มุมมอง 'อัมมาร-ผาสุก' ว่าด้วยเรื่อง 'ประชาธิปไตย รธน. และคอร์รัปชั่น'
“ความจริงรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดและมีความชอบธรรมมากที่สุด คือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้มาโดยไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการแก้ไขข้อกฎหมายจากรัฐธรรมนูญเดิมและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่"
เมื่อเร็วๆนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล อ.ป๋วยอึ้งภากรณ์ พร้อมจัดงานประชุมเชิงวิชาการนานาชาติ เรื่อง"วิกฤตคอร์รัปชันไทยกับการต่อสู้ของภาคพลเมือง" ณ ห้องประชุมดร.ไสว สุทธิพิทักษ์
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งที่เราต้องการในขณะนี้คือผลพวงทางความคิดให้กับประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ในระยะนี้เรื่องการปฏิรูปที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในสังคม และการปฏิรูปหลายอย่างไม่ได้รับการทดสอบหรือการยอมรับจากสังคม แต่ผลการสำรวจจากเสียงต่างๆก็เห็นดีเห็นชอบไม่น้อยกับสิ่งที่รัฐบาลทหารทำ ทั้งๆที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเลย แต่กลับมีเสียงเชียร์เต็มที่ อยากทราบว่ามีปัญหาอะไรในการเมืองที่มีเลือกตั้ง สิ่งต่างๆที่รัฐบาลทหารทำ ทำไมไม่เกิดขึ้น
“ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งแล้วให้ทหารเข้ามาทำเสมอไป เพียงแต่อยากชี้ช่องว่า ให้พรรคการเมืองปกติเริ่มมองปัญหาเช่นนี้บ้าง”
สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดร.อัมมาร มองว่า ข้อเสนอของการปฏิรูปไม่ใช่แค่ส่วนของ ทีดีอาร์ไอ ข้าราชการต่างๆ นักการเมือง หรือภาคประชาชน ที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อเสนอของใครเคยเข้ารัฐสภา รัฐสภาไทยมีความแตกต่างจากรัฐสภาต่างประเทศ ของต่างประเทศเขาจะมีจิตวิญญาณ มีประวัติศาสตร์ มีการต่อต้านอำนาจของฝ่ายบริหาร รัฐสภาจึงเป็นศูนย์ของการต่อต้านอำนาจของฝ่ายบริหารที่แรงที่สุด ไม่ใช่จะมาเป็นลูกไล่ของฝ่ายบริหาร อีกทั้งพรรคการเมืองต่างๆจะต้องมีการบริหารจัดการตัวเอง หากหัวหน้าพรรคไม่ชอบมาพากลหรือไม่ดีก็ไล่ออก ใช้เงินไม่ดีไม่เป็น ก็ไล่ออก แต่ของไทยรัฐสภาไม่เคยตั้งคำถามต่อการใช้เงิน
“ทุกปีจะมีกระบวนการงบประมาณ แต่งบประมาณเป็นการเรียกร้องขอส่วนแบ่งให้เขตเลือกตั้งของตัวเองโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดูแล้วไม่มีศักดิ์ศรี แต่รัฐสภาของเมืองนอกจะคนละแบบ จะเน้นดูนโยบาย ตั้งคำถาม”ดร.อัมมร กล่าว และว่า จากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้รัฐสภาไทยเกิดความอ่อนแอ และเท่าที่สังเกตนักร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นคนหน้าซ้ำ แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่เคยกล่าวถึงความอ่อนแอในฐานของระบบรัฐสภาในรัฐธรรมนูญเลย ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ จะมีก็ปรับนิดๆหน่อยๆเพื่อให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอลง แต่ไม่ได้เสริมความสามารถของรัฐสภา
ดร.อัมมาร กล่าวว่า ในขณะนี้มีกระแสบางอย่างที่ทำให้รู้สึกอยากเขียนเหมือนกัน พร้อมอยากจะตั้งคำถามกับกระบวนการฉีกรัฐธรรมนูญแล้วเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่
"หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ครั้งแรกเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 มีรัฐธรรมนูญที่เลวที่สุดคือยอมรับการมีทาส ประชาชนครึ่งหนึ่งของประเทศไม่ยอมรับ แต่สังคมอเมริกาขับเคี่ยวเรื่องนี้กันมานานเป็นทศวรรษโดยที่ยังคงเกาะรัฐธรรมนูญที่เลวร้ายที่สุดของเขาและวางมันอยู่ข้างๆมาโดยตลอด เมื่อสงครามการต่อสู้จบจึงมีการแก้ไขว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนและยกเลิกทาส และทำให้ประเทศเดินต่อไปได้
การที่ผมกล่าวอ้างอย่างนั้นไม่ได้หมายความว่าผมเป็นพวกอนุรักษ์นิยม เพียงแต่ต้องการกติกาที่เป็นทุกส่วนของสังคม และเป็นกติกาที่มีการเรียนรู้ร่วมกัน ตอนนี้ผมไม่ได้แคร์ว่ารูปแบบของการเลือกตั้ง จะเลือกแบบไหนก็ได้ แต่ขอให้มีเสถียรภาพ ไม่ใช่มีปัญหาให้ทหารเข้ามาเคลียร์ มาปฏิวัติ ขอให้เคารพกฎกติกา และอย่าได้ฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อมาเริ่มต้นด้วยกระดาษเปล่า”
นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ทุกอย่างในขณะนี้กินเวลา การฉีกแล้วเขียนใหม่ทำให้เกิดการปรับตัวไม่ทัน ความจริงรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดและมีความชอบธรรมมากที่สุด คือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้มาโดยไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญแต่เป็นการแก้ไขข้อกฎหมายจากรัฐธรรมนูญเดิมและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ซึ่งเป็นของดีที่เรากำลังจะโยนทิ้งเข้าตะกร้า และจากการที่ไม่มีเสถียรภาพส่งผลไปถึงความเกี่ยวพันกับระบบการใช้เงิน ที่นักเขียนรัฐธรรมนูญไม่เคยมองเรื่องการเงิน ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นรัฐทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งล้วนขับเคลื่อนด้วยเงินเท่านั้น
ด้านศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสาเหตุความอ่อนแอของระบบรัฐสภาไทย ว่า เป็นเพราะเราทำให้ระบบรัฐสภาไม่มีโอกาสที่จะเจริญเติบโต ลองย้อนดูว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีรัฐประหารกี่ครั้งตั้งแต่มีความพยายามที่เปลี่ยนระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย และทุกครั้งของการรัฐประหารคือการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เปรียบเสมือนเด็กทารกที่ตั้งไข่กำลังหัดเดิน แล้วความพยายามเดิมถูกตีกลับทุกครั้ง เด็กพยายามจะยืน แต่ผู้ใหญ่สั่งว่าอย่าเพิ่งยืนแล้วก็ตีล้มทุกครั้ง สุดท้ายเด็กคนนั้นก็พิกลพิการและเติบโตไม่ได้
เฉกเช่นเดียวกับระบบรัฐสภาไทยเป็นระบอบที่ไม่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไม่เคยผ่านวิวัฒนาการทางธรรมชาติ ที่จะได้ลองผิดลองถูกแล้วปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สมัยสงครามเย็นรัฐประหารคือการมีอำนาจดิบคุมอาวุธ คุมทหาร หากคุมสองสิ่งนี้ไม่ได้ก็ทำรัฐประหารไม่ได้
“ระยะหลังของการเกิดรัฐประหารเป็นการถูกเรียกร้องของคนกลุ่มหนึ่งในประเทศโดยเฉพาะการทำรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา หากไม่มีภาคประชาชนไปสนับสนุน จะไม่มีความชอบธรรมที่จะทำรัฐประหาร และครั้งล่าสุดมีความชัดเจนมาก”
ดร.ผาสุก กล่าวว่า การเรียกร้องของกลุ่มคนจำนวนมากที่เรียกร้องให้ทหารมาทำการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั้งๆที่มีกระบวนการที่จะแก้ไขโดยไม่ต้องใช้กำลังเช่นนี้ เป็นการที่เราไม่ยอมให้ระบบรัฐสภาไทยเจริญเติบโต หากเราปล่อยให้มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยไม่ฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญ ลองผิดลองถูก แก้ปัญหาด้วยกรอบกฎหมายที่กำกับ ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้ และการรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ไทยถอยหลังเข้าคลองไปไกลกว่าสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
สำหรับปัญหาคอร์รัปชันในเมืองไทย ดร.ผาสุก กล่าวว่า ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในโลกจนแก้ไม่ได้ ที่สำคัญเกิดวิกฤติวาทกรรมคอร์รัปชัน จนทำให้เกิดความกลัวนักการเมืองกระทั่งยอมที่จะให้เกิดอะไรขึ้นก็ได้ทุกอย่างเพื่อให้นักการเมืองออกจากระบบการเมืองไป เช่น คนชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งกลัวนักการเมืองแล้วสนับสนุนกองทัพเข้ามาทำรัฐประหารและเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการมีรัฐบาลจากรัฐประหารคอร์รัปชันไม่ได้หายไป ยังอยู่ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าคอร์รัปชันนั้นอยู่อย่างไร เพราะสิทธิเสรีภาพของเราได้หายไปด้วย ทั้งของสื่อมวลชน นักวิชาการจะออกมาแสดงความคิดเห็นก็ต้องระแวดระวัง
“ดังนั้นอย่าให้ความกลัวเรื่องคอร์รัปชันทำให้เราสนับสนุนกองทัพในการทำรัฐประหาร ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มา 25 ปี และตั้งโจทย์วิจัยว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร รัฐบาลไหนคอร์รัปชันมากกว่ากัน และการต่อต้านคอร์รัปชันได้ดีกว่าในระบอบการเมือบแบบใด ซึ่งผลการศึกษาพบว่าในระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม สื่อมวลชนมีเสรีภาพสูง ตามกฎหมายจะเป็นระบบที่จัดการปัญหาคอร์รัปชันได้ดีที่สุด” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฟฯ กล่าวและว่า
รัฐบาลจากการรัฐประหารจะมีอำนาจสูง และมีการกำกับความคุมสื่อ และจะไม่ค่อยมีโอกาสรู้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นจนกว่าจะพ้นอำนาจ ซึ่งเห็นชัดมากในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ดังนั้นการที่บ้านเมืองของเราไม่เคยมีรัฐสภาประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่มีระบบตราบนั้นก็ไม่มีทางจะสถาปนาสภานิติธรรมได้ อำนาจดิบเข้ามาเมื่อใด อำนาจดิบก็จะไม่ทำตามกฎหมายด้วยเหตุผลพิเศษ ทั้งเรื่องความมั่นคง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ที่หลีกเลี่ยงกฎหมายต่างๆได้หมด ดังนั้นการที่สังคมไทยเข้าสู่สถานการณ์เช่นเดียวกันนี้เป็นครั้งคราวและสม่ำเสมอ และผ่านมาในอดีตเป็นประจำจึงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้
ส่วนความน่าสนใจของรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ในขณะนี้มีข้อเสนอที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่จะให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสำแดงใบเสียภาษี 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอยากให้ข้อเสนอนี้เป็นที่ยอมรับและเข้ามาอยู่โดยอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการระบบกฎหมายของรัฐ รวมถึงอยากเสนอให้ข้าราชการ และบริษัทเอกชนทุกรายที่มีการประมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้าง หรือก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐแสดงใบกำกับภาษีด้วยเช่นกัน