ดร.อัมมาร หวังรธน.ใหม่อุดช่องโหว่ สร้างกฎกติกาเข้มงวดใช้จ่ายงบประมาณ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะออกกฎหมายเข้มอุดช่องโหว่การใช้เงินนอกงบประมาณ ด้านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ชี้สังคมไม่เกิดการรับรู้ต่อให้มีกฎหมายลูกควบคุมก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้
19 มีนาคม 2558 ศูนย์นวัตกรรมสังคม คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเรื่อง "การสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืนในอนาคต" ณ ห้องจามจุรี บอลรูม บี โรงแรม ปทุมวัน ปริ้นเซส ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ "ต้นทุนที่แท้จริงของเงินอุดหนุนจากภาครัฐ"
ศ.(พิเศษ) ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์บอกว่าโครงการนี้ไม่มีต้นทุน ทั้งๆที่มี แต่เพราะคนที่ดูไบยืนยันว่าจะสามารถขายข้าวได้ในราคา 800 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ราคาตลาดขณะนั้นอยู่ที่ 400 เหรียญ สหรัฐฯ และใจไม่กล้าที่จะขายราคาในประเทศตามราคาที่รับจำนำมา ส่งผลให้รัฐบาลได้ข้าวมากองในสต๊อค ส่วนการค้าในตลาดต่างประเทศลดน้อยลง ต้นทุนโครงการรับจำนำข้าวที่แท้จริงมีมากมาย พอรับจำนำข้าวที่ราคา 15,000 บาท ชาวนาก็ขยันมาก ขยันจัดปุ๋ย จัดยาฆ่าแมลงเพื่อที่จะผลิตข้าวมาเน่าในโกดังของรัฐบาล นี่คือปัญหาใหญ่ของรัฐบาลที่ผ่านมา
ดร.อัมมาร กล่าวถึงการปฏิรูปการคลังของใหญ่ของไทยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยอ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งโครงสร้างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลังสมัยนั้นยังคงอยู่คู่กับรัฐธรรมนูญไทยมาทุกฉบับ แม้ประเทศไทยจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยเพียงใดก็ตาม แต่หากดูจากปัจจุบันกฎหมายการเงินการคลังก็ยังคงมีช่องโหว่ กฎหมายงบประมาณแผ่นดินอาจจะมีความชัดเจน แต่สำหรับการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่มาการกู้มาจากสถาบันการเงินอื่นๆนั้นในหลักการที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงผ่านรัฐสภา อีกทั้งเงินที่กู้ยืมมานั้นเป็นเงินที่ต้องมีการจ่ายคืน เมื่อจ่ายคืนจึงจะมีปรากฎในเอกสารงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในรัฐธรรมนูญบอกว่ารัฐสภาไม่มีสิทธิปฏิเสธการจ่ายคืนของเงินที่กู้ยืมมา ยืมเท่าไหร่ต้องจ่ายหมด นี่จึงเป็นทางออกที่สวยงาม
"จึงหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะอุดช่องว่างการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของเหล่านักการเมืองได้และมีกฎกติกาที่เข้มงวดเทียบเท่ากับการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน มิเช่นนั้นจะเป็นการเปิดประตูให้โครงการประชานิยมกลับมาได้อีก"
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้จะพยายามออกกฎหมายลูก ตั้งศาลเฉพาะ หรือองค์กรอิสระต่างๆขึ้นมาตรวจสอบเรื่องวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล หากไม่สามารถทำให้ประชาชนในสังคมเกิดการรับรู้อาจจะเป็นการหาคำตอบที่ไม่ตรงจุดและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้งยังจะเป็นการสร้างความขัดแย้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกฎหมายงบประมาณหนี้สาธารณะนั้น รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนเอาไว้รัดกุมพอสมควรเรื่องการใช้จ่ายมีการกำหนดเพดานไว้เรียบร้อย ดังนั้นการใช้จ่ายจะต้องอยู่ภายในเพดานที่กำหนด ซึ่งช่องโหว่ทางกฎหมายอยู่ที่ผู้กำหนดนโยบายและสังคมที่จะต้องมาช่วยกันตรวจสอบและสังคมวันนี้ให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า มีตัวอย่างจากกองทุนหมู่บ้านที่ใช้เงินนอกงบประมาณด้วยการกู้เงินมา7 หมื่นล้านบาทโดยเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินของรัฐและจ่ายคืนด้วยการผ่อนส่งนั้นทำให้เกิดหลายๆโครงการในลักษณะนี้ตามมาเพราะเห็นว่าสามารถทำได้และเป็นโครงการที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภา ดังนั้นจะต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจังสำหรับโครงการในลักษณะนี้ รวมทั้งขณะนี้เงินลงทุนก้อนใหญ่ของรัฐบาลจะนำไปหมุนเวียนในรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ซึ่งจะต้องมีความระมัดระวังเนื่องจากการควบคุมการใช้เงินของรัฐวิสาหกิจมีปัญหาและจำเป็นต้องรื้อระบบครั้งใหญ่ ส่วนท้องถิ่นเองที่มีปัญหาการใช้เงินเกินตัวหากไม่มีกติกาที่เข้มงวดก็จะมีปัญหาใหญ่ตามมาได้เช่นเดียวกัน
"ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระตุ้นความคิดให้คนในสังคมรู้สึกหวงแหน และมีความเชื่อว่าเงินของรัฐบาลคือเงินของตัวเอง ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะเอาเงินแต่ละบาทไปใช้จ่ายทำอะไร เพื่ออะไร ต้องมีคำถามตั้งแต่ต้น แต่ที่ผ่านมาทุกคนมีความเชื่อว่าเงินเป็นของรัฐบาลนั้นเป็นของรัฐบาลนี้ โครงการ 30 บาทเป็นเงินคุณทักษิณ โครงการรับจำนำข้าวเป็นของคุณยิ่งลักษณ์ โครงการประกันรายได้เป็นของอภิสิทธิ์ ถ้ายังไม่หลุดจากความเชื่อเหล่านี้ ก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้"
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าว คือโครงการที่ชาวนาจับต้องได้ แม้จะมีผลเสียหายขาดทุนถึง 7 แสนล้านบาท แต่ชาวนาไม่รู้ว่าเขาเสียหายอะไร อย่างไร ใครต้องแบกรับภาระ ถ้าวันนี้การรับรู้เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น รัฐบาลทุกชุดที่เข้ามาก็จะเนรมิตรค่านิยมเหล่านี้ไปเรื่อยๆ
ยิ่งไปกว่านั้นที่ผ่านมากฎหมายไม่ได้ระบุให้ผู้จ่ายภาษีที่เป็นเจ้าของเงินเป็นเสียหาย เมื่อมีปัญหาของนโยบายหรือโครงการที่ประชาชนได้รับผลกระทบ แต่หากไม่ใช่ผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรงก็ไม่สามารถฟ้องศาลได้ เช่นกรณีที่กลุ่มอาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)ยื่นฟ้องศาลว่าโครงการรับจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญแต่ไม่สามารถทำได้เพราะไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ผู้เสียหายจากโครงการนี้คือกลุ่มบริษัทผู้ค้าข้าว เมื่อเขาไม่ฟ้องก็ไม่สามารถดำเนินการได้
"ฉะนั้นหากแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของภาษีโดยตรงรวมตัวกันฟ้องร้องได้จะเป็นการถ่วงดุลให้สังคมได้อีกทางหนึ่ง"