ธวัชชัย ยงกิตติคุณ:อย่าเพิ่งสรุปป.ป.ช.ถูกครอบงำความอิสระจากนักนิติศาสตร์
ธวัชชัย ยงกิตติคุณ บอกอย่าเพิ่งสรุปกรรมการ ป.ป.ช.ถูกครอบงำอิสระจากนักกฎหมาย ยอมรับทำงานล่าช้าจริง เเนะปรับวิธีประสานกัน ไม่เป็นไซโลเหมือนปัจจุบัน
ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 บัญญัติให้จัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ดูเหมือนตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันกลับมีตัวเลขไม่ลดลงเป็นที่น่าพอใจ โดยผลการจัดอันดับ ปี 2557 ไทยได้ 38 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม อยู่อันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศทั่วโลก
แน่นอนว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือ หนึ่งในองค์กรสำคัญที่ขับเคลื่อนความโปร่งใสประเทศ ภายใต้กรอบภารกิจครอบคลุมด้านการปราบปราม ป้องกัน และให้การศึกษา เช่นเดียวกับองค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในต่างประเทศ
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาวิจัยเรื่อง ‘การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระเพื่อต่อต้านคอร์รัปชัน’ โดยประเด็นที่เกี่ยวกับ ป.ป.ช. พบ มีโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาสัดส่วนจากฝ่ายตุลาการค่อนข้างมาก ทำให้มีกรรมการจากสายนิติศาสตร์มาก เกิดความล่าช้าในการไต่สวนคดี รวมถึงการได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันทำงานก็ติดกรอบระบบราชการ (อ่านประกอบ:วิจัยทีดีอาร์ไอชี้จุดอ่อน 'ป.ป.ช.-คตง.-ผู้ตรวจการ' ขาดงบ-กรรมการไม่หลากหลาย)
นายธวัชชัย ยงกิตติคุณ อดีตเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย หนึ่งในผู้ติดตามการทำงานขององค์กรอิสระ แสดงความเห็นโดยอยากให้คณะกรรมการสรรหามีความน่าเชื่อถือ ปราศจากข้อสงสัย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยหาคนที่ประชาชนยกย่องนับถือยากมาก แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม
"ขณะนี้คนยังเชื่อว่า ฝ่ายตุลาการดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลดีผลเสียขึ้นอยู่กับตัวคน สุดท้ายเมื่อผลการคัดเลือกออกมาแล้ว ประชาชนก็พอใจ"
สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในที่สุดแล้ว ตำแหน่งอยู่ที่ศาลค่อนข้างมาก เนื่องจากสังคมไทยมองเห็นตุลาการเป็นด่านแรก แต่ข้อเท็จจริงพบว่า คดีต่าง ๆ ที่ล่าช้า เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ก่อนชี้มูลความผิด กรรมการ ป.ป.ช.ต้องลงมาดูเอง เลยต้องมีความรู้ด้านเทคนิคทางกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องอาศัยนักนิติศาสตร์ ทั้งที่ควรลงมาดูเฉพาะคดีใหญ่ ๆ เท่านั้น
“อย่าเพิ่งสรุปว่า กรรมการ ป.ป.ช.ถูกครอบงำความอิสระจากนักนิติศาสตร์ เพราะข้อเท็จจริงมีเหตุมีผลอยู่”
อดีตเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ยังกล่าวถึงความล่าช้าในการไต่สวนคดีว่า เมื่อตรวจสอบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่พบความล่าช้าในกระบวนการศาล เพราะปีที่ผ่านมาศาลตัดสินคดีเสร็จสิ้นกว่า 100 คดี และไม่พบในกระบวนการ ป.ป.ช. เช่นกัน
พร้อมยกตัวอย่าง คดีรับสินบนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ พบล่าช้าในชั้นอัยการ
ต่อไปจึงต้องแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเกิดความโปร่งใส ทั้งนี้ รวมถึงศาลด้วย เเละหากอัยการมีมติไม่สั่งฟ้อง จำเป็นต้องแสดงเหตุผลเปิดเผยต่อสาธารณะ
“ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะพิจารณาจากจุดเดียวไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด ยอมรับว่า ป.ป.ช.ทำงานช้าจริง ด้วยเหตุผลทางการเมืองภายใน”
นายธวัชชัย กล่าวด้วยว่า ป.ป.ช.ต้องปรับปรุงวิธีทำงานด้วย หากทุกคดีต้องประชุมเป็นคณะจะล่าช้า หรือคนรับมอบคดีใดติดตามเกือบเสร็จสิ้น หากกรรมการคนนั้นเกษียณอายุก่อน และมอบหมายให้กรรมการคนใหม่ กว่าจะคลำถูกทาง ฉะนั้นต้องปรับวิธีการทำงานประสานกัน ไม่เป็น ‘ไซโล’ เหมือนปัจจุบัน ซึ่งภาคเอกชนเริ่มปรับปรุงวิธีทำงานเเล้ว อย่างกรณีบังคับให้พนักงานลาพักร้อน โดยระหว่างนี้คนมาควบคุมใหม่ย่อมมีสิทธิดูเอกสารได้ทุกอย่าง ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องต้องเเก้ไข .
ภาพประกอบ:ธวัชชัย ยงกิตติคุณ-เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์