฟังความเห็น ถ้าคนไทยระดมสมองกัน ถ้าเราวางระบบใหม่ ไม่กี่ปีคนไทยเป็นผู้นำภูมิภาคแน่ วันนี้จับมือร่วมกันทำงาน รับรู้ภัยทางเศรษฐกิจเข้ามา มากกว่าแค่ยินดีต้อนรับคนเข้าประเทศด้วยไมตรี" นายวรวัจน์กล่าว
ด้าน นายถาวร ชลัษเฐียร รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยมีภาคเศรษฐกิจหลักอยู่ 3 อย่างสำคัญที่หากไปได้ดีแล้วจะทำให้ประเทศอยู่รอดได้ และการศึกษาต้องเข้าไปเสริมความเข้มแข็งให้ อันดับแรกคือ ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยและหลายประเทศในอาเซียน สองคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันไทยผลิตรถยนต์ 1.8 ล้านคันต่อปี ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านคัน ซึ่งตามแผนจะผลิตแค่ 2 ล้านคันในปี 2013 แต่เร็วกว่าที่วางไว้ จะส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
สามคือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ประเทศไทยมีความสมบูรณ์ด้านแหล่งท่องเที่ยว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับแพ้มาเลเซียซึ่งครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคนี้ ทั้งๆที่แหล่งท่องเที่ยวไทยไม่มีอะไรแพ้เขา ฉะนั้นต้องพัฒนาบุคคลากรในอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นมืออาชีพ จะช่วยดึงคนเข้าประเทศได้มากขึ้น
“ปัญหาใหญ่การศึกษาไทยคือหาครูดีๆยาก ศธ.ต้องแก้ปัญหา แต่ขณะนี้กลับไม่มีมหาวิทยาลัยที่สอนครูโดยตรง ผมไม่ค้านที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับแจกแท็บแล็ต แต่เป็นแค่เครื่องมือไม่สามารถพัฒนาทัศนคติคนให้ดีขึ้น เด็กจะดีหรือไม่อยู่ที่ครู อยากฝากให้มีมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูแท้ๆผลิตครูจริงๆ เราสูญเสียวิทยาลัยครูดีๆ สูญเสียวิทยาลัยพาณิชย์ วิทยาลัยผลิตช่างดีๆ หันไปเน้นผลิตแรงงานระดับปริญญาตรี ในที่สุดจะเกิดปัญหาแรงงาน ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย “ นายถาวร กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/2011/06/20/พรรคการเมืองจะสร้าง-”ปร/