รุมถล่มรัฐมึนตั้ง"ศบ.กช."ดับไฟใต้ จี้ลุยนโยบาย "เจรจาสันติภาพ"
ราชดำเนินเสวนาถกนโยบายดับไฟใต้ "ถาวร เสนเนียม" ถล่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้ง "ศบ.กช." ซ้ำซ้อน ตอบโจทย์ไม่ได้ ชูโครงสร้าง ศอ.บต.บูรณาการทุกหน่วยงานอยู่แล้ว ศักยภาพยิ่งกว่า "เขตปกครองพิเศษ" ขณะที่ "วิรุฬ ฟื้นแสน" แจงเหตุต้องปรับองค์กรใหม่เพราะ กอ.รมน.ไม่ยืดหยุ่น ไร้เอกภาพในการประสานหน่วยในพื้นที่ ด้านเอ็นจีโอหนุนรัฐบาลเพื่อไทยลุย "เจรจาสันติภาพ-กระจายอำนาจ" อดีตบิ๊กหน่วยข่าวเตือนโอไอซีจ่อเปลี่ยนนโยบายหยิบปมไฟใต้เข้าที่ประชุมใหญ่
เวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “นโยบายดับไฟใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับแนวโน้มการพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk)” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ก.ย.2554 ประเด็นที่ผู้ร่วมเสวนาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางคือการจัดตั้ง "ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศบ.กช.ของรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเป็นเอกภาพและเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเรื่อง "เจรจาสันติภาพ" ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การจัดตั้ง ศบ.กช.ไม่มีความจำเป็น เพราะโครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วออกกฎหมายมารองรับ ก็บูรณาการการทำงานของข้าราชการจากทุกภาคส่วนอยู่แล้ว
"โครงสร้าง ศอ.บต.ที่เราทำเป็นการระดมข้าราชการจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ และดึงภาคประชาชนมาร่วมด้วย โดยให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ก็นั่งเป็น ผอ.ศอ.บต. และเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีรัฐมนตรี 19 คนเป็นกรรมการด้วย"
นายถาวร กล่าวต่อว่า โครงสร้างของ ศอ.บต.เรียกได้ว่าเป็น "เขตปกครองพิเศษ" ด้วยซ้ำ เพราะใช้วิธีการบริหารราชการไม่เหมือนกับอีก 70 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จังหวัดละ 1 คน และยังมีสภาที่ปรึกษาและการพัฒนาฯอีก 49 คนที่คัดเลือกจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ และเลขาธิการยังมีอำนาจเสนอย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่ได้ ฉะนั้น ศอ.บต.จึงเปรียบเสมือน "ร้านน้ำชา" ซึ่งเป็นที่นิยมในพื้นที่ คือมีปัญหาอะไรประชาชนก็พูดคุยกันได้ ขณะเดียวกันรัฐก็ดูแลประชาชนทุกด้าน ทั้งเรื่องการทำมาหากินและให้ความเป็นธรรม
"ทั้งหมดคือความเป็นเอกภาพ ผิดกับรัฐบาลชุดนี้ที่นายกรัฐมนตรีมอบงานด้านความมั่นคงให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯดูแล แต่ก็มอบงานตำรวจให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯอีกคนหนึ่งดูแล ส่วนงาน ศอ.บต.ก็มอบให้ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ดูแล ซึ่งคุณยงยุทธยังมอบการประสานงานระหว่าง ศอ.บต.กับกระทรวงมหาดไทยไปให้ผู้รับผิดชอบอีกต่อหนึ่งด้วย จึงชัดเจนว่าไม่เป็นเอกภาพ แล้วยิ่งไปหาทางออกด้วยการตั้ง ศบ.กช. จนกลายเป็นความซ้ำซ้อน ตอบโจทย์ไม่ได้ ข้าราชการไม่รู้ว่าจะฟังใคร อิหลักอิเหลื่อกันไปหมด"
นายถาวร ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแต่งตั้งรัฐมนตรีรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนใต้เป็นการเฉพาะเหมือนในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชน รวมทั้งตำรวจ ทหาร
"สถานการณ์กำลังรุนแรงมากขึ้น แต่กลับไม่มีฝ่ายการเมืองลงไป ขอเตือนว่าการฟังบรีฟจากภาคราชการฝ่ายเดียวถือว่าอันตรายมาก ผมจึงขอเรียกร้องให้ตั้งรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบโดยตรง อย่าไปฟังข้ออ้างของรัฐมนตรีบางคนที่ไม่ยอมลงพื้นที่โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากไปสร้างปัญหาให้เจ้าหน้าที่ต้องมารักษาความปลอดภัย เพราะการจะส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลจำนวนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ที่สำคัญการลงพื้นที่จะทำให้ประชาชนและข้าราชการมีกำลังใจมากกว่าเดิม" อดีต รมช.มหาดไทย ระบุ และว่า สำหรับเรื่องการเจรจานั้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำ แต่นโยบายบางเรื่องควรเปิดเผยเมื่อถึงเวลา
พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้ร่วมจัดทำนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ศอ.บต.เป็นโครงสร้างที่ดีก็จริง แต่เนื่องจากขณะนี้มี กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งออกกฎหมายรองรับในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้โครงสร้าง กอ.รมน.แข็งเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่นอ่อนตัวเหมือนสมัยใช้แก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
"โครงสร้างมันแข็งตัว กำหนดให้นายกฯเป็น ผอ.รมน. ให้ ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. และให้เสธ.ทบ.เป็นเลขาธิการ กอ.รมน.เท่านั้น ทั้งๆ ที่จะให้ดีต้องยึดระบบ พตท. คือพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงสร้าง กอ.รมน.มีปัญหาจนรัฐบาลชุดที่แล้วต้องแยก ศอ.บต.ออกมา ที่สำคัญในระดับพื้นที่ แม้แม่ทัพภาคที่ 4 จะเป็นผู้คุมนโยบายตัวจริง แต่ความเป็นเอกภาพกลับไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเลขาธิการ ศอ.บต. นี่คือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องตั้ง ศบ.กช."
พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวด้วยว่า ทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ถูกต้อง จะต้องให้บทบาทกระทรวงมหาดไทยในฐานะ "เจ้าบ้าน" คนเดิม แต่ระยะหลังกลับมีบทบาทน้อย ส่วนที่พูดกันว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นนั้น จริงๆ แล้วเป็นสถานการณ์ต่อเนื่อง อย่าลืมว่าเลขาธิการ ศอ.บต.ยังเป็นคนเดิม และแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ยังเป็นคนเดิม
สำหรับข้อเสนอเรื่องเจรจาสันติภาพนั้น พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นทางเปิดหรือทางปิดก็ต้องทำ
น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยจากอินเตอร์เนชันแนล ไครซิสกรุ๊ป องค์กรเอกชนที่ทำงานในพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก กล่าวว่า มองความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในเรื่องการตั้ง ศบ.กช.ด้วยความเป็นห่วง เพราะผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้วรัฐยังจัดทัพไม่เสร็จ ความเป็นเอกภาพยังเป็นปัญหาอยู่อีก
ส่วนประเด็นการเจรจานั้น แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความพยายามเจรจามาทุกยุคทุกสมัย เช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีการจัดตั้ง Task Force 960 รับผิดชอบการประสานงานร่วมกับมาเลเซีย และมีการพบปะตัวแทนขบวนการที่เชื่อว่ามีอิทธิพลในพื้นที่ที่ประเทศบาห์เรนด้วย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้วางระบบอะไรรองรับ ประกอบกับรัฐบาลมีอายุเพียง 1 ปีเศษ สิ่งที่ทำไว้จึงยุติไป
ต่อมาในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มพูโลที่เสนอเรื่องหยุดยิง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง กระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี หรือพีเอ็มแอลเอ็ม ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เจาะไอร้อง ยี่งอ และระแงะ เป็นเวลา 1 เดือน (10 มิ.ย.ถึง10 ก.ค.2553) เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขามีศักยภาพเพียงพอในการควบคุมสถานการณ์ได้ แต่สุดท้ายทางฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าสรุปไม่ได้ว่ามีความสามารถในการหยุดยิงจริงหรือไม่ ขณะที่กองทัพก็ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่มีการเจรจา ทั้งยังบอกว่าเรื่องการหยุดยิงฝ่ายเดียวไม่เป็นความจริง
"นอกจากนั้นโอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) ก็มีบทบาทจัดเวทีพูดคุยกับตัวแทนขบวนการอีก 2 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือให้ฝ่ายขบวนการมีข้อเสนอทางการเมืองต่อรัฐไทยอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ส่งแรงกระเพื่อมถึงรัฐบาลไทยเหมือนกันว่าพยายามทำเรื่องพูดคุยสันติภาพ (peace talk) อยู่ และต่อมา คุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ก็ออกมาพูดว่ามีนโยบายให้พุดคุยกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในระดับนโยบายที่สำคัญว่ารัฐไทยพร้อมพูดคุยกับผู้ที่เห็นต่างแล้วจริงๆ"
น.ส.รุ่งรวี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีโอกาสผลักดันประเด็นใหญ่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ เพราะชนะเลือกตั้งได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นจึงน่าจะทำเรื่องพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจัง และเดินหน้ากระจายอำนาจที่เรียกกันว่า "ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ" โดยศึกษารูปแบบให้ชัดเจนภายใต้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ไม่ใช่แค่ใช้การทหารหยุดเลือดเอาไว้เหมือนที่ผ่านมา
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวว่า หลายฝ่ายรวมทั้งภาครัฐยังเข้าใจปัญหาภาคใต้ผิดพลาด โดยเฉพาะที่เชื่อว่าขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และพูโลอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ในพื้นที่นั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ฉะนั้นหากเสนอให้เจรจากับกลุ่มเหล่านี้ ก็เท่ากับเจรจาผิดคน
พล.ท.นันทเดช มองว่า ปัญหาในพื้นที่ที่ขยายวงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผิดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะการประกาศสงครามกับยาเสพติด ตามด้วยการยุบ ศอ.บต. โดยในช่วงปราบยาเสพติด รัฐบาลมุ่งจัดการหัวคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ มีการอุ้มบุคคลหลายคน ทำให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นต้องว่าจ้างและติดอาวุธให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อเป็นกองกำลังป้องกันตนเอง ต่อมาเมื่อมีการยุบ ศอ.บต.ตามมาอีก และยังมีเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบ จึงกลายเป็นตัวเร่งให้กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์พากันฝึกอาวุธและต่อต้านรัฐ
"ฉะนั้นเรื่องขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล จึงเป็นเรื่องเก่าที่ฝ่ายความมั่นคงสร้างภาพขึ้นมาเพื่อให้สถานการณ์ดูน่ากลัว ด้วยเหตุนี้หากจะเจรจาจริงๆ ก็ต้องไปเจรจากับสมาชิก อบต. (สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล) บางคนที่เป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธทั้งหลายให้ยอมยุติเหตุการณ์ ส่วนสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ (ซึ่ง พล.ท.นันทเดช ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี) เราได้เจรจากับ นายสะแปอิง บาซอ (ผู้ที่ถูกออกหมายจับเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อความไม่สงบ) ให้กลับประเทศ แต่ยังไม่ทันสำเร็จรัฐบาลก็หมดอายุเสียก่อน"
พล.ท.นันทเดช ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การเมืองในโอไอซีกำลังเปลี่ยนแปลงไป หลังจากหลายประเทศที่เคยสนับสนุนไทยประสบปัญหาการเมืองภายใน อาทิ เยเมน ตูนีเซีย เป็นต้น เมื่อการเมืองภายในเปลี่ยนแปลง ก็อาจเปลี่ยนผู้แทนที่ไปทำหน้าที่ในโอไอซีด้วย ฉะนั้นโอกาสที่โอไอซีจะนำปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเข้าสู่ที่ประชุมอย่างเป็นทางการน่าจะเกิดขึ้น เพราะขณะนี้ก็กำลังเร่งรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกโอไอซีอยู่ ประกอบกับรัฐบาลมาเลเซียก็อ่อนกำลังลงมาก ฝ่ายค้านกำลังมีบทบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) นายถาวร เสนเนียม พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ บนเวทีราชดำเนินเสวนา ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา