วิกฤติหมอกควันภาคเหนือ 10 วันเศรษฐกิจสูญกว่า 6 พันล้าน
ปัญหาหมอกควัน พิบัติภัยธรรมชาติ หรือฝีมือมนุษย์ เครือข่ายพันธมิตร 7 มหาวิทยาลัย ไขคำตอบ อาจารย์วิศวฯ มช.ชี้วิกฤติหมอกควันไม่ได้หยุดแค่นี้ ต้องกลับมาอีก ถล่มซ้ำมลพิษข้ามพรมแดน หวั่นยิ่งไร้การจัดการอย่างเป็นระบบ อาจทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แนะเริ่มต้นพูดคุยชาวบ้านหยุดเกษตรแบบพึ่งพาไฟ
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายพันธมิตร 7 มหาวิทยาลัย ภายใต้เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อวิจัยเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ (RUN-CCDM) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเรื่อง “ปัญหาหมอกควัน พิบัติภัยธรรมชาติหรือฝีมือมนุษย์ : RUN-CCDM มีคำตอบพร้อมแนวทางแก้ไข” ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีรศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย ทัดศรี และศ.น.สพ.ดร.มงคล เตชะกำพุ รองอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวถึงความร่วมมือของเครือข่าย RUN-CCDM ศึกษาวิจัยปัญหาหมอกควัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของประเทศให้รัฐบาลมีที่พึ่งด้านงานวิจัย
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงปัญหาหมอกควันที่พื้นที่ภาคเหนือ ไม่ได้เกิดขึ้นปีนี้ปีแรก แต่ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก มีปีเดียวที่ไม่เกิดปัญหาหมอกควัน คือปี 2554 ที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ และจากประสบการณ์ 30-40 ปีที่ผ่านมา ปรากฎการณ์นี้ปัจจัยจากน้ำมือมนุษย์
"เมื่อมีการค้นคว้าระดับหนึ่ง วันนี้เราได้สมมุติฐาน ได้คำถาม เช่น ปัญหาหมอกควันเกิดจากอะไร จากการเผา ต้นเหตุการเผามาจากไหน เกษตรพันธสัญญามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เป็นปัญหาระดับภูมิภาคจริงหรือไม่ ข้อมูลบางอย่างปัจจุบันนี้กางอยู่บนโต๊ะแล้ว สามารถนำข้อมูลมานั่งดูได้”
ผศ.ดร.ปุ่น กล่าวถึงการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า บริเวณที่พบจำนวนจุดความร้อน Hot Spot) มากที่สุดได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งเกิดจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า ซึ่งปลูกข้าวโพดเพื่อส่งต่อให้บริษัทรับซื้อ พร้อมกับเชื่อว่า ปัญหาหมอกควันไม่ได้หยุดแค่วันนี้ พรุ่งนี้ ต้องกลับมาอีก และเกิดในระดับภูมิภาคด้วย ยิ่งหากไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ หรือรูปธรรม ปัญหาหมอกควันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับความท้าทายและผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. กล่าวว่า ในส่วนของภาคประชาชนยังมีช่องว่างอยู่ ยังมีคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการพูดคุยกัน หากไม่ให้ชาวบ้านเผาวัชพืชแล้วมีทางเลือกอื่นหรือไม่ อย่างไร
“วันนี้การใช้ที่ดินในภาคเกษตรมีการเปลี่ยนแปลง เรียกว่าเกษตรแบบพึ่งพาไฟ กับเกษตรแบบที่ไม่พึ่งพาไฟ ข้อมูลออกมาว่า เกษตรแบบพึ่งพาไฟต้นทุนต่อพื้นที่ต่ำกว่า จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการเผาขึ้น รวมถึงการจัดการการใช้ที่ดินของรัฐ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ”ผศ.ดร.ปุ่น กล่าว และว่า หนังเรื่องหมอกควัน เพิ่งเริ่มต้นขึ้น พบว่า แค่ช่วงเวลาเพียง 10 วันเศรษฐกิจทางภาคเหนือสูญเสียไปแล้วกว่า 6 พันล้านบาท
ผศ.ดร.ปุ่น กล่าวด้วยว่า และต้นเหตุที่แท้จริงก็ไม่ได้มาจากคนใดคนหนึ่ง หรือมาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง องค์ประกอบของหมอกควันไม่ได้เกิดจากภูมิอากาศหรือคนเพียงอย่างเดียว ซึ่งในระยะสั้นหรือระยะยาวสิ่งที่ต้องช่วยกันคิดก็คือกระบวนการจัดการโครงสร้างทางการเงินและภาษี เพราะเมื่อผลิตภัณฑ์ระบุว่าใช้เกษตรกรรมลักษณะนี้ โครงสร้างรัฐจะต้องพูดคุยเรื่องการเก็บภาษี ในระยะสั้นที่ต้องเน้นคือการเผชิญหน้าและทำความเข้าใจให้ตรงกัน
ด้านผศ.ดร.อัจฉริยา สุริยวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงมลพิษทางอากาศทางพื้นที่ภาคเหนือเกิดขึ้นทุกปี ประมาณมกราคม-เมษายน รุนแรงที่สุดประมาณมีนาคม และปัญหาชัดเจน ซึ่งแหล่งกำเนิดมาจากการเผาไหม้
ขณะที่ปัญหาหมอกควัน ก็มีปัจจัยมาจากภูมิประเทศ ที่เป็นแอ่งกระทะ มีภูเขาล้อมรอบ มลพิษจากการเผาไหม้จะลอยตัวขึ้นไป ประกอบช่วงมกราคม-เมษายน ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนมากดทับมลพิษให้อยู่ข้างล่าง จึงเป็นปัญหาเฉพาะที่ เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว เชิงภูมิศาสตร์กับภูมิประเทศ
ผศ.ดร.อัจฉริยา กล่าวถึงความรุนแรงปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ต้นเหตุเกิดมาจาก วิถีปฏิบัติของสังคม ชุมชน สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ
ขณะที่ผศ.เตือนใจ ดุลย์จินดาชบาพร ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ หากเรารู้ต้นตอที่ชัดเจนก็จะหาทางแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน แก้ที่แหล่งกำเนิดโดยชุมชนมีส่วนร่วม
"โดยปกติกิจกรรมของคนเราในประเทศไทย ก็ทำให้เกิดฝุ่นขนาดเล็ก หรือ PM10 อยู่แล้ว แต่เรายอมรับได้ที่ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินกว่าปอดจะรับได้ถึง 3 เท่า
ฉะนั้น จริงๆ แล้ว สิ่งที่แก้ปัญหาหมอกควัน เดินดินไปดูว่า แหล่งกำเนิดจริงๆ อยู่ตรงไหน แล้วแก้ปัญหา"
รศ.ดร.ไกรชาติ ตันตระการอาภา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิกฤติปัญหาหมอกควัน กับสุขภาพ การที่เราสูดอากาศฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมาก 2.5 ไมโครกรัมนั้น ถือว่ามีขนาดเล็กมาก สามารถเชื่อมโยงสู่ภาวะโรคปอดได้ และฝุ่นก็มีสารก่อมะเร็ง ทำให้เป็นมะเร็งปอด โรคหัวใจ
สุดท้าย รศ.ดร.ไกรชาติ ตั้งคำถามถึงการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษครอบคลุมหรือไม่ เพราะบางจังหวัดมีแค่ 1 สถานี ไม่เพียงพอต่อพื้นที่ทั้งจังหวัด ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจก่อผลกระทบต่อทางเดินหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคอื่นๆ ตามมา