2 ทศวรรษการพัฒนา แม่น้ำโขงไม่ได้มีไว้ขาย
เครือข่ายลุ่มน้ำเเขวนป้าย 'เเม่น้ำโขง คือ เเม่น้ำของเราใน 6 ประเทศ...เเม่น้ำไม่ใช่สินค้า' จี้ยุติโครงการพัฒนากระทบท้องถิ่น-สิ่งเเวดล้อม เเนะตั้งสภาเเม่น้ำโขง ประเทศไทย ขับเคลื่อนนโยบาย ยกระดับสู่เครือข่ายนานาชาติ
“แม่น้ำโขง คือ แม่ของเราใน 6 ประเทศ : หยุดหากำไรจากสมบัติของภูมิภาค แม่น้ำไม่ใช่สินค้า”
ข้อความรณรงค์ของเครือข่ายลุ่มน้ำ ทั้งกลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำแม่แจ่ม-แม่ปิง ลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำชมพู และลุ่มน้ำอื่นๆ กว่า 200 คนต่างร่วมแสดงจุดยืนที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อ.เชียงของ ในวันหยุดเขื่อนโลก เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
แม่น้ำโขง คือ สายน้ำสายใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 4,909 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีพันธุ์และสัตว์น้ำที่หลากหลายเป็นอันดับ 2 ของโลก แม่น้ำโขงมีต้นน้ำบน ส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยบนที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ในวันแดดแรง แต่อากาศที่เชียงของไม่ได้เลวร้ายสักเท่าไหร่ ผสานกับบรรยากาศความอิ่มเอมที่เครือข่ายลุ่มน้ำได้มาพบปะ เติมเต็มพลัง และแลกเปลี่ยนสถานการณ์การพัฒนากันระหว่างกัน กว่า 300 ชีวิต รวมถึงการทำพิธีกรรมเจริญพุทธมนต์ และเจริญภาวนาแม่น้ำโขง เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนและเรียกร้องสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งเสวนา “2 ทศวรรษแม่น้ำโขงกับการพัฒนา” ได้รับเกียรติจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ และภาคีพัฒนาให้ข้อคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
กว่า 2 ทศวรรษ ที่เครือข่ายองค์กรชุมชน คนในท้องถิ่นและเครือข่ายพันธมิตร ร่วมไม้ร่วมมือกันปกปักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ด้วยการพัฒนาภายใต้นโยบายของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่น รวมถึงวิถีวัฒนธรรมการดำรงชีวิต การทำมาหากิน แม้กระทั่งความเป็นอยู่ทุกด้านนั้นเปลี่ยนแปลงไป หลายชุมชนเริ่มมีการปรับตัว ปรับวิถีชีวิต และรวมกลุ่มกันเพื่อจัดตั้งองค์กรชุมชนเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง มีการสื่อสารสาธารณะเพื่อนำมาสู่การแก้ปัญหาโดยภาครัฐและเอกชน สร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในการพัฒนาแม่น้ำโขงให้อยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิของชุมชนและวัฒนธรรม
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาปฏิรูปเเห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า 20 ปี ของการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เป็นไปโดยอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ใช่ทุกประเทศที่ทำข้อตกลงร่วมกัน ทั้งที่มีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ เอมอาร์ซี เช่น ประเทศที่ไม่ได้ทำข้อตกลงร่วมกันกับการทำนโยบายแม่น้ำโขง คือ จีนกับพม่า ส่งผลให้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมากฎกติกาเรื่องแม่น้ำโขงไม่มีความชัดเจน และไม่มีการรับฟังจากประเทศจีน อำนาจในการบริหารแม่น้ำโขงจึงไม่ใช่ของทุกประเทศ ดังนั้นในอนาคตต้องแก้กฎหมายที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในการจัดการ บริหารแม่น้ำโขง โดยหากมีประเทศใดประเทศหนึ่ง คัดค้านโครงการพัฒนาน้ำโขงให้ถือว่า ประเทศสมาชิกที่มีชายแดนแม่น้ำโขงทุกประเทศต้องรับฟัง และไม่มีการสรุปเป็นฉันทามติเพื่อเดินหน้าโครงการ
“ขณะนี้แม่น้ำโขง คล้ายกับโดนปล้นโดยประเทศจีนเพียงประเทศเดียว เพราะเขื่อนในแม่น้ำโขงทางตอนเหนือที่จีนสร้าง และจีน คือ ผู้มีอำนาจในการจัดการแม่น้ำเบ็ดเสร็จเหนือกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนประเทศอื่นๆ ต้องรับมือกับผลกระทบเมื่อสร้างเขื่อนหรือมีการพัฒนาอื่นๆ ตามมา กลายเป็นว่าไม่มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรน้ำ”
นายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผลิตพลังงานได้เป็นจำนวนมากที่สุดแล้วส่งขาย คือ ประเทศมาเลเซีย ในขณะที่เยอรมันนี ใช้พลังงานทางเลือกมากมายทั้ง ลม และแสงอาทิตย์
ส่วนประเทศไทยและประเทศอื่นในลุ่มน้ำโขงนั้น ตอนนี้มีโครงการพัฒนาขึ้นมา เป็นเพียงกุศโลบายของนักลงทุนเท่านั้น การสร้างเขื่อนเป็นเพียงความตั้งใจที่จะทำลายธรรมชาติเท่านั้น เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ มักจะมีช่องทางในการซื้อขาย มีผลต่างของกำไรมากมาย ยิ่งเป็นโครงการเขื่อนด้วยแล้ว มีทั้งผลประโยชน์ป่าไม้และโครงการก่อสร้างยิ่งมหาศาล ทำให้นักลงทุนต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีประชาชนเป็นผู้จ่ายรายใหญ่ แต่ไม่มีผลกำไรสู่ประชาชน
อย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรี ตอนนี้มีธนาคารของไทย 4 ธนาคาร ร่วมทุ่มทุนสร้าง ดังนั้นในการต่อสู้เป็นเรื่องยากเพราะทุนใหญ่มีมากมาย แต่เหตุผลที่เราประสบความสำเร็จในการรณรงค์ เพราะเรามีการใช้หลักนิติกร และกระบวนการยุติธรรม ส่วนกระบวนการอื่นๆ ที่จะเอาผิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ 100 %
นางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์เร่งด่วน คือ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรที่จะสร้างพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยมีความเคลื่อนไหวในรูปแบบอนุสัญญาในด้านต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี เช่น พ.ร.บ.สิทธิชุมชน พ.ร.บ.น้ำ เราต้องเร่งรัดสร้างพันธะกรณีร่วมกันเพื่อเคารพสิทธิชุมชนในแบบข้ามแดน สำหรับปัจจัยอื่นทีเกี่ยวข้อง คือ ในขณะนี้ประเทศอาเซียนมีแผนพัฒนา 3 เสาหลัก คือ 1) เศรษฐกิจ 2) การเมืองและความมั่นคง และ 3) สิ่งแวดล้อมและแรงงาน โดยแผนระหว่างประเทศข้อ ๓ ไม่มีผู้นำใดให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ทั้งที่มีการร่างแผนในการสร้างความความร่วมมือระหว่างประเทศไว้นานแล้ว ปัจจุบันยังไม่มีการนำเสนอใดๆ ทั้งสิ้น เกี่ยวกับเสาที่ 3 ดังนั้นการเคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงต้องนำมาเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อน
นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นการทำลายธรรมชาติ เมื่อขาดสมดุลทางธรรมชาติ ความเจริญทางวัฒนธรรมก็ย่อมส่งผลกระทบไปด้วย เช่น เปลี่ยนวิถีจากการย้อมผ้าด้วยธรรมชาติ กลายเป็นการย้อมสีสังเคราะห์ ตอนนี้เกิดกติกาสากลของชนเผ่าพื้นเมืองนานาชาติ หากพื้นที่ลุ่มน้ำโขงมีกติกาที่ไม่เข้มแข็งพออาจจะต้องใช้กติกาดังกล่าวมาใช้ รวมถึงวิถีชีวิตของเด็กจะต้องให้เขาอยู่กับธรรมชาติลและบบนิเวศน์ที่สมบูรณ์ ในช่วงที่ผ่านมา “สภาประชาชนแม่น้ำโขง” จะเชื่อมโยงจากมณฑลยูนาน มาถึงไทย ลาว เวียดนาม มีพลังอำนาจที่จะต่อรองกับทุนทั้งหลาย
ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา ไชยพล ปลัดเทศบาลเวียงเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า การต่อสู้ของพี่น้องเรามีมาตั้งนานแล้ว นับเป็นเวลา 50 กว่าปี คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง ตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า ที่มีระบบเอื้อต่อกัน เรามักจะคุยกันเสมอเรื่องของความยั่งยืน สถานการณ์ปัจจุบันเราก็ได้คุยกันในเรื่องความอุดมสมบูรณ์รวมถึงเรื่องการเดินไปข้างหน้าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะการเข้าถึงเรื่องปัญหา ข้อมูล และสิทธิ ตอนนี้กำลังเราเริ่มอ่อนแรงลง ประเทศไทยมีการนำเสนอเรื่องแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราอาจจะมองภาพรวมไม่เด่นชัดนัก คณะกรรมาธิการอาจจะเป็นเสือกระดาษมากกว่า ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และยังไม่ทำให้เห็นแนวทางเท่าที่ควร
“ตอนนี้ท้องถิ่นในเขตเชียงของเอง ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการและปกปักษ์รักษาแม่น้ำโขงได้ มีเพียงการโอนอำนาจจากกรมชลประทานให้มีอำนาจเพียงลำห้วยเท่านั้น ก็ไม่สามารถเป็นพลังสำคัญร่วมกับชาวบ้านได้ และคิดภายใต้สถานการณ์ปฏิรูป ในอนาคตท้องถิ่นจะมีการบริหารจัดการร่วมกับชาวบ้านได้ตามหลักการกระจายอำนาจได้อย่างแท้จริง ตอนนี้ท้องถิ่นพร้อมที่จะเดินหน้าไปพร้อมกับชุมชนอยู่แล้ว”
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ให้ข้อคิดเห็นต่องานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปว่า สถานการณ์ในปัจจุบันได้รุกคืบและถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มากกว่าเรื่องการจัดการน้ำหรือการสร้างเขื่อน และรวมตัวกันในนาม “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง” โดยเชื่อมร้อยชุมชนลุ่มน้ำโขงตั้งแต่เชียงรายจนถึงอีสานใต้ รวม 7-8 จังหวัด ในมุมมองของตนคิดว่าหากเทียบกับสถานการณ์ข้างหน้าคิดว่าไม่พอสำหรับเรื่องดังกล่าว เช่น สถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ผันเปลี่ยนสู่ระบบอาเซียน นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ สังคม การลงทุน ที่จะเข้ามาในเขตพื้นที่ชายแดนอย่างทะลักทะลวง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงราย มีเขตติดต่อทั้งพม่าและลาว และเขตดังกล่าวนี้จะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล
ตอนนี้นายกรัฐมนตรีประกาศพื้นที่เศรษฐกิจ 5 พื้นที่ ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคอีสาน ทั้ง 5 พื้นที่จะมีงบประมาณที่ลงมาขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแสนล้าน ถือว่าเรื่องดังกล่าวมากกว่าเรื่องการจัดการน้ำและการต่อต้านเขื่อนไปแล้ว ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้ที่อยากสร้างประเด็นคำถามที่ท้าทายว่า “สภาลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายองค์กรชุมชน 36 จังหวัดรอบๆ ประเทศไทย จะปรับตัวอย่างไร ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ตะเข็บชายแดน?”
“หากเราคิดว่าเราต้องตั้งขบวนภายใต้สถานการณ์ปฏิรูป ทั้งเรื่องแผนแม่บทต่างๆ ที่เราอยากสร้างขึ้นมา จะตอบสนองระบบที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก การเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้คนไทยทั้งประเทศพบกับปัญหาขนาดใหญ่ ตอนนี้ยังไม่มีใครตื่นขึ้นมาเลย ในขณะที่รัฐบาลไทยประกาศเพียงแค่การลงทุน ไม่ได้เอ่ยถึงข้อมูลผลกระทบหรือปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แม้แต่คนในประเทศ คนในเมือง จะส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่น แรงงาน คนไม่มีที่อยู่อาศัย เกิดสลัม และขยายออกมาสู่ชุมชนเล็กๆ ชายขอบ คนชาติพันธุ์ รวมทั้งการทำลายทรัพยากรชายขอบ”
ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่า ภายใต้สถานการณ์ปฏิรูปในปัจจุบัน ตนมีข้อเสนอต่อน้ำโขงกับการพัฒนา 2 ประการ คือ ประการแรก การเข้าถึงสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรของภาคประชาชน ในการทำงาน 20 ปีที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติถูกลาย เพราะภาคประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิการเข้าถึงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมของตน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องของทุกคนที่จะปกป้องประเทศ กฎหมายลูกต้องเอื้อให้พี่น้องประชาชนเข้าถึงและใช้สิทธิได้ ซึ่งกระบวนการปฏิรูปต้องมี
ประการถัดมา คือ การยกระดับเชื่อมโยงเป็น “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง”ในประเทศไทย เพื่อผลักดันนโยบายอย่างชัดเจน และส่งเสริมให้แต่ละประเทศเพื่อนบ้านมี “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง” ในแต่ละพื้นที่ แล้วเชื่อมร้อยให้มีการทำ “สภาประชาชนระดับอาเซียน” เพื่อยกระดับเครือข่ายในระดับนานาชาติมากขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบัน ขบวนองค์กรชุมชน และสังคมคมปฏิเสธไม่ได้กับการเปลี่ยนไปในทุกด้านทุกมิติ ตั้งแต่สถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทย ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย รวมถึงสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้วิถีวัฒนธรรมและสิทธิชุมชนในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่ ภัยคุกคามที่จะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน เพียงแค่ว่าชุมชนท้องถิ่นเองจะตั้งรับและจัดการกับภัยคุกคามดังว่าอย่างไร