‘แกนนำชาวบ้านแม่เมาะ’ ไม่เชื่อ กฟผ.จริงใจเยียวยา จ่าย 49 ล. เพราะคำสั่งศาล
กฟผ.วางแคชเชียร์เช็คต่อศาลปกครองเชียงใหม่ จ่ายเยียวยาผู้ป่วยแม่เมาะกว่า 49 ล้านบาท ‘มะลิวรรณ นาควิโรจน์’ เผยสัมผัสไม่ได้ถึงความจริงใจเเก้ปัญหา เหตุต้องทำตามคำพิพากษา-อีก 318 คน ถูกละเลยความช่วยเหลือ เชื่อสร้างบทเรียนการพัฒนาอนาคต
ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 123 ราย และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา
ทั้งนี้ ผู้ว่า กฟผ.ออกมาเปิดเผยถึงค่าสินไหมทดแทนคำนวณเงินต้นได้ 26,432,400 และดอกเบี้ยจนถึงวันชำระ 22,998,887.62 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 49,431,287.62 บาท โดยจะนำแคชเชียร์เช็คไปวางต่อสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ วันที่ 13 มีนาคม 2558 เพื่อให้แจ้งต่อผู้ฟ้องคดีมารับค่าสินไหมทดแทนต่อไป
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีดังกล่าวว่า กฟผ.นำแคชเชียร์เช็คไปวางต่อสำนักงานศาลปกครองเชียงใหม่ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเท่านั้น ไม่ได้แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา เพราะยังมีชาวบ้านอีก 318 คน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งนี้ ต่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนคนละ 49 ล้านบาท ก็ไม่สามารถนำไปซื้อปอดหรือสุขภาพที่ดีกลับคืนมาได้
สำหรับความผิดพลาดของ กฟผ.ครั้งนี้ ทำให้ชาวบ้านพื้นที่อื่นของประเทศหันมาต่อต้านการพัฒนาหรือไม่ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ เพราะตั้งแต่อดีตที่เกิดผลกระทบ กฟผ.ไม่แสดงความรับผิดชอบ แม้วันนี้โรงไฟฟ้าที่ก่อปัญหาจะหมดอายุลงแล้ว แต่ กฟผ.มีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่นี่ใหม่อีก โดยไม่มีแนวทางประกันชีวิตชาวบ้านเลย ฉะนั้น จึงมีส่วนทำให้ชาวบ้านพื้นที่อื่นไม่เชื่อมั่น และเราก็ไม่เชื่อมั่นด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียน เพื่อตัดสินใจจะเลือกสุขภาพที่ดีหรือการพัฒนา
นางมะลิวรรณ ยังกล่าวถึงกรณี กฟผ.ขอให้ชาวบ้านแม่เมาะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะปลอดภัยต่อชุมชน และโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ในอนาคต ยืนยันว่า เราไม่มั่นใจ ความหวาดระแวงยังมีอยู่ ฝันร้ายในอดีตยังไม่จบ แผลในอดีตไม่ได้รับเยียวยา แขนขาขาดไปแล้ว ต่อให้เอาพาสเตอร์ปิดแผลก็ไม่คุ้ม ทั้งนี้ ถามกลับว่า หาก กฟผ.มีความมั่นใจจริง เหตุใดปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการเยียวยา
“กฟผ.ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดแล้วหรือไม่ หรือช่วยเหลือเฉพาะ 123 คน ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด” เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าว และว่า ทั้งที่ทราบกันดีว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากมลภาวะในอดีตเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีใบรับรองเท่านั้น ให้เรามั่นใจในอนาคต แต่ปัจจุบันและอดีต กฟผ.ยังไม่ทำให้หายเจ็บปวดเลย
นางมะลิวรรณ กล่าวอีกว่า การพัฒนาใด ๆ ล้วนมีประโยชน์ต่อคนส่วนรวม แต่รัฐบาลไม่ควรทอดทิ้งคนส่วนน้อยอย่างเราเหมือนในอดีต ในฐานะที่รัฐบาลปัจจุบันมีอำนาจเต็มสั่งการใด ๆ ได้ ฉะนั้นขอให้เร่งสั่งการให้ กฟผ.จ่ายชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐครั้งนี้ก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เร็ว ๆ นี้ กฟผ.ได้ลงนามสัญญางานซื้อและจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ กับบริษัท อัลสตอม เพาเวอร์ ซิสเต็ม ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แห่งแรกในเอเชียที่มีการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจน และก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ ช่วยให้ปริมาณก๊าซปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศลดลงจากเดิมร้อยละ 50 ใช้งบประมาณลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท คาดแล้วเสร็จ ปี 2561 รองรับความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคเหนือ .
ภาพประกอบ:มะลิวรรณ นาควิโรจน์-เว็บไซต์ ppvoice.thainhf.org