วสท.หนุนขสมก.จัดซื้อรถเมล์ล็อตใหญ่ คำนึงถึงพลังงานไฟฟ้า
รักษาการ ผอ.ขสมก.เผยความคืบหน้าจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันต้องประกวดราคาใหม่ ครั้งที่ 3 คาดล็อตแรกเซ็นสัญญาได้เมษายน ส่งมอบแล้วเสร็จกรกฎาคม ดึงวิศวกรรมสถานฯ ร่วมตรวจรับรถ
วันที่ 18 มีนาคม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)โดยนางปราณี ศุกระศร รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรม ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร วสท. ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา)
ภายหลังการลงนาม นางปราณี กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี (ชานต่ำ 12 เมตร) ล็อตแรก 489 คัน ว่า ล่าสุดเปิดซองประกวดราคามาแล้ว 2 ครั้ง แต่พบว่า เอกสารของผู้ประสงค์เข้ายื่นราคายังขาดอยู่ ไม่ถูกต้อง คาดว่าเปิดซองประกวดราคาครั้งที่ 3 จะมีบริษัทเอกชนที่มีเอกสารสมบูรณ์เข้ามาเคาะราคาได้ วันที่ 23 เมษายน 2558
“ขสมก.คาดว่าการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรก สามารถเซ็นสัญญาได้ภายในเดือนเมษายน และพฤษภาคม มิถุนายน จะเริ่มมีรถทยอยมาให้เห็น ก่อนส่งมอบแล้วเสร็จได้ภายในกรกฎาคม 2558” รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าว และว่า ส่วนความพร้อมของถนนในกรุงเทพฯ กับรถเมล์ชานต่ำนั้น กรุงเทพมหานครรับปากจะปรับคอสะพานและถนน อีกทั้งช่วงแรกจะนำไปวิ่งถนนในเมืองที่ไม่ค่อยมีคอสะพาน
นางปราณี กล่าวถึงการลงนามความร่วมมือกับวสท.ด้วยว่า วสท.จะเริ่มมาช่วย ขสมก.ในขั้นตอนการรับรถเมล์เอ็นจีวี ตั้งแต่ล็อตแรกเป็นต้นไป
ขณะที่นายก วสท. กล่าวถึงภารกิจหลังมีการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพวิศวกรรมว่า ลำดับแรก วสท.จะให้ความร่วมมือ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปมีส่วนร่วม ให้คำแนะนำเรื่องของการจัดซื้อรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รวมถึงการให้คำปรึกษาอย่างเป็นกลางที่สุดสำหรับการจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรก และล็อตต่อๆ ไป พร้อมกับแสดงความหวังว่า ในอนาคตขสมก.จะยืนบนขาตัวเองได้ในเรื่องของการซ่อมบำรุง
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การจัดซื้อรถเมล์ ซึ่งจะเป็นรถร้อนนั้น สิ่งที่ประชาชนกังวลมากๆ คือเรื่องมลภาวะ ซึ่งน่าเห็นใจสภาพของรถเมล์ปัจจุบันผ่านการใช้งานมาไม่ต่ำกว่า 18- 20 ปี รถเก่ามากและก็สร้างควันดำ ขณะที่โลกอนาคต พลังงานไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีหลัก พลังงานสะอาด และยั่งยืนที่สุด ฉะนั้นรถเมล์ล็อตใหญ่อีก 3 พันกว่าคันจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยอาจไม่ได้เป็นรถเมล์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดก็ได้ เนื่องจากติดขัดเรื่องของราคา แต่สามารถทยอยจัดหารถชนิดนี้มาใช้ในบ้านเราได้
ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า ในอนาคตประเทศไทยต้องคิดพัฒนาเทคโนโลยีใช้เองในอนาคตให้ได้ สมัยก่อนใครพูดถึงรถไฮบริด (Hybrid) ดูเหมือนจะแพง แบตเตอรี่เก็บไฟได้ไม่เยอะ แถมราคาสูง แต่ปัจจุบันรถไฟฟ้าได้ส่วนต่างเรื่องภาษี เพราะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และเมื่อมีการใช้มาก ผู้ผลิตผลิตมากขึ้น ราคาต่อหน่วยย่อมจะถูกลง คำว่าแพงไปต่อไปจะไม่ใช่แล้ว แต่จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกวันด้วย
"เทคโนโลยีรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันถูกพัฒนาให้มีอัตราเร่งดีกว่า รถยนต์ใช้น้ำมันดีเซล แม้ราคาแพงกว่า แต่หากเปรียบเทียบโครงสร้างภาษีจะถูกกว่า"