11ปีชะตากรรม"ทนายสมชาย" กฎหมายป้องกันอุ้มหายยังเลือนราง
12 มี.ค.2547 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว สมชาย นีละไพจิตร หรือ "ทนายสมชาย" อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งเพิ่งรับทำเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการซ้อมทรมานผู้ต้องหา 5 คนในคดีปล้นปืนจากในสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 อันถือเป็นปฐมบทแห่งความรุนแรงรอบใหม่ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย
โดยจุดสุดท้ายที่มีผู้พบเห็น คือ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ผลักทนายสมชายขึ้นไปบนรถ บริเวณปากซอยรามคำแหง 69 เยื้องๆ สน.หัวหมาก
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยา และ ประทับจิต นีละไพจิตร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ลูกสาวของทนายสมชาย ยังคงเพรียกหาความเป็นธรรม สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว
ทั้งสองเชื่อว่าการหายตัวไปของทนายสมชาย เกี่ยวพันกับอำนาจรัฐอย่างแน่นอน เพราะนอกจากทนายคนดังกำลังทำคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืนแล้ว ก่อนหน้านั้นไม่นานยังได้เป็นแกนนำเคลื่อนไหวล่าชื่อประชาชนให้ได้ 50,000 ชื่อ เพื่อยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ขณะที่แฟ้มคดีที่ตั้งประเด็นฆาตกรรมถูกเก็บเงียบ ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการสืบสวนสอบสวน มีเพียงคดีหน่วงเหนี่ยวกักขังที่ขณะนี้อยู่ในศาลฎีกา โดยที่ในศาลอุทธรณ์ยกฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คนซึ่งล้วนเป็นตำรวจ ส่วนในศาลชั้นต้น แม้จะพิพากษาลงโทษ พ.ต.ต.เงิน ทองสุข แต่เจ้าตัวก็หายตัวไปอย่างลึกลับจากเหตุโคลนถล่มที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องเสียอีก
คดีนี้จึงดูไม่มีความหวัง ไม่ต่างจากคดีฆาตกรรม ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับเรื่องไว้ อ้างว่าไม่มีศพ จึงเดินหน้าต่อไม่ได้ ส่งผลให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล
"เหมือนไม่เต็มใจทำคดี ทำให้ไม่เชื่อมั่น" เป็นเสียงจากอังคณา นีละไพจิตร
"ในฐานะคนธรรมดา สิ่งเดียวที่เรายืนหยัดเรียกร้องตลอดมาคือรัฐต้องคืนความเป็นธรรม คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้สมชายและครอบครัวของเขา รัฐต้องไม่ปิดบังความผิดของตัวเองโดยปล่อยให้วัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวลยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป"
เป็นความในใจของอังคณาที่ระบายผ่านสื่อและเฟซบุ๊คส่วนตัวของเธอในวันที่สามีถูกอุ้มหายไป เวียนมาบรรจบอีกครั้งในปีนี้ พร้อมกับการก้าวออกมาจัดกิจกรรม "ยืนสงบนิ่ง" แสดงสัญลักษณ์รำลึกถึงทนายสมชายตรงจุดที่มีคนพบเขาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อังคณาไปยืนตรงจุดเกิดเหตุ เพราะตลอด 11 ปีที่ผ่านมาเธอไม่อาจทำใจเข้าไปใกล้บริเวณดังกล่าวได้เลย
คดีอุ้มทนายสมชายจึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ความอยุติธรรม และมาตรวัดความต่ำเตี้ยของ "สิทธิมนุษยชนไทย" ได้เป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องนำความคิดเห็นหรือท่าทีจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรระหว่างประเทศ หรือนานาชาติ มายืนยัน
แม้ว่าตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเด็นด้าน "สิทธิมนุษยชน" จะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบ และหน่วยงานอิสรที่รับผิดชอบ แต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ล้มลุกคลุกคลาน ทำให้ไม่ทันกับสถานการณ์และสภาพปัญหาที่แท้จริง โดยเฉพาะกลวิธีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ ที่มีความแยบยลมากยิ่งขึ้นทุกที
ด้วยเหตุนี้ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า "กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย" จึงเป็นความหวังที่จะมาช่วยอุดช่องโหว่กฎหมายที่ไม่เคยมีการกำหนดให้พฤติการณ์ "อุ้มหาย" เป็นความผิดอาญามาก่อน และน่าจะใช้เป็น "เครื่องมือ" ในการสกัดหรือยับยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐได้
โดยเฉพาะข้ออ้าง "ไม่เจอศพ" จะไม่สามารถนำมาอ้างได้อีกต่อไป เพราะผู้ที่อยู่ในแวดวงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมย่อมทราบดีว่า การอุ้มฆ่า-อุ้มหาย ต้องมีการทำลายศพ แล้วจะเจอศพได้อย่างไร
การผลักดันกฎหมายฉบับนี้เพราะไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาบสูญ
ปัจจุบันแม้ร่างกฎหมายใหม่จะผ่านกระบวนการปรับปรุงร่างและประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ยังต้องตามลุ้นกันอีกหลายขั้นตอน โดยเฉพาะในชั้นพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเต็มไปด้วยทหารที่มีทัศนคติคัดง้างกับเรื่องต่อต้านการซ้อมทรมาน และอุ้มฆ่าอุ้มหายมาโดยตลอด
ประทับจิต นีละไพจิตร ลูกสาวของทนายสมชาย บอกว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายนั้น ดีตรงที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากครอบครัวผู้เสียหาย ขณะนี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำร่างกฎหมายเสร็จแล้วแต่ ยังต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อน จึงถือว่าร่างกฎหมายยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างแท้จริง แต่ก็ยังหวังว่าจะมีการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และ สนช.ในเร็ววันนี้
"จริงๆ แล้วอยากให้แยกเรื่องซ้อมทรมานกับเรื่องอุ้มหายออกจากกัน เพราะเรื่องอุ้มหายนั้นมีความซับซ้อนมากกว่า ซึ่งในหลายประเทศก็แยกสองเรื่องนี้จากกัน แต่ของไทยบอกให้รวมกันเพื่อให้ง่ายต่อการผลักดัน ก็ขอให้ทั้งสองกรณีได้บัญญัติเป็นความผิดทางอาญาก่อน หลังจากนั้นค่อยปรับแก้หรือเสนอเพิ่มเติมในกฎหมายที่เกี่ยวข้องในภายหลัง"
อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวของประทับจิต เธอไม่เชื่อว่าร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายจะผ่านการพิจารณาและบังคับใช้ได้ในยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เนื่องจากในการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาก็มีความเห็นทางกองทัพในเชิงระงับยับยั้งหลายครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผ่านกฎหมายได้จริงก็ถือว่ายังไม่ชอบธรรมอยู่ดี
"เราจะผลักดันกฎหมายนี้ได้อย่างไรท่ามกลางบรรยากาศการใช้กฎอัยการศึก" ประทับจิต บอก และว่า "ที่สำคัญผู้กระทำผิดส่วนหนึ่งยังอยู่ในการดูแลของกองทัพ โดยเฉพาะกับกรณีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่ภาคเหนือ ฉะนั้นถึงกฎหมายผ่านก็คงยังบังคับใช้ไม่ได้จริง"
ประทับจิต เชื่อว่า หากยุติการลอยนวลผู้กระทำผิดทั้งซ้อมทรมานและอุ้มหายได้ จะทำให้เกิดการปฏิรูปกองทัพและตำรวจได้อย่างแท้จริง แต่ทุกวันนี้การปฏิรูปยังเกิดไม่ได้ เพราะยังมีการเรียกตัวบุคคลไปโดยพลการ มีการกักขังผู้ที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหาร
"ฉะนั้นตราบใดที่ยังใช้กฎอัยการศึก เราก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานจะไม่เกิดขึ้น" ประทับจิต ย้ำ
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า เนื้อหาสาระของร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมาแล้ว จึงอยู่ในเกณฑ์รับได้
การมีกฎหมายรับรองสิทธิมนุษยชน 2 เรื่องนี้ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศไทยมาก เพราะหากยังปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่มีกฎหมายที่ดีพอมาจัดการ นอกจากรัฐจะไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนแล้ว ยังไม่ได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวโดยปริยาย
ส่วนกรณีที่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น แสดงข้อห่วงใยเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กสม.ก็ได้รับการร้องเรียนมาหลายเรื่อง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ แต่เมื่อภาครัฐได้รับข้อเสนอแนะการแก้ไขจาก กสม.ไปแล้ว กลับดำเนินการล่าช้า ทำให้ปัญหาทับถม ดังนั้นความล่าช้าจึงนับเป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง
จากความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงดังกล่าว คงช่วยฉายภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ "สิทธิมนุษยชน" ในประเทศไทยได้ว่า สังคมไทยขยับเข้าใกล้ "มาตรฐาน" หรือนับวันจะยิ่งถอยห่าง
ได้แต่หวังว่ากรณีทนายสมชาย จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้สิทธิมนุษยชนมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กิจกรรมยืนสงบนิ่งที่ปากซอยรามคำแหง 69 โดยผู้หญิงสองคนกลาง คือ อังคณา กับ ประทับจิต นีละไพจิตร
หมายเหตุ : วิศิษฏ์ ชวนพิพัฒน์พงศ์ เป็นหัวหน้าข่าวสายสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ