จิตแพทย์เผยคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์7แสน-1.5ล้านคน
จิตแพทย์ชี้"ไบโพลาร์"ไม่ใช่อาการป่วยทางจิต แต่เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ สาเหตุหลักเกิดจากกรรมพันธุ์-สารเคมีในสมองไม่สมดุล
13 มีนาคม 2558 สำนักพิมพ์ดีเอ็มจีแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ ‘คนสองโลก’ ผลงานเขียนชิ้นแรกของดีเจเคนโด้ (เกรียงไกรมาศ พจน์สุนทร)
ทั้งนี้ภายในงานมีเสวนาหัวข้อ ‘เปลี่ยนโรค “ทุกข์”เป็น “สุข สมหวัง”ด้วยใจเหนือคน’ ณ หอประชุมพุทธคยา อาคารอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น22 ถนนเพลินจิต
นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์แห่งศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงโรคไบโพลาร์ ว่า ไม่ใช่อาการโรคจิตหรือโรคจิตเภท ซึ่งในทางจิตเวช สามารถแบ่งโรคต่างๆ ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ได้ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 มีความผิดปกติทางความคิดเช่น หลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน กลุ่มนี้จัดว่าเป็นโรคจิตเภท (Schizophre-nia) หรือที่เรียกว่า “โรคจิต” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับไบโพลาร์
กลุ่มที่ 2 มีความผิดปกติทางอารมณ์ จะมี 2 โรค คือซึมเศร้า กับไบโพลาร์
กลุ่มที่ 3 โรคเกี่ยวกับความวิตกกังวล เช่น ตื่นตระหนก (โรคแพนิก,Panic) กลัวที่สูง กลัวที่แคบ ย้ำคิด ย้ำทำ
กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากสารเสพติด
ส่วนสาเหตุของโรค นพ.จิตริน กล่าวว่า ในปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยที่ระบุชัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สาเหตุหลักๆ มี 2 ปัจจัยคือ 1.กรรมพันธุ์ หากพบว่าพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ลูกหลานก็มีความเสี่ยงสูงตามไปด้วย และ 2.สารเคมีในสมองไม่สมดุล คือสิ่งที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ สมองของคนที่เป็นไบโพลาร์จะโปรแกรมไว้ตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่เกิด โดยปัจจุบันมีคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ 1-2 % ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 700,000-1,500,000 คน ขณะที่ 5% ของประชากรทั่วโลกกำลังป่วยเป็นโรคดังกล่าว
นพ.จิตริน กล่าวถึงลักษณะอาการของโรคไบโพลาร์ ว่า สามารถแบ่งออกได้ 2 ช่วง คือ ภาวะแมเนีย (Mania) อาการในภาวะนี้ หากไม่สุขล้น อารมณ์ดีเกินเหตุก็จะหงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ไม่ยอมหลับยอมนอน พูดมาก พูดเร็ว เพราะความคิดพรั่งพรู แต่ไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องๆ ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นเร็วมาก นอกจากนี้ยังชอบความเสี่ยง ท้าทาย ตื่นเต้นโลดโผนโจนทะยานขาดความยับยั้งชั่งใจ และบางกรณีจะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ชอบเล่นพนัน มีความต้องการทางเพศสูง และที่หนักสุดคือหลงผิดคิดว่า ตัวเองมีอำนาจวิเศษ เป็นต้น
ขณะที่ในภาวะซึมเศร้า (Depression) ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะนี้จะมีอาการเศร้า และอารมณ์เบื่อ ไม่อยากทำอะไร เช่น เป็นนักเรียนก็ไม่อยากไปโรงเรียน คนทำงานก็มักจะลาหยุดบ่อยๆ เพราะไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรเลย ห้ามความรู้สึกจิตตกไม่ได้ ห้ามความรู้สึกท้อแท้หดหู่ไม่ได้ พยายามสู้แต่สู้ไม่ไหว
ด้านน.ส.อเล็กซานดร้า สติเบิร์ท นักแสดง พิธีกร นางแบบ ซึ่งเคยป่วยโรคไบโพลาร์ กล่าวว่า ไม่คิดว่าเป็นโรคไบโพลาร์ คิดว่าตัวเองปกติ เป็นโรคเครียดธรรมดา เพราะอาการตอนแรกแค่นอนไม่หลับ ตอนนั้นถ่ายละครทั้งวัน วันละ 10-12 ชั่วโมง พอกลับมาถึงบ้านเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ก็พยายามหาอะไรทำต่อ เช่นวาดรูป เช้ามาก็ไปถ่ายละครต่อ คือช่วงนั้นไม่ได้นอนเลย แต่มีแรงทำงานได้ปกติ เป็นแบบนั้นอยู่ 4-5 วัน และที่ร้ายแรงสุดคือเริ่มไม่สติเวลาขับรถ ก็คิดว่าตัวเองเริ่มไม่ปกติ จึงได้เข้าพบแพทย์ และได้รู้ว่าเป็นโรคไบโพลาร์ ซึ่งการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ การให้ความร่วมมือทางการแพทย์สำคัญมากถ้าผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ โอกาสหายจากโรคก็จะช้าขึ้น
“พอรู้ตัวว่าเป็นโรคก็เริ่มเข้ารักษา โฟกัสกับตัวเองมากขึ้น อ่านหนังสือธรรมะให้จิตใจสงบ และ อ่านใบโบรชัวร์จากโรงพยาบาลทำความรู้จักกับโรค พร้อมบอกครอบครัวให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ ครอบครัว และคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ทำให้มีแรงต่อสู้กับโรค ”
ขณะที่นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร พิธีกรและผู้ประกาศข่าว กล่าวว่า ตอนแรกยังไม่รู้จักโรคไบโพลาร์ว่าคืออะไร โรคอารมณ์สองขั้วเป็นอย่างไร พอน้องสาวป่วยก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ จนกระทั่วถึงจุดเปลี่ยนคือพบว่า ตัวเองเป็นจึงพยายามเข้าหาคุณหมอ พยายามปรึกษาและเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง จนเอาชนะกับโรคได้ และยาสำคัญในการรักษาคือคุณแม่ ท่านควรเป็นห่วง คอยย้ำเตือนในทำสิ่งกำลังทำอยู่ ท่านพยายามเรียกสติให้ไม่ทำอะไรแรงร้ายเกินไป
“การเปลี่ยนแปลงสู้กับโรคไบโพลาร์ คือเริ่มจากการแต่งตัวหนักแหวกแนวแปลกไปจากคนปกติใส่จงกระเบน เจาะหูข้างละ 4 รู พร้อมห้อยหลอดไฟ สร้อยใส่ไม่ต่ำกว่า 10 เส้น ใส่รองเท้ามีจงอย ทำผมหลากสี และนี่คือการเปลี่ยนแปลงทางภายนอก และอาการภายในก็มีพลังเยอะ ใช้พลังงานเท่าไหร่ก็ไม่หมด ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน พูดได้ทั้ง เวลาคนอื่นแทรกจะไม่ชอบ และเริ่มมีนิสัยก้าวร้าว วีนเหวี่ยงทีมงานจนได้ชื่อว่า ‘ดีเจเทวดา’ ”