สนง.ศาล ปค.เตะถ่วงฝืนคำสั่งเปิดเผยข้อมูล-รอ "ดิเรกฤทธิ์"ยื่นฟ้องขอทุเลา?
"...ทำไม เมื่อ กวฉ.สาขาสังคมฯมีคำวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่า ให้ สำนักงานศาลปกครองเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต้องมีการพิจารณาอะไรกันอีก การที่อ้างว่า เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นการเตะถ่วงเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง?..."
นับเป็นความอัปยศอีกครั้งในพฤติกรรมของผู้บริหารระดับสูงบางคนในสำนักงานศาลปกครองที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้แก่ประชาชน
พฤติกรรมดังกล่าวคือ การเตะถ่วงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่คณะกรรมการวินิจฉัย(กวฉ.)การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายมีคำวินิจฉัยซึ่งผลของคำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดและผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เป็นคูู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 686/2548)
ใครที่ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในศาลปกครองโดยเฉพาะคดี "จดหมายน้อย" ที่นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ทำบันทึกส่วนตัวไปทำบันทึกส่วนตัวไปยังรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนให้มีการเลื่อนยศ พ.ต.ท.นายหนึ่งให้เป็น พ.ต.อ.โดยอ้างว่า เป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุด คงจะทราบดีว่า เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ผู้เขียนได้ยื่นขอข้อมูลข่าวสารต่อสำนักงานศาลปกครอง 3 รายการคือ
1.ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายดิเรกฤทธิ์ ถูกกล่าวหาว่าทำบันทึกส่วนตัวไปยังรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจรายหนึ่ง
2. ผลการพิจารณาของนายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด(ที่สั่งให้ยุติการสอบสวนนายดิเรกฤทธิ์) ในกรณีเดียวกัน
3. ผลการพิจารณา/บันทึกการประชุม อนุกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ในกรณีเดียวกัน
แต่สำนักงานศาลปกครองโดยนายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้ทำหนังสือลงวันที่ 8 กันยายน 2557 ตอบปฏิเสธการเปิดผยข้อมูลข่าวสาร ผู้เขียนจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2557
ต่อมา กวฉ.สาขาสังคมฯที่มี นายสมยศ เชื้อไทย เป็นประธาน มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2558 ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการตามที่ได้อุทธรณ์ไว้ โดย กวฉ.ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยว่า ข้อมูลข่าวสารรายการที่ 1 เป็นข้อมูลในกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องที่มีการกล่าวหานายดิเรกฤทธิ์ อันเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการตามปกติของสำนักงานศาลปกครอง มิใช่ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลเพราะมิใช่เป็นสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล
เมื่อสำนักงานศาลปกครอง ได้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น และได้มีการแถลงข่าวให้สาธารณชนทราบแล้ว การเปิดเผยรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว จึงไม่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ หรือไม่อาจสำเร็จตามวัตถุประสงค์
อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนี้จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของพยานผู้มาให้ถ้อยคำ หรือคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว เห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้ถูกนายดิเรกฤทธิ์ ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทราบ จะแสดงให้เห็นถึงความถูกต้องและโปร่งใสในกระบวนการสืบสวนข้อเท็จจริงของสำนักงานศาลปกครอง อันจะทำให้สาธารณชน มีความเชื่อถือในการปฏิบัติราชการของสำนักงานศาลปกครอง
ข้อมูลข่าวสารดังกล่าว จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้ เว้นแต่ข้อมูลในส่วนการสืบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำขอของผู้อุทธรณ์ให้ปกปิด
ข้อมูลข่าวสารรายการที่ 2 ผลการพิจารณาของนายวิชัย ชื่นชมพูนุท นั้น สำนักงานศาลปกครอง ชี้แจงว่า มีเพียงคำสั่งประธานศาลปกครองสูงสุด ลับ ที่ 28/2557 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2557 เรื่อง งดโทษ และบันทึกการว่ากล่าวตักเตือน ลงวันที่ 6 งหาคม 2557 ซึ่งสามารถเปิดเผยให้ผู้อุทธรณ์ทราบได้ ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย
ข้อมูลข่าวสารรายการที่ 3 ผลการพิจารณา หรือ บันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนักงานศาลปกครอง (อ.ขป.สามัญ) กรณีเดียวกัน ข้อมูลในกรณีนี้ คือ รายการงานประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำสำนีกงานศาลปกครอง (อ.ขป.สามัญ) ครั้งที่ 2 / 2557 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ซึ่งสำนักงานศาลปกครอง ชี้แจงว่า ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุมแต่เนื่องจากการประชุมเรื่องการดำเนินการทางวินัยนายดิเรกฤทธิ์ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ในขณะนี้จึงให้เปิดเผยเฉพาะมติที่ประชุมในเรื่องดังกล่าว
หลังจากทราบคำวินิจฉัยต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้พยายามทวงถามด้วยวาจาผ่านเจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรและศูนย์ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานศาลปกครองอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ได้รับแจ้งว่า ได้แจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา และเมื่อเย็นวันที่13 กุมภาพันธ์ 2558 ได้โทรศัพท์ถึงนายอติโชค ผลดี รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองซึ่งเป็นผู้ที่ทำหนังสือตอบปฏิเสธการให้ข้อมูลข่าวสาร นายอติโชคอ้างว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด จะติดตามเรื่องให้
จนกระทั่งบัดนี้ เวลาล่วงเลยมานานประมาณ 1 เดือนครึ่งแล้ว ผู้เขียนยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารตามที่ กวฉ.สาขาสังคมฯมีคำวินิจฉัยให้สำนักงานศาลปกครองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพร้อมทั้งสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องเลย
ทำไม เมื่อ กวฉ.สาขาสังคมฯมีคำวินิจฉัยชัดเจนแล้วว่า ให้ สำนักงานศาลปกครองเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ต้องมีการพิจารณาอะไรกันอีก การที่อ้างว่า เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นการเตะถ่วงเพื่อเป้าประสงค์บางอย่าง?
นอกจากคำวินิจฉัยของ กวฉ.จะเป็นที่สุดและผูกพันหน่วยงานของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามแล้ว เพื่อให้ประชาชนสามารเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยง่ายและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2542 กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐรีบดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยทุกกรณี
จริงอยู่ แม้สำนักงานศาลปกครอง มิใช่หน่วยงานของรัฐสังกัดฝ่ายบริหาร แต่มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน สำนักงานศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่สำคัญที่จักต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลใดๆที่จะปฏิเสธหรือไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ดังนั้น การที่สำนักงานศาลปกครองเตะถ่วงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯและตามกรอบเวลาที่คณะรัฐมนนตรีกำหนด ย่อมเล็งเห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนาที่ไม่สุจริต
และแล้วความจริงก็เผยโฉมออกมา เมื่อนายดิเรกฤทธิ์ ยื่นฟ้อง กวฉ.สาขาสังคมฯแลผู้เขียนในฐานะคู่กรณีฝ่ายที่สามต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯที่ สค.7/2558 ลงวันที่ 27 มกราคม 2558 และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดโดยศาลมีหมายมายังผู้เขียนลงวันที่ 9 มีนาคม 2558 เพื่อให้ไปให้การเพื่อพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครอง
ในคำฟ้องนายดิเรกฤทธิ์บรรรยายว่า ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานศาลปกครองและเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในสำนักงานศาลปกครอง โดยมีรองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542...
การที่นายดิเรกฤทธิ์ "มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานศาลปกครองและเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในสำนักงานศาลปกครอง" คำถามคือ
1.นายดิเรกฤทธิ์ เป็นผู้สั่งให้สำนักงานศาลปกครองไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯ ไม่่ให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้เขียนโดยเร็วหรือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2542 หรือไม่
2.การเตะถ่วงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวตามข้อ 1 เพื่อดึงเวลาให้นายดิเรกฤทธิ์ ยื่นฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯและขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาบังคับตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.หรือไม่
3. ถ้านายดิเรกฤทธิ์ไม่ได้สั่งสำนักงานศาลปกครองมิให้เปิดเผยข้อมูล สำนักงานศาลปกครองมีเหตุผลอะไรที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯทั้งๆที่คำวินิจฉัยย่อมเป็นที่สุดและผูกพันหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่กรณีจะต้องปฏิบัติตาม ตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 686/2548)
การไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ กวฉ.ฯของสำนักงานศาลปกครอง ถ้ามีผู้ร้องเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจมีโทษทางวินัยได้ และถ้ามีเจตนาชัดแจ้ง ว่า เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดแล้ว อาจมีโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้เช่นเดียวกัน
เมื่อข้อเท็จจริง เป็นเช่นนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ นายดิเรกฤทธิ์ ในฐานะเลขาธิการสำนักงานศาลปครอง(หรือนายดิเรกฤทธิ์อาจจะอ้างว่า ฟ้องในฐานะส่วนตัว) เป็นผู้เดือดร้อนเสียหายหรือเป็นผู้ทรงสิทธิ์ที่จะฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯหรือไม่ เพราะเป็นหัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งให้สำนักงานศาลปกครองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่ก็ได้
คำวินิจฉัยของ กวฉ.สาขาสังคมฯ เป็นการควบคุมตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของราชการ โดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอุทธรณ์(กวฉ.)ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ผลของคำวินิจฉัยจึงย่อมเป็นที่สุดและผูกพันหน่วยงานรัฐ(คู่กรณี)ที่จะต้องปฏิบัติตามตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ประกอบกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ที่สำคัญในการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ สามารถเข้าถึงและตรวจดูได้โดยง่าย เพื่อจะได้แสดงความคิดเห็นและปกปักรักษาประโยชน์ของตน ควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล
ดังนั้น หากให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร และเป็นผู้ออกคำสั่งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนคำวินิจฉัยของ กวฉ.ได้ ย่อมขัดต่อหลักการควบคุมตรวจสอบภายในฝ่ายบริหาร และทำให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขาดประสิทธิภาพและไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้ อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2542 กำหนดแนวทางปฏิบัติว่า เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยเป็นประการใดแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐรีบดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษทางวินัยทุกกรณี หน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ในบังคับบัญชาจึงต้องปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
จึงไม่อาจถือได้ว่า หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (อ้างอิงคำสั่งศาลปกครองสูงสุด 686/2548)
การพิจารณาคดีที่นายดิเรกฤทธิ์ เป็นผู้ฟ้องคดีครั้งนี้ จึงท้าทายต่อถึงความมั่นคงแน่นอนในคำพิพากษาของศาลปกครอง เป็นอย่างยิ่ง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google