แดเนียล อัลลัน โรเซน: รัฐต้องคุ้มครอง "ผู้กล้า" เปิดโปง "คนโกง" ทำผิดกม.
"..เมื่อวู้ดฟอร์ด ตรวจสอบพบว่ามีการปกปิดข้อมูลมานาน นับ 20 ปี เขาได้รายงานให้กับผู้บริหารระดับสูงที่โอลิมปัสรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ผู้บริหารไม่ดำเนินการใดๆ ในที่สุด วู้ดฟอร์ดจึงตัดสินใจที่จะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อผู้บริหารของ โอลิมปัสทราบว่าวู้ดฟอร์ดจะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อรัฐบาล ก็ได้ไล่วู้ดฟอร์ดออกจากงาน.."
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ศาสตราจารย์แดเนียล อัลลัน โรเซน ( Professor Daniel Allan Rosen ) จากมหาวิทยาลัย Chou และมหาวิทยาลัย Waseda บรรยายพิเศษหัวข้อ "กฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา" ( Whistleblower Laws in Japan and the U.S. และหัวข้อ "แนวทางการปรับใช้กฎหมายของศาลในเทคโนโลยีใหม่ ในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา" ( How Courts Determine whether Existing Laws Apply to New Technologies )
ใจความสำคัญตอนหนึ่งของการเสวนาครั้งนี้ ศาสตราจารย์แดเนียลระบุถึงการให้ความคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน โดยยกตัวอย่างกรณีบริษัทของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ คือ บริษัท โอลิมปัส ที่ปกปิดข้อมูลการขาดทุนของบริษัท โดยปกปิดมานานกว่า 20 ปี และในกรณีนี้ มีผู้บริหารรายหนึ่งของโอลิมปัส คือนายไมเคิล วู้ดฟอร์ด ( Michel Woodford ) เป็นผู้ตรวจสอบพบว่ามีการปกปิดข้อมูล
ศ.แดเนียล ระบุว่า กรณีการปกปิดที่เกิดขึ้นกับโอลิมปัสนี้ หากถามว่าเป็นการปกปิดข้อมูลให้พ้นจากใคร คำตอบก็คือปกปิดจากเรา ปกปิดจากสาธารณะชนเพราะบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การปกปิดข้อมูลจึงมีอันตรายต่อสาธารณะ
"เมื่อวู้ดฟอร์ด ตรวจสอบพบว่ามีการปกปิดข้อมูลมานาน นับ 20 ปี เขาได้รายงานให้กับผู้บริหารระดับสูงที่โอลิมปัสรับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ผู้บริหารไม่ดำเนินการใดๆ ในที่สุด วู้ดฟอร์ดจึงตัดสินใจที่จะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อผู้บริหารของ โอลิมปัสทราบว่าวู้ดฟอร์ดจะรายงานเรื่องดังกล่าวต่อรัฐบาล ก็ได้ ไล่วู้ดฟอร์ดออกจากงาน"
"ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคดีนี้ คือ กฎหมายปกป้องคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลของญี่ปุ่น จะปกป้องเฉพาะลูกจ้างที่เปิดเผยข้อมูลบริษัท เมื่อลูกจ้างพบว่านายจ้างกระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ วู้ดฟอร์ดไม่ใช่ลูกจ้าง แต่เป็นระดับผู้บริหารของบริษัท จึงไม่ได้รับการปกป้อง กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง แต่ถือเป็นหน้าที่ทางจริยธรรม"
"ขณะที่บริษัท โอลิมปัส ให้เหตุผลว่าการที่ไล่วู้ดฟอร์ดออก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการที่เขารายงานการปกปิดข้อมูล แต่เนื่องมาจากวู้ดฟอร์ดเป็นชาวต่างชาติ ไม่เข้าใจ วัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น" ศ.แดเนียลระบุ
อย่างไรก็ตาม วู้ดฟอร์ดได้รายงานเรื่องการปกปิดข้อมูลนี้ ต่อหน่วยงานตรวจสอบของประเทศอังกฤษด้วย เนื่องจาก บริษัทโอลิมปัส เป็นบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ มีการโอนเงินไปต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 1-3 พันล้านดอลล่าร์ และในท้ายที่สุด บริษัทโอลิมปัสได้ออกมายอมรับว่าข้อมูลที่วู้ดฟอร์ดเปิดเผยออกมานั้นเป็นความจริง โดยนาย ทซึโยชิ คิคูคาวะ ( Tsuyoshi Kikukawa ) และ ฮิเดโอะ ยามาดะ ( Hideo Yamada ) ผู้บริหารระดับสูงของโอลิมปัส ยอมรับว่าปกปิดข้อมูลจริง และมีการปลออมแปลงเอกสาร
ศ.แดเนียลกล่าวว่า สำหรับบทลงโทษของหน่วยงานกำกับตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ที่มีต่อกรณีบริษัทโอลิมปัสในคดีนี้ ถือว่าเป็นบทลงโทษที่เล็กน้อย คือ ปรับเพียง 1 แสนดอลล่าร์สหรัฐเท่านั้น ทั้งที่โทษสูงสุด ของกรณีเช่นนี้คือการลงโทษให้ออกจากตลาดหลักทรัพย์ ส่วนการดำเนินคดีทางกฎหมาย ศาลพบว่ามีความผิดจริง และมีคำสั่งให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญา และปรับ 7 ล้านดอลลาร์
"สำหรับความผิดในครั้งนี้ความเสียหายที่แท้จริง ที่เกิดจากการปกปิดข้อมูลมีเยอะกว่าจำนวนเงินที่บริษํทโอลิมปัสถูกปรับมากนัก แต่อย่างน้อย ข้อดีของเหตุการณ์นี้ก็คือ ความจริงได้ถูกเปิดเผยออกมา" ศ.แดเนียลระบุ
และกล่าวว่า แม้กรณีตัวอย่างนี้ ถูกเปิดเผยโดยคนเพียงคนเดียว คือนายไมเคิล วู้ดฟอร์ด แต่ได้สร้างผลต่อเนื่อง กล่าวคือ ในที่สุดหน่วยงานตรวจสอบของอังกฤษ มีการดำเนินคดีกับบริษัทโอลิมปัสและบริษัทลูก เพื่อป้องกันความเสียหายแก่นักลงทุนและตลาดหลักทรัพย์ในอังกฤษ
ขณะที่การดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา ในส่วนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา มีการดำเนินคดี กับธนาคารเยอรมัน แห่งหนึ่งในนิวยอร์ค เนื่องจาก มีส่วนเกี่ยวข้องในเส้นทางการเงินของบริษัทโอลิปัสที่มีการฉ้อโกง เป็นจำนวนเงินสูงถึง 1.4 พันล้านดอลล่าร์ ในที่สุด ศาลสั่งให้ธนาคารเยอรมันในนิวยอร์คแห่งนี้ จ่ายค่าปรับ 300 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ วู้ดฟอร์ดนั้น ฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งกับ บ.โอลิมปัส ที่ไล่เขาออก ในที่สุด บ.โอลิมปัสต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่วู้ดฟอร์ด 15 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
ศ.แดเนียลกล่าวว่า “สิ่งที่วู้ดฟอร์ดทำ มีประโยชน์หลายประการ คือ 1. เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน 2. ป้องกันการหลอกลวงในอนาคตต่อนักลงทุนรวมทั้งสามารถป้องกันการหลอกลวงนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ 3.พบประเด็นปัญหา ในส่วนที่รัฐอาจไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอาจขาดกำลังคนและข้อมูล”
ศ.แดเนียลกล่าวว่า ด้วยประโยชน์สำคัญเหล่านี้ จึงควรต้องมีกฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล และมีมาตรการสำคัญในการคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล คือ ผู้เปิดเผยข้อมูลต้องไม่โดนไล่ออก และ ต้องมีแรงจูงใจให้คนในบริษัทออกมาเปิดเผยข้อมูล ในกรณีที่พบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นในบริษัท นอกจากกรณีที่เกิดขึ้นกับโอลิมปัสแล้ว ยังมีกรณีที่มีลูกจ้างเปิดเผยข้อมูลบริษัท เมื่อพบว่าบริษัทกระทำการที่สร้างความเสียหาย หรือเกิดผลกกระทบต่อสาธารณะ อาทิ กรณีมีผู้เปิดเผยข้อมูลบริษัทโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เพิกเฉยต่อคำเตือนเกี่ยวกับการแตกร้าวของท่อบางส่วน
ศ.แดเนียล กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมายเพื่อปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูลก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างผู้เปิดเผยข้อมูลถูกไล่ออก ขณะเดียวกันข้อมูลที่นำมาเปิดเผยนั้น ต้องเกี่ยวกับประโยชน์ของผู้บริโภค ประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน
กฎหมายปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูลของประเทศญี่ปุ่น กำหนดไว้ด้วยว่า ครั้งแรกที่ลูกจ้างพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย หหรือมีการกระทำใดๆ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะหรือเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินให้แจ้งให้นายจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาทราบ หากนายจ้างไม่ดำเนินการใดๆ ก็ให้รายงานต่อรัฐบาล ทั้งนี้ ต้องมีเหตุผลอย่างเพียงพอในการรายงาน
ศ.แดเนียลกล่าวว่า "ประเด็นที่กำหนดว่าต้องมีเหตุผลอย่างเพียงพอ จึงรายงานต่อรัฐบาลนี้ อาจเป็นปัญหาในการตีความ ว่าข้อมูลระดับใด จึงถือว่ามีเหตุผลอย่างเพียงพอ และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ ต่อรายงานดังกล่าว ลูกจ้างก็อาจเสี่ยงต่อการถูกไล่ออก นอกจากนี้ กฎหมายของญี่ปุ่นไม่คุ้มครองกรณีลูกจ้างไปออกสื่อ เว้นต่อกรณีที่ข้อมูลเหล่านั้นเสี่ยงต่อการสูญหายหรือถูกทำลาย"
ศ.แดเนียลกล่าวถึงกฎหมายปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูลในสหรัฐอเมริกาว่า สหรัฐอเมริกาเป็นสหพันธรัฐ จึงมีกฎหมายแยกย่อยไปในระดับมลรัฐด้วย ซึ่งรัฐเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูล เพราะรัฐบาลมีหลักการสำคัญคือ ต้องการให้ประชาชนมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล และถือเป็นหน้าที่ที่ “ควร” จะเปิดเผยข้อมูล เมื่อพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย
อาทิ กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย กำหนดให้ลูกจ้างต้องเปิดเผยข้อมูลต่อเจ้านายเมื่อพบว่ามีการกระทำใดๆ ที่ละเมิดกกฎหมาย, ในแต่ละบริษัท มีประกาศให้ลูกจ้างเห็นได้ชัด ถึงกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลผู้กระทำผิดกฎหมาย และในประกาศนั้น มักระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลคือหน้าที่, มีบริการฮอตไลน์สายด่วน ให้โทร.กับสำนักงานอัยการได้โดยตรง เป็นต้น
ทั้งนี้ หลักการสำคัญโดยรวมของกฎหมายนี้ในแต่ละมลรัฐ ก็คือ เพื่อปกป้องลูกจ้างไม่ให้ถูกไล่ออก และปกป้องสาธารณให้รอดพ้นจากการถูกฉ้อโกง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นปัญหาบางประการเกี่ยวกับกฎหมายที่บังคับใช้ในแต่ละมลรัฐ
“ข้อเสียของกฎหมายแบบสหพันธรัฐก็คือ ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประเด็นอาจแตกต่างกันไป กฎหมายปกป้องคุ้มครองผู้เปิดเผยในบางรัฐจึงอาจเหมือน หรือแตกต่างจากอีกบางรัฐ”
"แต่หลักการโดยรวมที่เหมือนกันคือ ลูกจ้างสามารถเปิดเผยกรณีที่พบว่ามีการกระทำที่เป็นอันตรายต่อตนเอง และต่อสาธารณะ หรือได้รับอันตรายจากการทำงาน จากอาหหาร จากมลพิษทางน้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เมื่อลูกจ้างร้องเรียนต่อนายจ้าง แล้วไม่ได้รับการดำเนินการใดๆ ลูกจ้างสามารถร้องเรียนต่อรัฐบาลได้"
"ส่วนการปกป้องผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อโกงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ลูกจ้างในบริษัทจะได้รับการปกป้อง หากข้อมูลที่เปิดเผย เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน ผู้ถือหุ้น และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ"
ทั้งนี้ หลักการสำคัญของกฎหมายปกป้องคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลของสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์คือเพื่อปกป้องคุ้มครอง
“และให้พลเมืองถือเป็นหน้าที่ที่ควรต้องปฏิบัติ เมื่อพบการกระทำใดๆ ที่ขัดต่อกฎหมาย และเมื่อเห็นว่าการเปิดเผยนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ” ศ.แดเนียลระบุ
บุคคลในภาพ : Professor Daniel Allan Rosen
หมายเหตุ : ขอขอบคุณนักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ และนักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการผู้ทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาการบรรยายครั้งนี้