ลดอุบัติเหตุทางถนน กรมขนส่ง เข้มปี'63 เล็งอบรมสอบใบขับขี่เพิ่ม 15 ชม.
‘นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย’ เผย WHO ชมไทยเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องระบบดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ แต่ประสบปัญหาบังคับใช้ กม.ไม่เข้มงวด อุปทูตชิลีเชื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนได้ ต้องโทษขั้นต่ำติดคุก-ยึดใบขับขี่ตลอดชีพ กรมขนส่งฯ เล็งเพิ่มอบรมสอบใบขับขี่เป็น 15 ชม. ในปี 2563
วันที่ 20 มีนาคม 2558 ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จัดเสวนา ‘บทเรียนจากอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย’ ณ โรงแรม ดิ เอทัส ลุมพินี กรุงเทพฯ
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงรายงานขององค์การอนามัยโลก เรื่องความปลอดภัยทางถนน ปี 2556 ระบุประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 3 ของโลก จำนวน 2.6 หมื่นราย/ปี หรือ 1 ราย ทุก 20 นาที ซึ่งเหตุการณ์ 2 ครั้งใหญ่ คือ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนกับนักปั่นรอบโลกสองสามีภรรยาชาวอังกฤษในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2556 และ การเสียชีวิตนักปั่นรอบโลกชาวชิลีเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2558
“นักปั่นรอบโลกทั้ง 3 คนเป็นผู้ที่มีคุณค่าระดับโลกและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมากที่ต้องการกำลังใจสู้ชีวิตในวิถีมุ่งมั่น จึงถือเป็นโอกาสที่จะเสนอนโยบายที่สำคัญต่อการลดอุบัติเหตุบนถนนเมืองไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว และว่า ถ้าเราไม่มีนโยบายที่ดีออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องรำลึกเหยื่อรายใหม่อีกปีละ 2.6 หมื่นราย ซึ่งยังไม่นับรวมเหยื่อรายเก่า และครอบครัวผู้เสียชีวิต จนกลายเป็นตัวเลขสะสมมหาศาลมาก
ด้านนพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) กล่าวถึงผลการประชุมขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 เตรียมจัดการประชุม The 2nd Global ministerial Meeting for Road Safety 2558 ที่จะมีขึ้น ณ กรุงบราซิลเลีย หลังจากที่มีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2554 โดยครั้งนั้นมีประเทศที่เข้าร่วมกว่า 180 ประเทศ และมีมติให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องมีนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนน เพราะมีอัตราการสุ่มเสี่ยงและสูญเสียมากมายทั่วโลกปีละกว่า 1.3 ล้านคน ไม่นับคนพิการจำนวนมหาศาล
ทั้งนี้ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมจาก 11 ประเทศ มีการประเมินผลการดำเนินงานในครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ช่วงปี 2554-2557 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง โดยร้อยละ 10 ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ ร้อยละ 40 ของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้ และร้อยละ 90 ของประเทศที่มีรายได้สูง
"มากกว่าร้อยละ 50 ของการเสียชีวิตเกิดขึ้นกับกลุ่มรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน เเละคนเดินถนน ในประเทศที่มีรายได้ต่ำเเละรายได้ปานกลาง ยิ่งมีมาก เเละมีเพียงร้อยละ 7 ของประชากรโลก ที่ได้รับการคุ้มครองดูเเลด้วยกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยที่ดี"
ประธาน สอจร. กล่าวต่อว่า สำหรับไทยได้รับการประเมินกึ่งทศวรรษบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมาย ขาดมาตรฐานในการควบคุมความปลอดภัยในเขตเมือง โดยปัจจุบันไทยจำกัดความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง แต่ระดับสากลจำกัดความเร็วที่ 50 กม./ชั่วโมง และไม่บังคับใช้กฎหมายรัดเข็มขัดนิรภัยผู้โดยสารตอนหลัง
“ไทยได้รับการยกย่องเป็นตัวอย่างที่ดีเรื่อง ‘การดูแลหลังเกิดอุบัติเหตุ’ เช่นเดียวกับ บราซิล อินเดีย เคนยา และรัสเซีย เพราะมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กฎหมาย งบประมาณ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และโครงสร้างพื้นฐานพอใช้ได้” นพ.วิทยา กล่าว
ขณะที่ Mr.Luis Alberto Palma อุปทูตประเทศชิลี กล่าวถึงการดำเนินนโยบายความปลอดภัยบนถนน ประเทศชิลี ว่า ในอดีตมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุใกล้เคียงกับประเทศไทย จนกระทั่ง ปี 1990 เป็นต้นมา มีการวางแผนนโยบาย 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ช่วยให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงมากนัก
ระยะที่ 2 การปรับปรุงกฎหมาย บทลงโทษ หากตรวจพบแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ขับขี่เกินค่ามาตรฐาน ระวางโทษขั้นต่ำ คือ จำคุก และบางรายอาจถูกสั่งห้ามขับขี่ตลอดชีวิต อีกทั้ง เพิ่มมาตรการตรวจวัดความเร็วบ่อยขึ้น ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลง
ระยะที่ 3 เตรียมแผนความร่วมมือกับนักปั่นจักรยานตามเมืองต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและปั่นจักรยานร่วมกันไปกับรถยนต์ และต้องสร้างความตระหนักรู้ในเมืองที่มีเลนจักรยานเพื่อทราบว่าควรปฏิบัติอย่างไร
“ความสำเร็จในการลดสถิติอุบัติเหตุบนถนนในชิลีเกิดจากความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และเลือกใช้วิธีติดกล้องวงจรปิด เพื่อจับภาพผู้กระทำผิดและส่งไปที่บ้านให้มารายงานตัว หากขัดขืนจะยึดใบขับขี่” อุปทูต ประเทศชิลิ กล่าว และชื่นชมว่า ถนนประเทศไทยค่อนข้างใหญ่และจัดไว้อย่างดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ผู้ขับขี่มัก ‘แซงซ้าย’ บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความเคยชิน ฉะนั้น จะต้องจำกัดไม่ให้พฤติกรรมขับขี่เช่นนี้ เเละเหตุการณ์จะไม่ซ้ำรอยนักปั่นชาวชิลีเสียชีวิต
ฝ่าย Dr.Liviu Vedrasco ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงประเทศไทยได้รับเลือกเป็น 1 ใน 6 ประเทศ ได้รับคัดเลือกพัฒนาความปลอดภัยบนถนนระดับโลก มิได้มีสาเหตุมาจากมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนมาก แต่เห็นความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นในระดับกลุ่ม ชุมชน และประเทศ โดยเชื่อว่า การรณรงค์จะประสบความสำเร็จเหมือนครั้งรณรงค์ลดปล่อยควันดำเมื่อ 15 ปีก่อน
ทั้งนี้ ในปี 2563 จะนำกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาปรับใช้ และสนับสนุนการทำงานร่วมกับสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างลุล่วง ไม่เฉพาะการรายงานสถานการณ์ปกติเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงกฎหมายให้ลึกซึ้งและเข้าถึงประชาชนด้วย
สุดท้าย นายธีรรัตน์ ธัญญกุลสัจจา ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2557 กรมการขนส่งทางบกปรับเกณฑ์สอบใบขับขี่ใหม่ จากจำนวนข้อสอบเดิม 30 ข้อ เป็น 50 ข้อ ครอบคลุมความรู้ทุกมิติ โดยต้องได้รับคะแนนประเมินผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 95 พร้อมเข้ารับการอบรม 4 ชั่วโมง และในอนาคตเตรียมปรับเป็น 8 ชั่วโมง และ 15 ชั่วโมง ในปี 2563
เมื่อถามว่า ปี 2563 ปรับเวลาเข้ารับการอบรมเป็น 15 ชั่วโมง เพียงพอและล่าช้าไปหรือไม่ ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า หากเปรียบเทียบเวลาการอบรมกับสิงคโปร์หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยบนถนน พบเวลาอบรมราว 30 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่ง
“เราไม่สามารถปรับเวลาได้ทันทีภายในระยะเวลาสั้น เพราะรับภาระการฝึกอบรมทั้งหมดไม่ไหว จึงต้องอาศัยโรงเรียนสอนขับรถเข้าร่วมด้วย แต่ปัจจุบันเข้าเกณฑ์มาตรฐานน้อยมาก ฉะนั้น ในช่วง 5 ปีนี้ จะเร่งสร้างมาตรฐานควบคู่กันไป และป้องกันการต่อต้านจากประชาชนด้วย” นายธีรรัตน์ กล่าว .
อ่านประกอบ:ชง 6 ข้อเสนอ ลดอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย