ชะลอร่างกม.ภาษีที่ดินฯ ได้แต่อย่าเงียบ เสียงนักวิชาการต่อกรณีรัฐอ่อนประชาสัมพันธ์
"ดร.วรากรณ์-ดร.เพิ่มศักดิ์" เห็นด้วยชะลอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน เหตุรัฐบาลไม่ประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจ จนประชาชนแตกตื่น ขอแค่ชะลอ แต่ไม่หยุดเงียบ หวังสักวันกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเกิดขึ้น ด้านอาจารย์เศรษฐศาสตร์ มธ. ยืนยันชัด หากรัฐจริงใจปฏิรูป ต้องเดินหน้าอย่างเดียว
หลังจากกระทรวงการคลังออกมาเดินหน้าแนวคิดเรื่องร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นในช่วงร่างกฎหมาย แต่กระแสคัดค้านโดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางก็มีผลต่อการเกิดกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน
กระทั่งล่าสุดพลเอกประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ชะลอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อนพร้อมทั้งให้กลับไปทบทวนและศึกษาแนวคิดเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งๆที่ตามกำหนดแล้วภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะยื่นเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปลายสัปดาห์หน้า
สำนักข่าวข่าวอิศรา สัมภาษณ์นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามเรื่องกฎหมายที่ดินมาอย่างยาวนานต่อการชะลอภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กรณีที่เกิดแรงต้านจากประชาชนสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ใช่แค่เรื่องของความไม่อยากจ่าย เพราะไม่เคยจ่าย แต่เป็นเรื่องความไว้ใจในตัวรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการบริหารเงินและภาษีที่เก็บได้ในขณะนี้ว่าเอาไปใช้จ่ายอย่างไร แบบไหน มีประสิทธิภาพหรือไม่
"ในระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยออกมาชี้แจงกับประชาชนว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บไปแล้วเอาไปใช้ทำอะไร แบบไหน ใครเก็บ ไม่เคยออกมาพูดอย่างชัดเจน ไม่มีโมเดลที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประชาชนจะเกิดความไม่ไว้ใจและเกิดแรงต้าน
นอกจากนี้ความคาดหวังของสังคมไทยกับรัฐบาลชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือการลดความเหลื่อมล้ำและลดการกระจุกตัวการถือครองที่ดิน ซึ่งภาษีนี้ก็ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก"
สำหรับคำสั่งการชะลอร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วก็ควรจะต้องชะลอ เพราะกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่การชะลอครั้งนี้ไม่ใช่ชะลอแล้วนิ่งเงียบหายไป รัฐบาลควรจะต้องบอกว่าจะทำอะไรต่อไป ศึกษาแล้วจะเป็นแบบไหน หรือมีกฎหมายใดจะเข้ามาทดแทนหรือไม่
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบ ไม่เช่นนั้นกฎหมายฉบับนี้ก็จะหายเงียบไปเฉยๆ คำสั่งชะลอหมายได้หมายความว่าต้องไม่อยู่นิ่งๆ ไม่อย่างนั้นกฎหมายไม่เกิดแล้วประเทศก็ต้องคอยกู้แบบที่ผ่านๆมา เพิ่มหนี้สาธารณะ และคนไทยต้องใช้กันอีกยาว
ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า จริงๆแล้วก็ต้องชะลอกฎหมายฉบับนี้ไปก่อน เพราะว่าประชาชนตกใจแตกตื่นกันมาก เนื่องจากรัฐไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือทำตารางออกมาให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่า ทำไมต้องจ่าย
"พอคนตกใจ ก็คงต้องทำให้หายตกใจไปก่อน ให้นิ่งไปก่อน จะเดินหน้าทำอะไรตอนนี้คงไม่ได้ คนไม่เข้าใจ"
อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เห็นว่า ส่วนกฎหมายฉบับนี้จะได้ออกมาใช้หรือไม่อย่างไร เชื่อว่าสักวันต้องมีกฎหมายฉบับนี้แน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะว่าเป็นกฎหมายสากลที่ใช้กันทั่วโลก อย่างน้อยถ้าคนเข้าใจหลักการของความเป็นสากลของกฎหมายฉบับนี้ก็คงจะเดินหน้าต่อได้ และคิดว่า นายกรัฐมนตรีตัดสินใจถูกแล้วที่สั่งให้ชะลอกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ขณะที่ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ไม่ให้ด้วยกับคำสั่งการชะลอเดินหน้าภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง แม้จะมีแรงต้านหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในสังคมว่า จะมีผลกระทบต่อคนยากจนหรือชนชั้นกลางนั้น ความเป็นจริงแล้วตัวกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคนเหล่านั้น และในตัวกฎหมายเองก็มีข้อยกเว้นให้สำหรับคนยากจนจริงๆ
"นายกรัฐมนตรีอาจจะมีความกังวลในส่วนนี้มากเกินไป ดังนั้นกระทรวงการคลังและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีต้องไปสร้างความเข้าใจในตัวกฎหมายให้ได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างที่หลายฝ่ายเป็นห่วงและควรจะเดินหน้าต่อไปไม่ใช่สั่งให้ชะลอ
ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปตามที่เคยสัญญาไว้ ก็ต้องมีแต่เดินหน้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่การสั่งให้ชะลอ"