อดีตผู้ว่าธปท.ชี้แก้ความยากจนที่ผ่านมาหลงทิศ ปล่อยสินเชื่อ ไม่ใช่คำตอบ
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแนะแนวทางบริการทางการเงินแก้ปัญหาความยากจนต้องสร้างโมเดลใหม่เน้นให้ประชาชนรวมกลุ่ม สร้างช่องทางในการหารายได้ ชี้การลดหนี้นอกระบบเป็นเพียงการลดภาระไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง
เมื่อเร็วๆนี้ ศูนย์นวัตกรรมสังคม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “การสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืนในอนาคต” ณ ห้องจามจุรีบอลรูมบี โรมแรม ปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “แนวคิดใหม่ของการบริการทางการเงินสำหรับคนจน”
ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการให้บริการทางการเงินสามารถจะทำให้คนจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากผลสำรวจหรือผลวิจัยที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน สิ่งสำคัญคือภาคการเงินไม่ได้สามารถที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจนได้
"วันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า การเงินเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทเท่านั้น แต่หลายครั้งที่เกิดภาวะทางเศรษฐกิจหลายคนคาดหวังกับนโยบายทางการเงินว่าจะเข้ามาฉุดภาวะที่ยากลำบาก แม้ธนาคารจะออกมาพูดว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องทำในระยะสั้นและจำเป็นต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านอื่นควบคู่ตามไปด้วย และการแก้ปัญหาความยากจนที่มุ่งหวังจะให้เอาแต่ภาคการเงินเข้าไปช่วยให้หลุดพ้นนั้นเป็นความคาดหวังเกินบทบาทนโยบายจะทำได้"
ดร.ธาริษา กล่าวว่า ทุกคนจะต้องไม่หลงประเด็นว่าการจะพึ่งพาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปนั้นเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยทุกๆ 2 ปี จากข้อมูลล่าสุด ปี 2556 ก็พบว่า 88 % คนเข้าถึงการบริการทางการเงิน ส่วนคนที่เข้าไม่ถึงนั้นคืนบางคนบอกว่าไม่ได้จำเป็นที่จะต้องใช้บริการเหล่านั้นและสละสิทธิ์ ฉะนั้นทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าคนเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในอดีตเราใช้นโยบายขยายสาขาธนาคารพาณิชย์ไปสู่ต่างจังหวัดเพื่อมุ่งหวังจะให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ ในยุคนั้นเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมเพราะมุ่งหวังจะให้เกิดการใช้บริการของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่การที่ให้ประชาชนมุ่งใช้บริการของธนาคารเพื่อแก้ปัญหาความยากจนนั้นอาจจะไม่ได้ผล เพราะการแก้ปัญหาที่แท้จริง คือ รัฐต้องพยายามหาช่องทางให้ประชาชนในประเทศมีรายได้มากขึ้น นี่คือสิ่งสำคัญที่สุดและจะสามารถทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากวัฎจักรความยากจน ดังนั้นการเข้าถึงการใช้บริการทางภาคการเงินจึงไม่ใช่ปัญหาสำคัญ
“การปล่อยสินเชื่อ หรือโครงการต่างๆของธนาคารที่มุ่งหวังจะให้ประชาชนปลดหนี้ได้ เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือทำให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบแทนการจ่ายดอกเบี้ยนอกระบบที่เป็นปัญหา แต่จะไปคาดหวังว่าจะเกิดการหลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ นโยบายแบบนี้เป็นเพียงการช่วยลดภาระและทำให้ผู้กู้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ดร.ธาริษา กล่าว และว่าอาจจะต้องมีการออกแบบโมเดลในลักษณะที่เกิดการปล่อยกู้แบบรวมกลุ่ม คือมีการรวมกลุ่มของสมาชิกแล้วปล่อยกู้สมาชิกบางส่วนก่อน เพื่อดูว่ากิจกรรมหรือข้อเสนอที่เสนอมาให้ธนาคารสามารถทำได้จริงและสร้างประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงความสามารถในการชำระคืน ซึ่งจะเป็นการสร้างกิจกรรมและเป็นการฝึกให้ประชาชนรู้จักหาช่องทางในการเพิ่มรายได้
ขอบคุณภาพจากba.tni.ac.th