ตลกร้าย...รัฐตั้ง ศบ.กช.แก้เอกภาพแทนรุกทางการเมืองหลังบอมบ์โก-ลก
เหตุระเบิดที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้จะสร้างความเสียหายอย่างยับเยิน ทั้งชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย แต่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ก็มองเห็นช่องทางของการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยเหมือนกัน
เพราะเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานชัดเจนที่สุดว่าเครือข่ายค้ายาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งใหญ่โตติดอันดับต้นๆ ของประเทศ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน อย่างน้อยก็ในระดับปฏิบัติการ
แม้ที่ผ่านมาฝ่ายตำรวจจะพบความเชื่อมโยงในระดับ “ผู้มีอำนาจสั่งใช้กำลัง” ของกลุ่มก่อความไม่สงบกับเครือข่ายค้ายาเสพติดว่าน่าจะเป็นคนๆ เดียวกัน และใช้กองกำลังติดอาวุธชุดเดียวกันในการก่อเหตุ (โดยมุ่งเป้าหมายต่างกัน) แต่ก็เป็นเรื่องของการวิเคราะห์โครงสร้างจากคำให้การของบรรดาผู้ก่อเหตุรุนแรงและบรรดาผู้ค้ายาเสพติดระดับต่างๆ ที่ถูกจับกุมได้เท่านั้น
ทว่าครั้งนี้มีหลักฐานชัดเจนขึ้น โดยข้อมูลที่กล่าวอ้างโดยหน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ สรุปได้ดังนี้
1.เหตุระเบิดเกิดขึ้นทันควันหลังเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ใน อ.สุไหงโก-ลก (จากการขยายผล ไม่ถึงกับบังเอิญ แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง) เพียง 1-2 วัน จึงเชื่อว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อตอบโต้รัฐ
2.พบข้อมูลหมายจับผู้ก่อความไม่สงบในคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้มีอิทธิพลรายดังกล่าว
3.พบคลิปวิดีโอโจมตีทหารอย่างโหดเหี้ยม 3 เหตุการณ์ในตัวของผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ และยอมรับว่าเป็นเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลที่ถูกค้นบ้าน (ควรตรวจสอบต่อว่าเป็นคลิปที่แพร่หลายในพื้นที่อยู่แล้วหรือไม่ เพื่อพิจารณาน้ำหนักของสมมติฐาน)
4.ผู้ต้องสงสัยเกือบ 10 รายซึ่งเป็นทีมวางระเบิดและปรากฏภาพในกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หลายรายเป็นระดับปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
5.ผู้ต้องหาที่ทางการออกหมายจับไปแล้ว 1 ราย เพราะปรากฏภาพใบหน้าชัดเจน เป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ ฝ่ายความมั่นคงอ้างข้อมูลว่าเคยถูกจับกุมในประเทศเพื่อนบ้านในข้อหาครอบครองวัตถุระเบิดเมื่อไม่นานมานี้ แต่กลับเดินทางเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ได้อย่างง่ายดาย
ถ้าสมมติฐานของฝ่ายความมั่นคงเป็นความจริง ย่อมเป็นโอกาสที่รัฐบาลไทยสามารถ “รุกทางการเมือง” ในเรื่องใหญ่ๆ ได้หลายเรื่อง อาทิ
- ขยายผลความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เพราะยิ่งข้อสันนิษฐานนี้จริงมากเท่าไร รัฐก็สามารถลดทอนความน่าเชื่อถือของกลุ่มขบวนการได้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในเวทีโลกที่มีความพยายามของตัวแทนขบวนการไม่ว่าเก่าหรือใหม่เคลื่อนไหวแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง ทั้งองค์การการประชุมชาติอิสลาม (โอไอซี) หรือองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะหากขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มค้ายาเสพติด คงไม่มีองค์กรใดในโลกนี้ยอมรับได้
- กดดันประเทศเพื่อนบ้านให้ร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก อีกทั้งหนึ่งในคนร้ายยังอาจเป็นผู้ต้องหาคดีสำคัญที่ไม่น่าออกมาเพ่นพ่านได้ ฉะนั้นต้องยื่นเงื่อนไขให้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการ "กระชับพื้นที่" กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง (ไม่ว่าจะอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือไม่) ให้มากกว่านี้
- ขยายผลต่อเนื่องในพื้นที่ด้วยการพลิกประเด็นให้ตั้ง "เขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม" สร้างโมเดลการปกครองที่ยึดโยงกับหลักศาสนา (ทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์) คือสถาปนาพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอบายมุข ซึ่งน่าจะเป็นเมืองชายแดนเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ทำได้ และจะเป็นการปลดชนวนข้อเรียกร้องเรื่องปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษไปด้วยในตัว หรืออย่างน้อยก็ฉวยโอกาสนี้จัด "โซนนิ่งสถานบริการและแหล่งอบายมุข" ให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนที่เคร่งศาสนาจำนวนมาก
นี่คือตัวอย่างของโอกาสที่รัฐไทยจะ "รุกทางการเมือง" ทั้งในและนอกประเทศได้ แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับทำแค่เพียงเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา (หลังเหตุการณ์บอมบ์โก-ลก 6 วัน) แล้วตั้ง “องค์กรพิเศษ” ที่ชื่อ "ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศบ.กช.ขึ้นมาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยราชการด้วยกันเอง เรื่องนี้จึงกลายเป็นตลกร้าย เพราะคิดอีกมุมหนึ่งย่อมเป็นเรื่องน่าอับอายว่าทำงานกันมา 7-8 ปีแล้ว ยังต้องมานั่งแก้ปัญหาเรื่องเอกภาพการบังคับบัญชากันอีกหรือ แล้วที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่
อย่างไรก็ตาม หากชุดข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนไม่เป็นความจริง ก็ยังมีข้อมูลอีกหลายชุดที่รัฐบาลสามารถหยิบมาใช้และเดินหน้าทำไปได้เลย (ซึ่งน่าจะดีกว่าการตั้ง ศบ.กช.) เช่น
- ชุดข้อมูลที่ว่าด้วยโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งจัดทำโดย พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุขและทีมงาน อันเป็นข้อมูลที่ได้จากการซักถาม-พูดคุยกับแนวร่วมขบวนการหลายพันคน สรุปว่าจุดหักเหที่ทำให้เยาวชนในพื้นที่จำนวนมากเข้าร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ก็คือการบิดเบือนประวัติศาสตร์และคำสอนทางศาสนา ตีความให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดน "ดารุลฮัรบี" ที่ทุกคนต้องต่อสู้หรือทำสงครามเพื่ออิสลาม ซึ่งถ้าคิดว่าทฤษฎีนี้มีน้ำหนัก ก็ต้องเร่งแก้ในมุมประวัติศาสตร์และศาสนากันไป
- ชุดข้อมูลเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งทีมงานของกระทรวงยุติธรรมจัดทำอยู่ โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในแง่กฎหมายที่มีอยู่จริง ได้แก่ คดีครอบครัวและมรดก ซึ่งต้องพิจารณาตามหลักศาสนาอิสลาม ก็มีข้อเสนอเรื่องการเปิด "แผนกชารีอะฮ์" ในศาลยุติธรรม และเสริมศักยภาพของอิหม่ามในพื้นที่ขึ้นมาเป็น "อนุญาโตตุลาการ" เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทของมุสลิมโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มีข้อมูลอยู่ไม่น้อย
- ชุดข้อมูลเรื่องความอยุติธรรมรากหญ้า ทั้งผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก / พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม การพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อยาวนานโดยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือประกันตัว ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าที่เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง หรือจะย้อนไปปัดฝุ่นรายงานของ กอส. (คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อปี 2549) เลยก็ยังได้
- ชุดข้อมูลเรื่องการเจรจา ซึ่งจะว่าไปก็ทำกันมาหลายรัฐบาล เพียงแต่ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นระบบ ไร้ทิศทาง และไม่มียุทธศาสตร์ หนำซ้ำยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและกองทัพ หากจะยกเครื่องกันในรัฐบาลชุดนี้ก็สามารถทำได้ และนับหนึ่งได้ทันที
- ชุดข้อมูลเรื่องการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการบางกลุ่มในพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ โดยมีข้อเสนออย่างเป็นระบบ บางโมเดลถึงกับยกร่างกฎหมายเป็นตุ๊กตาเอาไว้แล้ว รัฐบาลสามารถต่อยอดหรือจะย้อนกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเองก็ย่อมได้ ขณะเดียวกันก็สามารถพลิกไปตั้ง "เขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม" ได้ด้วยเหมือนกัน
เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. ศูนย์ข่าวอิศราเพิ่งจัดเวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “นโยบายดับไฟใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับแนวโน้มการพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk)” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยจากอินเตอร์เนชันแนล ไครซิสกรุ๊ป พูดเอาไว้อย่างน่าฟังว่า รัฐบาลชุดนี้ได้รับฉันทามติจากประชาชนด้วยเสียงข้างมากเกินครึ่งสภา จึงน่าจะผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเจรจาและการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ แต่รัฐบาลกลับไปตั้ง ศบ.กช.หลังจากทำหน้าที่มาแล้วถึง 1 เดือน สะท้อนความน่าเป็นห่วงว่ารัฐยังจัดทัพกันอยู่อีกหรือ...
เป็นตลกร้ายที่น่าเศร้าจริงๆ!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพหลังเกิดเหตุระเบิดที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อ 16 ก.ย.2554 ซึ่งเกือบทุกจุดคนร้ายเลือกเป้าเป็นย่านชุมชนและสถานบริการ (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)